ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อินโดนีเซียตัดสินใจซื้อเครื่องบินรบ Su-35 ที่ผลิตในรัสเซีย 1 ฝูง จำนวน 16 ลำ โดยจะมีการเซ็นข้อตกลงต่างๆ ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อนำเข้าประจำการแทนฝูง F-5E “ไทเกอร์ II” ที่จะต้องปลดระวางประจำการในระยะไม่นานข้างหน้า เนื่องจากใช้งานมานานกว่า 30 ปี รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย รีอามิซาร์ด รีอาคูดู (Ryamizard Ryacudu) เปิดเผยเรื่องนี้วันพุธ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อินโดนีเซียเป็นลูกค้ารายแรกในโลกของเครื่องบินรบยุค 4++ ที่ออกแบบ และผลิตโดยบริษัทซูคอย
ตามรายงานของอันตารา (Antara) สำนักข่าวทางการ กระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการกองทัพอากาศได้ตัดสินใจจัดหา Su-35 จำนวน 16 ลำ หรือ 1 ฝูง แต่การจัดซื้อจะต้องปรับแต่งเข้ากับขีดความสามารถทางการเงินของประเทศ ซึ่งหมายความถึงการทยอยจัดซื้อเป็นล็อต
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระทรวงกลาโหม กับกองทัพอากาศเลือก Su-35 ก็เนื่องจากนักบินคุ้นเคยเครื่องบินรบของซูคอยเป็นอย่างดี ปัจจุบัน อินโดนีเซียมี Su-27 ประจำการอยู่ 5 ลำ และ Su-30 อีก 11 ลำ ที่จัดซื้อเป็นหลายล็อตในช่วงหลายปีมานี้ นอกเหนือจากเครื่องบินของค่ายโซเวียต/รัสเซียแล้ว ก็ยังมี F-16C/D บล็อก 52 ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอีก 24 ลำ และอยู่ระหว่างทยอยอัปเกรดระบบต่างๆ และ T-50 “โกลเดนอีเกิล” ที่ซื้อจากเกาหลีอีกจำนวนหนึ่ง
พล.อ.รีอาคูดู ซึ่งเป็นอดีตเสนาธิการทหารบกอินโดนีเซีย เปิดเผยอีกว่า การเซ็นความตกลงเกี่ยวกับการซื้อขาย Su-35 กับรัสเซีย จะมีขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้
.
.
.
.
อันตารา ยังรายงานอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกผู้หนึ่งว่า รัสเซียพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อินโดนีเซียด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งของรัฐบาลในการซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ จากต่างประเทศ นอกจากนั้น ก็กำลังจะมีการเจรจากันเพิ่มเติมในบางเรื่อง รวมทั้งเงื่อนไขทางการด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจะเป็นการซื้อเครื่องบินพร้อมระบบอาวุธต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อให้เป็นเครื่องบินรบที่ทำได้หลายภารกิจ
ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับมูลค่าเครื่องบินทั้ง 16 ลำ ออปชันต่างๆ พร้อมทั้งระบบอาวุธ ตลอดจนเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขาย ซึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซื้อ Su-30 จำนวน 6 ลำล่าสุด รัสเซียได้ให้สินเชื่อแก่อินโดนีเซียเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
การประกาศซื้อ Su-35 ได้ทำให้การคาดการของบรรดานักวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบอาวุธในภูมิภาคนี้ยุติลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีการเจรจาอย่างกว้างขวางกับผู้ผลิตเครื่องบินรบหลายรุ่น รวมทั้งไต้ฝุ่น (Typhoon) จากอังกฤษ และ JAS-39 “กริพเพน” โดยกลุ่มซาบแห่งสวีเดนด้วย
ปัจจุบัน Su-35 เป็นเครื่องบินรบทันสมัยที่สุดของกองทัพรัสเซีย ในขณะที่ T-50 PAK FA เครื่องบินรบยุคที่ 5 เทคโนโลยี “สเตลธ์” ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล
เป็นเจ้าของฉายา “ซูเปอร์แฟล็งเคอร์” (Super Flanker) ที่กลุ่มนาโต้เรียกขาน Su-35 เริ่มอยู่ในสายตาของหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ครั้งไปร่วมงานปารีสแอร์โชว์ปี 2556 ซึ่งนักบินรัสเซียได้แสดงให้เห็นขีดความสามารถด้านต่างๆ ของเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความคล่องตัวที่สูงมากในการบินผาดแผลง เป็นที่ประทับใจผู้ที่ไปร่วมงาน
Su-35 ขึ้นบินแสดงอีกครั้งหนึ่งในงาน “มอสโกแอร์โชว์” หรือ MAKS 2015 จัดขึ้นที่เมืองซูคอฟสกี้ ชานกรุงมอสโก ในสัปดาห์ผปลายเดือนที่ผ่านมา
.
