MGR ออนไลน์ -- สหรัฐได้เปิดเผยให้เห็นอาวุธชิ้นใหม่ล่าสุด โดยนำออกร่วมปฏิบัติการในซีเรีย ตอนเช้าตรู่วันเสาร์ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาในท้องถิ่น ซึ่งหลายฝ่ายกล่าวว่า เป็นอาวุธที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงในทวิตเตอร์ ก่อนการปฏิบัติการโจมตี 3 เป้าหมายในซีเรียเพียง 2 วันว่า "ดี ใหม่และสมาร์ท" -- เป็นครั้งแรกที่กองทัพอากาศสหรัฐ นำออกใช้ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับการสู้รบจริง ตั้งแต่นำเข้าประจำการ ในเดือน เม.ย. 2557 หรือ 4 ปีที่แล้ว
นั่นคืออาวุธปล่อยนำวิถี ที่มีชื่อเต็มว่า AGM-158B Joint Air to Surface Stand-off Missile- Extended Range หรือ JASSM-ER โดยอักษรสองตัวท้าย บอกความหมายว่า เป็น JASSM รุ่นที่ปฏิบัติการได้ไกลขึ้น -- ไกลกว่ารุ่นแรก คือ AGM-158A ที่ใช้มาก่อนกัน 7 ปี คือเมื่อปี 2550
ต่อแต่นี้ไปจะเรียกทั้งหมดว่า "จรวดร่อน" เพื่อให้สั้นลง และ ง่ายขึ้น แม้อาวุธเหล่านี้จะไม่ใช่ "จรวด" หรือ Rocket ไม่มีลักษณะปฏิบัติการใดๆ ที่คล้ายกับ "จรวด" ก็ตาม นอกจากนั้นก็ยังติดปีกที่ทำให้สามารถ "ร่อน" ขึ้นหรือลงได้ ตามสภาพความสูงต่ำของพื้นที่เบื้องล่าง หรือ ร่อนในระยะต่ำมาก เลียดระดับน้ำทะเลเพื่อหลบเลี่ยงการยิงโจมตีจากปลายทาง หรือ สามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ ด้วยการนำวิถี ขณะแล่นไปสู่เป้าหมาย ที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยหรือกว่า 1,000 กิโลเมตร
การใช้อาวุธปล่อยฯ AGM-158B เมื่อวันเสาร์นี้ เทียบกันได้กับอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2558 ซึ่งกองทัพอากาศรัสเซีย ปล่อยจรวดร่อน Kh-101 จำนวน 16 ลูก จากเครื่องบิน Tu-160 จำนวน 2 ลำ โจมตีเป้าหมายกลุ่มก่อการร้ายไอซิสในซีเรีย กับอีกครั้งหนึ่ง ที่ส่ง "หงส์ขาว" อีกหนึ่งลำ บินอ้อมทวีปยุโรป จากฐานทัพในคาบสมุทรเมอร์มังสค์ ทางตอนเหนือ เข้าไปปฏิบัติการโจมตีจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัสเซียเปิดตัว "จรวดร่อน" นำวิถีระยะไกล ที่มีระยะปฏิบัติการถึง 2,500 กิโลเมตร ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งในระบบของรัสเซียเป็น Kh-55
เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ที่มีการใช้จรวดร่อน Kh-55 กับเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ของค่ายนั้น
สรุปโดยรวมก็คือ AGM-158B ที่เข้าร่วมในการโจมตีเป้าหมายอาวุธเคมีในซีเรียครั้งล่าสุด เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น ที่ "ปล่อย" จากระยะไกล นอกระยะปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม (Stand-off) -- เช่นเดียวกันกับจรวดร่อน Kh-55 รัสเซีย -- ทำให้อากาศยานที่นำไปใช้ปลอดภัยจากการถูกโจมตีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในกรณีล่าสุดนี้ คือเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลแบบ B-1B จำนวน 2 ลำ จากฐานทัพในประเทศกาตาร์ -- ทั้งนี้เป็นข้อมูล จากการแถลงข่าวในกรุงวอชิงตันดีซี โดย พล.ท.เคนเน็ธ เอฟ แม็คเคนซี จูเนียร์ ( Gen Kenneth F McKenzie Jr) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการร่วม สำนักงานคณะเสนาธิการร่วม กระทรวงกลาโหมสหรัฐ หลังการโจมตีผ่านไปแล้วกว่า 10 ชั่วโมง
จรวดร่อนรุ่นล่าของสหรัฐ มีระยะปฏิบัติการใกล้กว่าจรวด Kh-55 ของรัสเซีย และ ช้ากว่าเล็กน้อย แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็คือ การออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ (Stealth) ที่ทำให้ JASSM สามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ฝ่ายตรงข้ามได้
.
