รอยเตอร์ - การต่อสู้ระหว่างกองทัพทหารพม่า และกบฏชนกลุ่มน้อยชาวจีนได้รับการยกย่องจากบรรดาประชาชนชาวพม่าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และแม้แต่อดีตนักโทษการเมืองก็แสดงการสนับสนุนต่อกองทัพทหารพม่า
การต่อสู้ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ในเขตโกกัง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ใกล้พรมแดนจีน ระหว่างกองกำลังของรัฐบาล และกบฏชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA)
กบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ได้จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่านับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 2491
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนาน 49 ปี กองทัพพม่ากลายเป็นมีชื่อเสียงในทางอื้อฉาวจากประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ตามแนวเขา และการปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองต่างๆ
แม้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้ามาบริหารประเทศแทนในปี 2554 แต่กองทัพยังคงมีสิทธิยับยั้งในทางการเมือง ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกเอกสารรายงานถึงการละเมิดต่างๆ ของกองทัพ ที่รวมทั้ง ประเด็นการข่มขืน และการข่มเหงทารุณในพื้นที่ต่างๆ ที่กองทัพเข้าไปต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ
แต่นับตั้งแต่เกิดการปะทะครั้งล่าสุด ความไม่ไว้วางใจต่อกองทัพก็ถูกมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ที่หลายคนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ (ทัตมะดอ)
ขณะเดียวกัน การปะทะกันในเขตโกกังก็ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยต่อเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางเหนือของพม่า
“นี่เป็นหน้าที่ของทัตมะดอ ทุกคนพูดแบบนี้ในประเทศของเรา ผมเห็นด้วยต่อสิ่งนี้” ซากานา นักแสดงตลกที่เคยถูกควบคุมตัวระหว่างการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร กล่าวต่อรอยเตอร์
ทหารของรัฐบาลหลายสิบนายเสียชีวิตในการต่อสู้ และซากานาได้เดินทางไปเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บ และโพสต์รูปถ่ายลงบนเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่เขายังคงยืนยันเรียกร้องให้กองทัพเจรจาเพื่อยุติการต่อสู้
กลุ่ม MNDAA ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กองโจรแข็งแกร่งที่จีนให้การสนับสนุน และต่อสู้กับรัฐบาลก่อนกลุ่มแตกในปี 2532
กลุ่มกบฏถูกมองว่า มีการยั่วยุปลุกปั่นให้ต่อสู้กับรัฐบาลโดยมีชาวจีนให้การสนับสนุน แต่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
กองทัพทหารพม่าตอบสนองเสียงสนับสนุนของประชาชนด้วยการเปิดกว้างมากขึ้น โดยสื่อของรัฐรายงานสถานการณ์ล่าสุดทุกวัน และเชิญผู้สื่อข่าวเข้าฟังสรุป ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยาก
“ในกรณีของโกกัง ทัตมะดอดูเหมือนกำลังเล่นบทบาทเป็นผู้พิทักษ์สหภาพ และอำนาจอธิปไตยแห่งชาติพม่า แต่บทบาทนี้ของกองทัพกลับไม่ชัดเจนในเหตุขัดแย้งอื่นๆ” นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าว โดยอ้างถึงการปะทะในส่วนอื่นๆ ของประเทศกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ที่กองทัพมักถูกมองว่าต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง.