MGRออนไลน์ -- กองทัพพม่าได้นำจรวดรุ่นใหม่ ที่เพิ่งได้รับมอบจากประเทศเบลารุส เพียงข้ามเดือนมานี้ ออกโชว์ในพิธีสวนสนามครบรอบ 71 ปีวันก่อตั้งกองทัพวันเมื่ออาทิตย์ เป็นจรวดนำวิถีรุ่นที่เคยมีภาพรั่วออกมาในเดือน ก.พ.ปีนี้ และ เข้าใจกันก่อนหน้านี้ว่า เป็นจรวดตอร์ (Tor) หรือ ไม่ก็จรวดบุ๊ค (Buk) ที่ซื้อจากรัสเซีย แท้จริงแล้วเป็นจรวดอีกสายหนึ่ง ที่พม่าซื้อจากเบลารุส
เฟซบุ๊กภาษาพม่าแห่งหนึ่ง ที่ชาวเน็ตเชื่อกันว่าเป็นของนายทหารระดับสูงผู้หนึ่ง ได้เปิดเผยว่ายานยนต์ล้อยาง 4x2 ที่เห็นกันในภาพที่ท่าเทียบเรือของทหารในนครย่างกุ้งเดือน ก.พ.นั้น แท้จริงเป็นยานยนต์ MZKT-6922 ที่ผลิตในสาธารณรัฐเบลารุส ไม่ใช่รุ่นที่ผลิตในรัสเซีย และ จรวดที่ซื้อก็ไม่ใช่จรวด "Tor" หรือ จรวด "Buk" หากเป็นจรวดนำวิถี (อาวุธปล่อยนำวิถี) ต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ ของอีกสายการผลิตหนึ่งในเบลารุส
เฟซบุ๊กดังกล่าวนำภาพจรวดควาดรัต (Kvadrat) ที่ติดตั้งบนยานยนต์ล้อยาง 4x2 ของกองทัพ ออกเผยแพร่ผลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในการซ้อมใหญ่ พิธีสวนสนามวันครบรอบปีที่ 71 การก่อตั้ง "ทัตมะดอ" (Tatmadaw) ซึ่งการสวนสนามจริง มีขึ้นตอนเช้าวันอาทิตย์ 27 มี.ค.นี้
จรวด Kvadrat หรือ 2K12ME แตกต่างอย่างโดดเด่นจากจรวด S-125 "เนวา/เปชอรา" (Neva/Pechora หรือ จรวด SA-3 ในสารระบบกลุ่มนาโต้) ที่พม่ามีประจำการมานาน และ เคยได้เห็นกันประจำทุกปีในพิธีสวนสนามวันครอบกองทัพ รวมทั้งปีนี้ด้วย
.
.
จรวดของเบลารุสยังแตกต่างกับจรวด KS-1A เวอร์ชั่นส่งออก ของจรวดหงฉี-12 (HQ-12) ซึ่งพม่ากลายเป็นลูกค้ารายแรกซื้อจากจีน และ เพิ่งได้รับมอบไปชุดแรก เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้นำออกโชว์ในการสวนสนามเมื่อวันอาทิตย์
เบลารุสเป็นแหล่งผลิตและใช้จรวด 2K12 (หรือ SA-6 "Gainful" ในระบบของนาโต้) อีกแหล่งหนึ่ง ผลิตมาพร้อมๆ กับสาธารณรัฐอื่นๆ นอกจากนั้นเบลารุสยังเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ล้อยาง 4x2 MZKT-6922 ด้วยเช่นกัน
จรวด 2K12 "Kvadrat" เป็นอีกสายหนึ่ง ของจรวดตระกูล "คูบ" (Kub) หรือ 2K12 "Kub" ที่พัฒนามายาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ซึ่งต่อมาแตกเป็นรุ่นย่อยหลายรุ่น แรกเริ่มเดิมทีมีแหล่งผลิตเพียงแห่งเดียวในสาธารณรัฐรัสเซีย ภายใต้สหภาพโซเวียตเมื่อก่อน เวลาต่อมาได้กระจายแหล่งผลิตออกไปยังหลายประเทศเครือม่านเหล็กด้วยกัน รวมทั้งเบลารุส และสาธารณรัฐยูเครนด้วย
.
2
3
4
5
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ Ausairpower.Net ซึ่งศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งของค่ายตะวันตกและโซเวียต ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา จรวด 2K12M4 ได้ถูกจัดเป็นจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยานกลุ่มใหม่ ภายใต้ชื่อ Buk และ ได้รหัสใหม่เป็นจรวด 3M9 (หรือ SA-11 ในระบบเรียกของนาโต้) ซึ่งต่อมามีการพัฒนาทั้งตัวจรวด ระบบเชื้อเพลิงขับเคลื่อน ระบบเรดาห์ควบคุม/นำวิถี และ เทคนิคการพุ่งเข้าใส่เป้าหมายในระยะสุดท้าย แตกออกเป็นหลายรุ่นย่อย รวมทั้งรุ่นส่งออก
แต่ในขณะเดียวกัน อีกสายหนึ่งก็ยังคงพัฒนาจรวด 2K12 ต่อไป และ กลายมาเป็น Kvadrat-M และ Kvadrat ME เป็นเวอร์ชั่นส่งออก ซึ่งก็คือรุ่นที่พม่านำออกโชว์เมื่อวันอาทิตย์
จรวดคูบ และ จรวดบุ๊ค รุ่นแรกๆ ล้วนปรากฎตัวให้โลกภายนอกได้เห็นบนฐานยิง ที่ติดตั้งบนแพล็ตฟอร์มตีนตะขาบ ก่อนจะพัฒนาขึ้นติดตั้งบนแพล็ตฟอร์มล้อยาง 4x2 เช่นเดียวกับระบบเรดาร์นำวิถี
จรวด Kvadrat รุ่นแรกๆ ออกงานครั้งแรกในสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur) เดือน ต.ค.2516 ระหว่างอียิปต์กับซีเรียฝ่ายหนึ่ง อิสราเอลอีกฝ่ายหนึ่ง คุณสมบัติโดดเด่นคือ เป็นจรวดพิสัยปานกลาง ที่มีระยะปฏิบัติการต่ำ ยิงวัตถุที่บินต่ำระดับ 50 เมตรได้ ซึ่งจรวดต่อสู้อากาศยานร่วมยุค เช่น S-75 ดวินา (Dvina) หรือ SA-2 กับ S-125 "เนวา" (Neva-Pechora) ทำไม่ได้
เมื่อมองรอบๆ บ้านในย่านนี้ พม่าเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศถัดจากเวียดนาม ที่ยังมีจรวดต่อสู้อากาศยาน S-125 ประจำการ เช่นเดียวกับจรวดตระกูลคูบ/บุ๊ค และ "ทัตมะดอ" ได้เคยนำออกแสดงในพิธีสวนสนามปี 2556-2557 รวมทั้งเมื่อวันอาทิตย์นี้ด้วย
ชาวเฟซบุ๊กคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การซื้อจรวด Kvadrat ME จากเบลารุส เป็นการเติมเต็มให้ระบบจรวดต่อสู้อากาศยานของกองทัพ เพราะว่าใช้ได้ครอบคลุมมากกว่า ทำความเร็วสูงสุดได้ถึงมัค 2 ยิงได้ทั้งเครื่องบินรบบนความสูง 30 กิโลเมตร ยานไร้คนบังคับชนิดต่างๆ จนถึงจรวดร่อนที่ "บิน" ต่ำ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของระบบป้องกันทางอากาศ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งระบบจรวด S-125 และ HQ-12 ที่ซื้อจากจีนด้วย.
.
ภาพถ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากวันซ้อมใหญ่สวนสนาม เตรียมฉลองครบรอบปีที่ 71 กองทัพ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของชาวพม่า ที่ประชาคมออนไลน์เชื่อกันว่า เป็นของนายทหารระดับสูงผู้หนึ่ง ซึ่งได้ช่วยอธิบายว่า นี่คือระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบ Kvadrat-ME จากเบลารุส ที่ "ทัตมะดอ" เตรียมนำออกโชว์วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ใช่ระบบจรวดจากรัสเซีย ตามที่เชื่อกันมาก่อนหน้านี้. |
6
7
8
9
10
11
12
13
14