และถ้าหากติดตามอย่างละเอียด การแถลงของ พล.อ.เชรเก รุดสคอย (Sergei Rudskoy) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ คณะเสนาธิการ กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ที่จัดขึ้นในตอนสายวันเสาร์ (ตามเวลาดามัสกัส/มอสโก) ก่อนหน้าที่จะมีการแถลงโดยเพนตากอนเกือบ 10 ชั่วโมง -- ก็อาจจะเห็นประโยชน์ของระบบสเตลธ์ ได้อย่างชัดเจน คือ ระบบของรัสเซี่ย อย่างน้อยที่สุดระบบที่ใช้อยู่ในซีเรียปัจจุบัน -- ไม่สามารถตรวจจับได้
ฝ่ายทหารรัสเซียกล่าวว่า ระบบป้องกันทางอากาศ ที่ฐานทัพคเมห์มีม (khmeimim) และ ที่ฐานทัพเรือตาร์ตุส (Tartus) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย (อันเป็นที่ตั้งของระบบ S-400) สามารถตรวจจับ และ กุมสภาพปฏิบัติการ ทั้งทางเรือและทางอากาศ ของสหรัฐกับอังกฤษ ได้ทั้งหมด (แต่ระบุว่า ไม่พบการปฏิบัติการโดยเครื่องบินรบของฝรั่งเศส)
กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ยังระบุด้วยว่าปฏิบัติการโดย "สามพันธมิตร" สหรัฐ อังกฤษกับฝรั่งเศส ตอนเช้าตรู่วันเสาร์ (ตามเวลาในท้องถิ่น) มีรายงานเกี่ยวกับการใช้ ทั้งเครื่องบินทื้งระเบิด B-1B F-15 และ F-16 ของสหรัฐ และ เครื่องบิน GR4 ทอร์นาโด (Tornado) ของอังกฤษ (ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมทั้งระบุชื่อ เรือรบสหรัฐในทะเลหลวง กับอีก 1 ลำในทะเลแดงด้วย
การแถลงของฝ่ายรัสเซีย มีขึ้นในชั่วโมงที่สื่อตะวันตก ยังคงใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวทางทหารต่างๆ ซึ่งระบุว่าการโจมตีครั้งนี้ ฝ่ายพันธมิตรใช้อาวุธปล่อยชนิดต่างๆ ทั้งของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศสรวมกัน 110-120 ลูก ขณะ พล.อ.รุดสคอย เปิดเผยว่า อาวุธที่ตรวจจับได้ทั้งหมด มีจำนวน 103 ลูก -- คลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย กับจำนวน 105 ลูก ที่ พล.อ.แม็คเคนซี จูเนียร์ แถลงในอีกกว่า 10 ชั่วโมงถัดมา
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การโจมตีครั้งนี้ อาวุธของสามชาติพันธมิตร ไม่ได้เฉียดเข้าใกล้ที่ตั้งของรัสเซียทั้งสองแห่ง ที่อยู่สูงขึ้นไปจากกรุงดามัสกัส กับเมืองฮอมส์ -- สหรัฐ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส แถลงเรื่องนี้อย่างขัดเจนทั้งก่อนและหลังการโจมตี -- เอกอัครรัฐทูตสหรัฐ ประจำกรุงมอสโก เขียนในทวิตเตอร์ในตอนสายของวันเสาร์ว่า ทั้งหมดเป็นการโจมตีที่ตั้งอาวุธเคมีของรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสสาด ไม่ใช่การโจมตีผู้นำซีเรีย ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ เอกอัครรัฐทูตผู้นี้ยังระบุอีกว่า สหรัฐแจ้งต่อฝ่ายรัสเซียทุกครั้ง ก่อนการโจมตีใดๆ
ส่วนเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเปิดเผย ภายหลังการโจมตีผ่านไปว่า ระหว่างนั้นฝรั่งเศสได้ติดต่อ ขอให้ฝ่ายรัสเซีย "อย่ายกหู" ซึงหมายถึง ขอร้องให้คงช่องทางการสื่อสารระหว่างกันไว้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดใดๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้
.
