xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’จะเดินหน้าไปไกลแค่ไหนใน‘สงครามซีเรีย’?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>ภาพที่เผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ แสดงให้เห็นเรือรบ ยูเอสเอส มอนเทอเรย์ ของสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธ “โทมาฮอว์ก” แบบโจมตีภาคพื้นดินเมื่อช่วงก่อนรุ่งสางวันเสาร์ที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้เล่นงานรัฐบาลซีเรียที่ถูกฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมี </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

How far will Trump go in Syria?
By Asia Times staff
15/04/2018

สหรัฐฯอวดอ้างว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธของตนและพันธมิตรเมื่อคืนวันศุกร์ (13 เม.ย.) ที่ผ่านมา ได้ทำให้สมรรถนะทางด้านอาวุธเคมีของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด อยู่ในสภาพเป็นอัมพาต อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอเมริกันกำลังจะเข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับการสู้รบขัดแย้งในประเทศทางตะวันออกกลางประเทศนี้ เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำพาอเมริกาเข้าพัวพันเกี่ยวข้องกับสงครามในซีเรียอย่างล้ำลึกยิ่งขึ้นอีก จากการแสดงบทบาทนำในการโจมตีด้วยขีปนาวุธของนานาชาติเมื่อคืนวันศุกร์ (13 เม.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กรณีที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ใช้อาวุธเคมีในการสู้รบขัดแย้งอันโหดเหี้ยมและยืดเยื้อนี้

ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่าทรัมป์ต้องการที่จะไปไกลสักแค่ไหนในการเพิ่มขยายบทบาทของอเมริกาในสงครามกลางเมืองของชาติในตะวันออกกลางแห่งนี้ แต่จากเสียงตอบรับในเชิงบวกต่อการโจมตีในหมู่พวกคอมเมนเตเตอร์ภายในประเทศ บวกกับการพิจารณาถึงสภาพอันลำบากยุ่งยากทางการเมืองของตัวทรัมป์เองในการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งกำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้แล้ว ต่างก็บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการรณรงค์อย่างดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น

คณะบริหารทรัมป์แถลงว่า การโจมตีของตนคราวนี้ ซึ่งกระทำโดยร่วมมือประสานงานกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรียใช้อาวุธเคมี ซึ่งรวมถึงกรณีโจมตีต้องสงสัยครั้งล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 7 เมษายนในเมืองดูมา (Douma) ซึ่งสังหารผลาญชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากอาจจะถึง 75 คนทีเดียว

พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกอ้างว่า การโจมตีโดยใช้ขีปนาวุธเป็นจำนวน 105 ลูกครั้งนี้ ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือ ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในเขตบาร์เซห์ (Barzeh) ของเมืองหลวงดามัสกัส และอาคารสถานที่อีก 2 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองฮอมส์ (Homs) ได้ทำให้สมรรถนะทางด้านอาวุธเคมีของอัสซาดกลายเป็นอัมพาต ตัวทรัมป์เองทวิตด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า “ภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้น” (Mission Accomplished) ภายหลังการโจมตีด้วยขีปนาวุธยุติลง

“เราเชื่อว่าจากการโจมตีของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถล่มที่บาร์เซห์ เราได้โจมตีถูกหัวใจของโครงการอาวุธเคมีของฝ่ายซีเรียทีเดียว” พลโท เคนเนธ แมคเคนซี (Lieutenant General Kenneth McKenzie) ผู้อำนวยการของคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ (Director of the Joint Staff) แถลงที่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมอเมริกัน) ภายหลังการโจมตี ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์

แต่แมคเคนซีก็แสดงการรับทราบว่าส่วนประกอบต่างๆ ของโครงการนี้ยังคงอยู่ และเขาไม่อาจรับประกันได้ว่าซีเรียจะไม่สามารถดำเนินการโจมตีด้วยอาวุธเคมีอีกในอนาคตข้างหน้า รายงานข่าวของสำนักต่างๆ ระบุ

พวกเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของคณะบริหารทรัมป์บอกว่า การโจมตีคราวนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้การที่อัสซาดใช้อาวุธเคมีที่เป็นสารเคมีจำพวกคลอรีน และบางทีอาจถึงขนาดมีการใช้สารซาริน (sarin) ซึ่งเป็นสารทำลายประสาทที่มีพิษถึงตายร้ายแรงยิ่งและถูกระบุห้ามพัฒนาห้ามใช้เอาไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศหลายต่อหลายฉบับ

“ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากทีเดียวบ่งชี้ว่าระบอบปกครองซีเรียได้ใช้อาวุธเคมี” นิกกี้ เฮลีย์ (Nikki Haley) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติบอกต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเมื่อวันเสาร์ (14 เม.ย.) ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสำนักต่างๆ

การใช้สารซารินนั้นเคยเป็นตัวจุดชนวนให้ทรัมป์ตัดสินใจเปิดการโจมตีฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งของซีเรียเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่การโจมตีด้วยซารินต่อประชากรที่เป็นพลเรือนเมื่อปี 2013 ก็เกือบทำให้ประธานาธิบดีอเมริกันเวลานั้น คือ บารัค โอบามา ออกคำสั่งโจมตีซีเรียมาแล้ว

สำหรับสารคลอรีนได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในสงครามกลางเมืองซีเรียยิ่งกว่าสารซาริน โดยที่ไม่ได้ถูกตอบโต้เล่นงานจากสหรัฐฯ, อังกฤษ, หรือฝรั่งเศส ทั้งนี้สารคลอรีนก็ถือว่าหาได้ง่ายกว่าและนำมาใช้เป็นอาวุธได้สะดวกกว่าซารินอยู่แล้ว รอยเตอร์รายงานโดยอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายราย

รายงานข่าวบอกด้วยว่า เนื่องจากคุณสมบัติเช่นนี้ของคลอรีน จึงทำให้ยากลำบากกว่ามากที่จะกำจัดอาวุธเคมีประเภทนี้ที่เก็บไว้ในสต็อกหรือทำให้มันเสื่อมสภาพ ขณะที่ด้านรัฐบาลซีเรียเองได้ปฏิเสธเสียงแข็งเสมอมาว่าตนไม่ได้ใช้อาวุธเคมี

เวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนทั้งในเรื่องที่ว่าหากมีการโจมตีด้วยอาวุธเคมีอีกครั้งโดยเป็นการใช้แก๊สคลอรีนแล้ว จะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระตุ้นให้สหรัฐฯเปิดการโจมตีเพิ่มขึ้นไหม หรือการถล่มเมื่อวันเสาร์ (14 เม.ย.) เป็นเพียงระยะแรกเฟสแรกของการรณรงค์ระยะยาวนานกว่านี้เพื่อต่อต้านระบอบปกครองอัสซาดใช่หรือเปล่า

คณะบริหารทรัมป์ได้แสดงการข่มขู่ในทิศทางอย่างหลังนี้เมื่อวันเสาร์ (14 เม.ย.) ที่ผ่านมา โดยที่รัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส กล่าวว่าก่อนที่อเมริกาทำการโจมตีซีเรียคราวนี้ เขาเพียงแค่แน่ใจว่ามีข่าวกรองซึ่งยืนยันว่ากองกำลังของอัสซัดได้ใช้แก๊สคลอรีนเมื่อวันที่ 7 เมษายน

ขณะที่รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ก็พูดว่า ทรัมป์สั่งให้โจมตีคราวนี้โดยรองรับด้วยข่าวกรองสหรัฐฯที่ระบุว่า “ในขั้นต่ำสุดแล้วมีการใช้อาวุธเคมีที่เป็นสารคลอรีน” พร้อมกับชี้ว่าคณะผู้สอบสวนยังอาจจะพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้สารซารินด้วย

ยังมีเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งในคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งบรรยายสรุปให้พวกผู้สื่อข่าวฟัง กล่าวว่าสหรัฐฯนั้นประเมินว่ามีการใช้สารซารินด้วยในการโจมตีเมื่อ 7 เมษายน แต่ก็ชี้ว่าข้อมูลข่าวสารของสหรัฐฯในเรื่องซารินนี้ เป็นการวิเคราะห์รายงานข่าวต่างๆ ที่มาจากสื่อมวลชนตลอดจนจากแหล่งข้อมูลสาธารณะแหล่งอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับข่าวกรองสหรัฐฯ สำนักข่าวหลายแห่งรายงานเอาไว้เช่นนี้

