จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 ธันวาคม 2559 |
ถ้าถามถึงอนาคต หมอดูมักจะแยกให้เป็นด้านต่างๆ เช่น การงาน การเงิน ความรักและสุขภาพ
เมื่อถามถึง “ความสำ เร็จในชีวิต” คุณคิดถึงอะไร...หลายคนนึกถึงความเป็นสุดยอดในอาชีพการงาน หรือความร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองหรือ “ความสุขสมหวัง” ที่เกิดกับตัวเอง และครอบครัว
ถ้าเป็นค่านิยมแบบคนรุ่นก่อนจะสรุปทำนองว่า “ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่รู้จักใช้ชีวิตเรียบง่าย คุ้มค่า พอเพียง มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขกายสบายใจทุกวันคืน”
ดังนั้น ความสุขที่แท้คือ สภาวะที่มีอิสระในการเลือกที่จะ “ทำ” หรือ“ไม่ทำ”อะไร คือไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดจนต้อง “จำทน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานทั้งสถานที่และประเภทงาน การเลือกใช้จ่ายอย่างไม่ติดขัด
สำหรับ Richard Templar ผู้แต่งหนังสือ “กฎทองแห่งความสำเร็จ” หรือ The Rules of Life ยืนยันแบบแนวพุทธว่า “ผลใดๆ ย่อมเกิดจากเหตุ” ดังนั้น คนที่นำกฎพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้มาประยุกต์ใช้ก็จะพบว่า…
ชีวิตมีความสุข ความเจริญไม่ค่อยประสบเคราะห์กรรมใดๆ และไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ดูมีสง่าราศีและมีรังสีแห่งความเมตตา เผื่อแผ่ให้กับคนรอบข้างตลอดเวลา คิดอ่านทำอะไรก็มีโชคลาภ และมีความสดชื่นในชีวิต
ดีจังเลย! หากใครนำกฎไปใช้จริงจัง แล้วได้ผลเช่นนั้น แม้ผลที่จะแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล แต่ย่อมดีกว่าการปล่อยชีวิตไปตามสภาพ
ผู้เขียนกระตุ้นเตือนว่า “อย่าเอาใจไปติดกับอดีต อย่าโยนชีวิตไปอยู่ในอนาคต แล้วทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งที่คุณเลือก”
เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยกฎ 106 ข้อที่ให้หลักคิด และวิถีปฏิบัติที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของชีวิต ซึ่งจัดแบ่งได้เป็น 4 หมวดได้แก่
• 1. กฎเพื่อตัวเอง
• 2. กฎของความสัมพันธ์กับคู่ครอง
• 3. กฎที่ใช้กับครอบครัว และเพื่อน
• 4. กฎกติกาสังคม
1. กฎเพื่อตัวเอง เป็นแนวทางนำชีวิตเราให้เป็นไปโดยมีสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และบรรลุผลที่ต้องการตลอดวัน
ดังนั้น ถ้าเราตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น ไม่มีปัญหาค้างคาใจก็ช่วยลดความเครียด และช่วยปรับทัศนคติให้ถูกควรอีกทั้งปลุกใจให้เรายึดมั่นในหลักการของตัวเองและมีจุดมุ่งหมายสู่ความสำเร็จ
กฎเกณฑ์ข้อนี้ช่วยให้ชีวิตมีจุดยึดเหนี่ยว และเป็นเกณฑ์ฐานส่วนตัวที่ใช้จัดความก้าวหน้าในชีวิต
2. กฎของความสัมพันธ์กับคู่ครอง เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนอยากให้และอยากได้ “ความรัก” จากผู้อื่นที่ตัวเองพอใจ จึงมีพฤติกรรมแตกต่างกันไปตามค่านิยมและทัศนคติที่มีผลต่อความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง
การได้รับคำชี้แนะจากผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ความสำเร็จในชีวิตมาแล้ว ย่อมเป็นผลดีต่อการได้แนวคิดใหม่ๆ และเปิดโลกทัศน์ที่ทันสมัย
กฎที่จัดอยู่ในหมวดนี้(ตั้งแต่ข้อ 58-72) เช่นให้มีความจริงใจ ตรงไปตรงมา มีเกียรติและเชื่อถือได้
ให้ชื่นชมความเหมือนและเปิดใจรับความแตกต่าง รู้จักให้คู่ครองมีอิสระ เป็นตัวของตัวเองบ้าง โดยเฉพาะควรมองคู่ครองด้วยความรู้สึกเหมือนคนเดิมเมื่อวันเกิดรักพบ คือไม่เหี่ยวเฉาตามกาลเวลา
ที่นับเป็นสุดยอดของความสัมพันธ์ก็คือ “คนทั้งคู่เกื้อหนุนจุนเจือกัน ในสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองสนใจก็ตาม”
ที่สำคัญคือการรู้จักขอโทษและให้อภัย โดยไม่มัวหาเหตุผลว่าใครผิด-ใครถูก ซึ่งจะทำให้เรื่องไม่จบง่ายๆ แล้วความสัมพันธ์ที่เคยดีอาจเสียไป
3. กฎที่ใช้กับครอบครัว และเพื่อน แม้จะมีความเป็นกันเองได้แต่ก็ไม่ควรละเลยเรื่องกฎเกณฑ์การมีกฎจะช่วยประกันว่าคุณจะวางตัวอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีน่าเคารพนับถือ มีความรับผิดชอบต่อลูกๆ พ่อแม่ รวมทั้งพี่น้องและเพื่อนๆ ได้อย่างเหมาะสม
4. กฎกติกาสังคม ที่เสมือนเป็นเส้นรอบวงเส้นที่ 4 ซึ่งคนเราขีดไว้รอบตัวเอง (วงแรกคือ ตัวเอง วงที่ 2 คือ คู่ครองวงที่ 3 คือ ครอบครัว และเพื่อนๆ วงที่ 4 คือสังคม)
หากเราขีดเส้นรอบวงที่ 4 นี้ ครอบคลุมคนอื่นที่แตกต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติประเพณี
วัฒนธรรมหรือระดับสังคมแล้วรู้สึกถึงการร่วมกันด้วยดีในสังคมใหญ่โดยไม่แบ่ง “เขา” ไม่แบ่ง “เรา”
ข้อคิด....
ถ้าเราได้ใช้กฎทั้ง 4 หมวดเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ครอบคลุมปฏิสัมพันธ์ที่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อคู่ครองและคนใกล้ชิด ต่อครอบครัวและเพื่อน รวมทั้งมีกฎกติกาที่ดีต่อสังคม ก็น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่ผู้เขียนบอกว่า…
“ผมชอบใช้เวลาที่หัวถึงหมอนในแต่ละคืน ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดทั้งวัน เพื่อสรุปกับตัวเองว่า ผมได้ทำดีและทำถูกต้องที่สุดแล้วทุกเรื่อง”
ไม่ต้องนอนก่ายหน้าผาก หรือหงุดหงิดเสียใจกับการใช้ชีวิตและสิ่งที่ได้ทำลงไป
ถ้ามองในมิติ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” สำหรับองค์กรก็เรียกว่า CSR แต่ตัวบุคคลก็ควรมีจิตสำนึกการสร้างคุณค่าที่มีต่อสังคมด้วย
ผู้เขียนจึงย้ำว่า อยากนอนหลับสบายด้วยความโล่งใจที่ว่า…
“วันนี้ผมได้ทำเรื่องดีๆ มีเมตตากับเพื่อนมนุษย์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ได้ปันเป็นความสุข สนุกสนาน และได้คะแนนความประพฤติเกือบเต็มสิบเข้าไปเรื่อยๆ”
ดังนั้น ลองถามตัวเองว่า รู้สึกอย่างไรต่อผู้เกี่ยวข้อง คุณได้ก่อผลกระทบอย่างไรต่อคนรอบข้าง คุณเป็นเพื่อน เป็นคู่ครองและเป็นพ่อแม่แบบใด
ที่สุดแล้วคุณจะสร้างผลกระทบอะไรทิ้งไว้ให้กับคนรอบข้างครอบครัวและโลกใบนี้.
ข้อมูลจากหนังสือ
กฎทองแห่งความสำเร็จของชีวิต
โดย Richard Templar
แปลโดย สมิทธิ์ เอกโชติ สำนักพิมพ์ซีเอ็ด