ฝ่ายการทูตมีช่องทางสื่่อสารกันทางการทูต และ พล.อ.แม็คเคนซี จูเนียร์ ระบุชัดเจนระหว่างการแถลงข่าวในกรุงวอชิงตันดีซีว่า ระหว่างการโจมตี ไม่พบมีการปฏิบัติการของ ระบบป้องกันทางอากาศฝ่ายรัสเซียในซีเรีย แต่อย่างไร
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ พล.อ.รุดสคอยนำออกแถลงในกรุงมอสโกนั้น ก็ไม่มีการเปิดเผยเกี่ยวกับว่า ข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวถึง ได้จากการตรวจจับด้วยวิธีการใด แต่สามารถพูดได้ว่า ข้อมูลเหล่านั้น ถูกต้องกว่า 90% ทีเดียว หากไม่มีการผิดพลาดสำคัญ เกี่ยวกับจรวด JASSM-ER ที่ฝ่ายรัสเซียระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-1B สหรัฐ บินอยู่ใกล้ฐานทัพที่อัล-ตานัฟ (al-Tanft) ทางตอนใต้ของซีเรีย และ "ทิ้งระเบิด GBU-38" หรือ ระเบิด JDAM (Joint Direct Attack Munition) ชนิดนำวิถี ขณะที่ F-16 ใช้อาวุธนำวิถีแบบอากาศสู่พื้น
"As evident by the available data, 103 cruise missiles have been launched, including Tomahawk naval-based missiles as well as GBU-38 guided air bombs fired from the B-1B; the F-15 and F-16 aircraft launched air-to-surface missiles. The B-1B strategic bombers approached the facilities over the Syrian territory near al-Tanf illegally seized by the USA." -- นี่คือข้อความทั้งย่อหน้า ในเอกสารแถลงข่าวฉบับภาษาอังกฤษ ที่เกี่ยวกับ B-1B และ จรวดร่อนล่องหน JASSM-ER -- เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทร่วงกลาโหมรัสเซีย
การบินเข้าใกล้ฐานทัพอากาศ ที่สหรัฐยึดครองในภาคใต้ซีเรียนั้น อาจจะเป็นเรื่่องจริง เพราะว่า B-1B ทั้งสองลำ บินขึ้นจากฐานทัพในประเทศกาตาร์ ที่อยู่ใต้ลงไปไม่ไกลนัก เพียงแต่ พล.อ.แม็คเคนซี จูเนียร์ ของฝ่ายสหรัฐไม่ได้พูดถึง -- แต่เร่ืองราวเกี่ยวกับระเบิดนำวิถี JDAM ของฝ่ายรัสเซีย นับเป็นความคลาดเคลื่อนสำคัญ ไม่ว่าจะเกิดจากข้อมูลผิดพลาด หรือ การแถลงผิดพลาด หรือ ทำให้ผิดพลาดอย่างมีเจตนา ด้วยจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างก็ตาม
แต่ถ้าหากไม่นับว่า เป็นความผิดพลาดประการหลังสุดแล้ว เนื้อความภาษาอังกฤษ ในย่อหน้าข้างบน อาจบ่งชี้ว่า ระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียในซีเรีย ไม่สามารถตรวจจับ ปฏิบัติการของจรวด "ล่องหน" JASSM-ER ได้ -- รวมทั้งไม่สามารถตรวจพบ จรวดร่อนสตอร์มชาโดว์ (Storm Shadow) ของอังกฤษ และ จรวดร่อน SCALP ของฝรั่งเศส ที่ออกงานนี้่ด้วย ซึ่งสองชนิดหลังนี้ เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีระยะไกล ทันสมัยมากที่สุดของค่ายยุโรปในปัจจุบัน และ ใช้มาก่อน AGM-158A/B
ที่สำคัญก็คือ ทั้ง Storm Shadow กับ SCALP แท้จริงแล้วเป็นอันเดียวกัน ใช้เทคโนโลยี "สเตลธ์" เหมือนกันกับ JASSM จากการผลิตร่วมกันและใช้ร่วมกัน ระหว่างกองทัพอากาศ/กองทัพเรืออังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี มีการผลิตออกมาหลายรุ่น ขนาดโดยรวมใหญ่กว่า AGM-158 เล็กน้อย ของฝรั่งเศสใช้เวอร์ชั่น ที่มีขนาดใหญ่กว่าของอังกฤษ มีระยะปฏิบัติการใกล้เคียงกับ JASSM-ER คือ 1,000+ กม.
.
ตามข้อมูลที่แถลงโดย พล.ท.แม็คเคนซี จูเนียร์ -- กองทัพอากาศอังกฤษปล่อยฯ สตอร์มชาโดว์ทั้งหมด 8 ลูก ในการร่วมโจมตี อาคารกับบังเกอร์เก็บอาวุธเคมีของซีเรีย ที่ฮิม ชินชาร์ (Him Shinshar) เมืองเล็กๆ ทางทิศตะวันตกของเมืองฮอมส์-- ขณะที่สื่ออังกฤษรายงานว่า ทั้งหมดปล่อยจากเครื่องบินรบ GR4 "ทอร์นาโด" (Tornado) จำนวน 4 ลำที่ปฏิบัติการจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีเครื่องบินขับไล่แบบไต้ฝุ่น (Eurofighter Typhoon) คุ้มกัน -- ส่วนฝรั่งเศสปล่อย SCALP จากเครื่องบินรบราฟาล (Rafale) มี Mirage-2000 คุ้มกัน แม้จะปฏิบัติการไกลจากชายฝั่งซีเรีย กว่า 300 กม.ก็ตาม
การโจมตีแหล่งเก็บอาวุธเคมีทั้ง 2 แห่ง ที่เมืองฮอมส์นั้น ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีทั้งหมด 22 ลูก รวมทั้งจรวดโทมาฮอว์คจากเรือรบสหรัฐ 9 ลูก เรือรบอังกฤษอีก 3 ลูก กับ อาวุธปล่อยฯ มาตรฐาน ที่ยิงจากระบบท่อ บนเรือฟริเกตอังกฤษ ที่เรียกว่า scout missile อีก 2 ลูก
อาวุธปล่อยของอังกฤษกับฝรั่งเศส เคยถูกนำออกใช้ ตั้งแต่ยุทธการทะเลทรายคูเวต อิรัก จนถึงยุทธการขับไล่ รัฐบาล พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย จนถึงสงครามปราบกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถาน และ มาถึงการโจมตีซีเรียหลายระลอก ระหว่างเวลาตีสามเศษๆ จนถึงตีห้าเศษ วันเสาร์ 14 เม.ย. ตามเวลาในกรุงดามัสกัส -- โดยร่วมกับจรวดโทมาฮอร์ค ที่ยิงจากเรือพิฆาต 2 ลำในทะเลแดงกับทะเลอาหรับ และจากเรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือดำน้ำ (ชั้นเวอร์จิเนีย) อีก 1 ลำ กับ เรือฟริเกตของอังกฤษ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เพนตากอน ให้รายละเอียดว่า JASSM-ER จำนวน 19 ลูก ถูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-1B "แลนเซอร์" (Lancer) จำนวน 2 ลำ ที่สังกัดฝูงบินทิ้งระเบิดส่วนหน้า 34 หรือ 34th Expeditionary Bomb Squadron ประจำการฐานทัพอัล อูดีด (Al Udeid Air Base) ในกาตาร์ โดยมีเป้าหมาย เป็นอาคารกลุ่มจำนวน 3 หลัง ในหุบเขาย่านชานกรุงดามัสกัส ที่สหรัฐกล่าวหาว่า เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาวุธเคมี ของซีเรีย
ศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าว เป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุด ในการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะใช้จรวด JASSM ถึง 19 ลูก ก็ยังต้องใช้จรวดโทมาฮอว์คอีกกว่า 50 ลูก จนกระทั่งอาคารทั้ง 3 หลัง พังทลายราบลง กลายเป็นซากหิน ปูน กองพะเนิน
.
#BREAKING - First footage of destroyed Barzah Scientific Research Facility. No protective clothing was necessary to visit the site as no chemical weapons are manufactured, stored or used in the facility. Destroyed today by #US, #UK and #French cruise missile strikes. pic.twitter.com/qPAwGEM5pv
— SURA (@AlSuraEnglish) April 14, 2018
Three main buildings were #destroyed as a result of the #strike at #Barzah #SSRC Research and Development Center #Damascus #Syria #Syriastrikes @FoxNews pic.twitter.com/roSnz4WVg8
— imagesatintl (@imagesatint) April 14, 2018
ไมว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นอะไรก็ตาม ในข้อเท็จจริง ภาพที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวตะวันตกในวันอาทิตย์นี้ แสดงให้เห็นการถูกทำลายอย่างราบคาบ กลายเป็นซากอิฐซากปูนกองพะเนิน ภาพที่แพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ ตั้งแต่เช้าตรู่วันเสาร์ ทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง แสดงให้เห็นชาวซีเรียจำนวนหนึ่ง ไปยืนดูซากหักพังนี้ บ้างก็เดินผ่านไปมา โดยไม่มีการสวมหน้ากากกันสารพิษแต่อย่างไรทั้งสิ้น ไร้ร่องรอยสารเคมีพิษร้ายแรง ที่สหรัฐกล่าวหา
สหรัฐกล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งล่าสุดนี้ ใช้จรวดโทมาฮอว์คทั้งหมด 66 ลูก ในการโจมทั้ง 3 เป้าหมาย คือ แหล่งที่สหรัฐกล่าวหาว่า เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาอาวุธเคมีในกรุงดามัสกัสในภาพข้างบน กับ คลังเก็บ และ บังเกอร์ ที่ใช้เก็บอาวุธเคมี สองแห่งใกล้กับเมืองฮอมส์ (Homs) ประมาณ 160 กม.ทางทิศเหนือของเมืองหลวง -- ดังที่เห็นในภาพข้างล่าง
.