ทรัมป์นั้นบ่งบอกว่าเขาคิดว่ามีการใช้สารซาริน เมื่อตอนที่เขาโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ในวันพุธ (11 เมงย.) ว่า ขีปนาวุธของสหรัฐฯ “กำลังจะมาแล้ว” และกล่าวหาอัสซาดว่าเป็น “สัตว์นักฆ่าที่ใช้แก๊สเป็นอาวุธ” (Gas Killing Animal)

ทั้งสหรัฐฯ, อังกฤษ, และฝรั่งเศส ต่างเข้าเกี่ยวข้องอย่างล้ำลึกอยู่แล้วในสงครามซึ่งบดบี้กันอย่างดุเดือดโหดเหี้ยมที่ซีเรียนี้ ทั้งด้วยการติดอาวุธให้พวกกบฏ, การถล่มทิ้งระเบิดใส่พวกนักรบรัฐอิสลาม, และการส่งกองทหารเข้าไปในสนามเพื่อสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้

แต่เท่าที่ผ่านโดยมากแล้วพวกเขายังพยายามหลีกเลี่ยงไม่พุ่งเป้าเล่นงานรัฐบาลอัสซาดซึ่งมีรัสเซียหนุนหลังอยู่ โดยดูเหมือนต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสู้รบขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างบานปลายใหญ่โต ซีเรียกับพวกพันธมิตรของเขากล่าวว่าพวกเขามองการโจมตีของอเมริกาและพันธมิตรครั้งนี้ว่าเป็นการสำแดงกำลังแบบครั้งเดียวจบ ซึ่งไม่น่าที่จะสั่นคลอนบ่อนทำลายฐานะของอัสซาดลงไปได้

เรื่องอาจจะเป็นเช่นนี้หรืออาจจะไม่เป็นก็ได้ทั้งนั้น องค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemical Weapons หรือ OPCW) ของยูเอ็นแถลงเอาไว้ในรายงานการไต่สวนฉบับหนึ่งว่า รัฐบาลซีเรียได้ใช้แก๊สซารินในการโจมตีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2017 และได้ใช้แก๊สคลอรีนเป็นอาวุธในอีกหลายๆ โอกาส

การไต่สวนนี้ยุติลงในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากรัสเซียขัดขวางความพยายามถึง 3 ครั้งของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่จะต่ออายุมอบหมายให้หน่วยงานนี้ทำงานสอบสวนของตนต่อไปอีก โดยที่มอสโกบอกว่าการสืบสวนสอบสวนร่วมของยูเอ็นและ OPCW นี้มีความบกพร่องผิดพลาดอย่างน่าสงสัยข้องใจ

เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ (13 เม.ย.) ว่า การเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารใดๆ ของคณะบริหารทรัมป์ จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่การตอบโต้การโจมตีครั้งล่าสุดที่เมืองดูมาเท่านั้น

“สหรัฐฯประมาณการว่าอัสซาดได้ใช้อาวุธเคมีในสงครามซีเรียมาอย่างน้อยที่สุด 50 ครั้งแล้ว ขณะที่การประมาณการที่กระทำโดยสาธารณชนนั้นให้ตัวเลขสูงถึง 200 ครั้งด้วยซ้ำ” เธอกล่าว ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสำนักต่างๆ

เธอพูดเป็นนัยๆ ในวันเสาร์ (14 เม.ย.) ว่าสหรัฐฯจะเปิดการโจมตีครั้งใหม่ๆ อีก ถ้าหากอัสซาดยังขืนใช้อาวุธเคมีต่อไป ทว่าก็หยุดแค่นั้นไม่ได้กล่าวเจาะจงออกมาว่าต้องมีการใช้สารเคมีชนิดไหนจึงจะทำให้เกิดการโจมตีครั้งใหม่ขึ้นมาแน่ๆ

“ถ้าระบอบปกครองซีเรียใช้แก๊สพิษเช่นนี้อีก สหรัฐฯก็จะล็อกเป้าและทำการโจมตี เมื่อท่านประธานาธิบดีของเราลากเส้นสีแดงขึ้นมา ท่านประธานาธิบดีของเราก็จะบังคับให้เป็นไปตามเส้นสีแดงนี้” เฮลีย์บอก

[รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นจากรายงานข่าวของสำนักข่าวหลายๆ แห่ง]


กำลังโหลดความคิดเห็น