2
รัสเซีย กับจีนเจรจาซื้อขาย Su-35 มาหลายปี และยังไม่มีกำหนดเวลาเซ็นสัญญากันในขณะนี้ ซึ่ง Lenta.Ru สำนักข่าวกึ่งทางการในรัสเซีย รายงานว่า รัสเซียยื่นเงื่อนไขให้จีนซื้อถึง 48 ลำ ในขณะที่ฝ่ายจีนต่อรองลงเหลือเพียงไม่กี่ลำ ซึ่งรัสเซียมองว่าจีนต้องการเพียงซื้อไปเพื่อทำ “รีเวิร์สเอ็นจิเนีย” ซึ่งก็คือ การก๊อบปี้จากต้นแบบนั่นเอง
สื่อของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียเองไม่เคยไว้ใจจีนในเรื่องนี้ เนื่องจากมีประวัติที่เลวร้ายในการก๊อบปี้ Su-27 โดยนำไปผลิตในประเทศ อ้างเป็นของตนเอง โดยเรียกว่า J-11
ในที่สุด รัสเซียได้ยอมลดเงื่อนไขเรื่องจำนวนลงเหลือเพียง 24 ลำ แต่ผู้ที่อยู่วงในกล่าวว่า สองฝ่ายยังคงติดขัดในเรื่องเครื่องยนต์ กับระบบเอวิโอนิกต่างๆ ซึ่งจีนต้องการให้เป็นรุ่นเดียวกับที่ติดตั้งใน Su-35 ที่ประจำการในกองทัพอากาศจีนทั้งหมด แต่บริษัทผู้ผลิตวิตกว่า เทคโนโลยีก้าวหน้าเหล่านี้อาจจะถูกจีนก๊อบปี้อีกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องยนต์ไอพ่นที่ล้ำหน้า สมรรถนะสูงที่เทคโนโลยีจีนยังก้าวไปไม่ถึง
อินโดนีเซีย มีชื่ออยู่ในบัญชีลูกค้าของ Su-35 มานานแล้ว ประเทศอื่นๆ ยังรวมทั้งเวเนซุเอลา กับเวียดนามด้วย ซึ่งเคยมีผู้วิเคราะห์ว่า เวียดนามกำลังรอดูการซื้อขายของจีนกับรัสเซีย และถ้าหากรัสเซียยอมขาย Su-35 ให้จีน เวียดนามที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของเครื่องบินรัสเซียในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะหันไปหา JAS-39 Gripen แบบเดียวกับกองทัพอากาศไทย ด้วยข้อเท็จจริงทั่วไปที่ว่า สวีเดนพัฒนา “กริพเพน” ขึ้นมาเพื่อต่อกรกับเครื่องบินรัสเซียโดยเฉพาะ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า เวียดนามได้เจรจากับผู้ผลิตเครื่องบินรบยุโรปหลายค่าย รวมทั้งกลุ่มซาบแห่งสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ผลิต JAS-39 ด้วย.