จรวดโทมาฮอว์คเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีระยะไกล ที่โลกรู้จักดีที่สุด มีประวัติการใช้งานมานาน กองทัพเรือสหรัฐ นำออกใช้ตั้งแต่สงครามอ่าวครั้งแรกในปี 2534 จนถึงสงครามในเยเมน ลิเบีย อัฟกานิสถาน
ตามข้อมูลของบริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) ซึ่งเป็นผู้ผลิต นับตั้งแต่เข้าประจำการปี 2526 เป็นต้นมา มีการใช้งานโทมาฮอว์ครุ่นต่างๆ ในสถานการณ์สู้รบ ไปทั้งหมด 2,500 ลูก รวมทั้ง 59 ลูก ที่ใช้ยิงโจมตีสนามบินแห่งหนึ่งในซีเรีย เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ปีที่แล้ว ที่สหรัฐกล่าวหาว่า ใช้เป็นที่เก็บอาวุธเคมี เช่นเดียวกัน -- แต่ภาพที่เผยแพร่หลังการโจมตี ไม่มีภาพใดที่แสดงร่องรอยของอาวุธเคมีให้เห็น
จรวดร่อน JASSM-ER มีระยะปฏิบัติการกว่า 1,000 กิโลเมตรขึ้นไป เทียบกับ 300+ กม. สำหรับ JASSM รุ่นแรก -- รุ่น ER มีราคา 1.359 ล้านดอลลาร์ต่อระบบ เทียบกับ 850,000 ดอลลาร์ สำหรับ AGM-158A และ ราคาต่ำกว่ากันมากหากเทียบกับจรวดโทมาฮอว์ค Block IV ที่พัฒนาล่าสุด ที่มีค่าตัวกว่า 1.6 ล้านดอลลาร์ต่อชุด
.
.
รุ่น A ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต รุ่น B ติดเครื่องยนต์แบบเทอร์โบแฟน ทำให้ไปได้ไกลขึ้นกว่าสองเท่า และ บรรจุเชื้อเพลิงในลำตัวได้มากขึ้น ทั้งสองรุ่นติดหัวรบแบบทะลุทะลวง ก่อนระเบิดเป็นสะเก็ดด้วยดินระเบิดแรงสูงหนัก 1,000 ปอนด์ หรือ 432 กก. -- ปฏิบัติการโดยตั้งโปรแกรมล่วงหน้า ในการขับเคลื่อน และนำร่องอัตโนมัติด้วยตัวเอง (Inertial Navigation System) และ สามารถใช้ระบบ GPS ช่วย เพื่อเติมข้อมูลผ่านดาต้าลิงค์ ในการเปลี่ยนวิถี หรือ เปลี่ยนเส้นทางการ "ร่อน" ได้ทุกเมื่อ ก่อนจะพุ่งชนเป้าหมายในระยะสุดท้าย ซ่ึงจะนำวิถีใหม่ด้วยระบบอินฟราเรด ที่ติดตั้งในตัว
ทั้งสองรุ่นยาว 4.27 เมตรเท่ากัน สูงเท่ากัน รวมทั้งมีส่วนปีกที่พับเก็บไว้ และ กางออกได้กว้าง 2.4 เมตรเท่ากัน -- แม้จะมีความเร็วไม่ถึงระดับซูเปอร์โซนิก เหมือนอาวุธปล่อยโจมตียุคใหม่อีกหลายรุ่น แต่คุณสมบัติ "ล่องหน" เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญยิ่ง
.
.
.
ล็อกฮีด มาร์ติน กำลังพัฒนา JASSM ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้สามารถติดตั้ง บนเครื่องบินรบรุ่นอื่นๆได้ รวมทั้ง B-2 B-52 F-15E F-16 F/A-18 และ F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 ถึงแม้ว่าจะยังมีปัญหาให้ต้องแก้อีกอย่างมากมายก็ตาม
บริษัทอาวุธขนาดใหญ่นี้ ยังพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีออกมาอีกรุ่นหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า AGM-158C จากพื้นฐานของ AGM-158B ทั้งหมด เพียงแต่ขนาดใหญ่ขึ้น ระยะปฏิบัติการไกลกว่า และ มีจุดประสงค์ใช้ยิงทำลายเรือรบของฝ่ายอริโดยเฉพาะ เป็นการผลิตภายใต้โครงการ Long-Ranged Anti-Ship Missile) ซึ่งทำให้อาวุธรุ่นนี้มีชื่อเป็น AGM-158C LRASM
การทดลองกับ B-1B ได้ผลสมบูรณ์เมื่อปลายปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมมีแผนการจะนำประจำการกองทัพอากาศในปี 2561 นี้.