จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2559 |
สังคมไทยเราได้รับรู้ถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” มานานกว่า 40 ปีแล้ว นับจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนแก่พสกนิกร
แต่ก็ยังมีบางส่วนที่อาจเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องเกษตรหรืออาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือปฏิบัติยาก ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนทุกระดับ ทั้งตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน ธุรกิจ รวมถึงราชการและผู้บริหารประเทศ
หลักคิดจาก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีตัวอย่างการนำไปใช้อย่างได้ผลดี ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จนปัจจุบัน “ศาสตร์พระราชทาน” ดังกล่าวเป็นที่สนใจศึกษาเรียนรู้ไปในระดับโลกและเป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ
เราคนไทยที่กำลังน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จึง “ปฏิบัติบูชา” ด้วยการศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางที่ทรงชี้แนะไว้ เพื่อผลดีต่อตัวเองและสังคม
ผมขออ้างอิงเนื้อหาหนังสือ “How to be เศรษฐีพอเพียง” ผลงานการเขียนของ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ ซึ่งสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ จัดพิมพ์มาขยายความเข้าใจและให้แนวปฏิบัติตาม “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างเข้าใจ ทำได้จริงและเกิดผลดีแน่
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการเงิน สอนวิชาการเงินมายาวนาน ดร.อัจฉราจึงนำเสนอโดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ด้วยมิติการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลที่มีเป้าหมาย ที่คนส่วนใหญ่วาดหวัง คือ อยากรวย...อยากเป็นเศรษฐี
แต่เป็นให้ฉลาดต้องมีคำว่า “พอเพียง” จึงจะรวยอย่างมีความสุขและยั่งยืน
เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทั้ง “หลักคิด” และ “หลักปฏิบัติ” ที่เป็นแนวทางแห่งการพัฒนาที่สมดุล ที่เชื่อมโยงของ 3 ห่วง รองรับด้วย 2 เงื่อนไข ดังนี้
1.ความพอประมาณ มีลำดับขั้นตอน คือ ประเมินตัวเอง ด้านศักยภาพ ทรัพยากร มีแค่ไหน โดยเฉพาะด้านการเงิน วางแผน ใช้ศักยภาพหรือทรัพยากรอย่างไร พัฒนาต่อยอดอย่างไร
จากนั้นจดบันทึกรายได้รายจ่าย และรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งยกให้เห็น “สถานการณ์ทางการเงิน” ของตัวเองชัดเจนขึ้น
เมื่อรู้สุขภาพทางการเงินของตัวเองแล้ว ก็ควรรู้จักพอใจในสภาพที่เป็น เพื่อให้เกิด “ความพอประมาณ” เพื่อจะลดการเบียดเบียนตนและผู้อื่น
2.ความมีเหตุผล ในการตัดสินใจที่ต้องยึดความรอบคอบ ถูกต้อง ครบถ้วน และคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างรอบด้าน เช่น ถ้ามีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว จะช่วยให้การใช้ชีวิต “มีเหตุผล” มีความมุ่งมั่นและเป็นพลังผลักดันไปสู่เป้าหมาย
3.การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
ถ้าครอบครัวจะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินก็อาจเป็นการสะสมเงินออมลักษณะกองทุนเพื่อฉุกเฉิน หรือกองทุนเพื่ออนาคตเป็นความไม่ประมาท สามารถรับมือกับเหตุที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีเรื่องก็ถือเป็นการสะสมเงินออมที่สร้างผลตอบแทนได้
นี่เป็นการยืนยันกฎ “เก็บเงินก่อนใช้เงิน”
ทั้งนี้ หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เชื่อมเป็น 3 ห่วงข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2 เงื่อนไขรองรับความสมดุลที่มั่นคงคือ
เงื่อนไข ความรู้ ที่ต้องรอบรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อความรอบคอบและระมัดระวัง ขณะที่ต้องมี คุณธรรม ที่จะช่วยสร้างความสมดุลในจิตใจของเราทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน เสริมสติปัญญาและการแบ่งปัน ซึ่งจะช่วยลดการเบียดเบียนตนและผู้อื่น
เอาล่ะ ในเมื่อหนังสือเล่มนี้ชี้แนะแนวทางการเป็น “เศรษฐีพอเพียง” ก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความมั่งคั่ง” ซึ่งต้องมีการวางแผนและเริ่มปรับพฤติกรรมการเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินอย่างจริงจัง
หลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้นจัดระดับความมั่งคั่งเป็นตัวเลขดังนี้ครั[
สินทรัพย์ - หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ
ความมั่งคั่งสุทธิไม่ควรติดลบ ดังนั้น ควรมีหนี้สินให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะหนี้สินยิ่งน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สิน ย่อมหมายถึงความมั่งคั่งยิ่งมาก เรียกว่า ถ้าไม่เป็นหนี้ก็เริ่มรู้สึกว่ามั่งคั่งได้
เพราะคนที่มีทรัพย์สินมากแค่ไหน เช่นบ้านใหญ่โต รถหรูหลายคัน หากมีหนี้สินติดอยู่ด้วย ความมั่งคั่งสุทธิก็ยังไม่เกิด
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่าความมั่งคั่งทางการเงิน (สุขภาพทางการเงิน) ก็คือ ความมั่งคั่งทางร่างการและจิตใจ (สุขภาพทางกายและใจ)
เพราะถึงมีทรัพย์สินเงินทองมากแค่ไหน ถ้าร่างกายเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้าย ต้องนอนรักษาบนเตียงคนไข้ ก็ซื้อความสุขไม่ได้
พระท่านจึงสอนว่า “ไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ”
แม้ว่าในเบื้องต้น ความมั่งคั่งทางการเงินมีส่วนเอื้อให้สร้างสุขภาพหรือความสะดวกสบายทางกายและใจได้ระดับหนึ่ง
แต่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแท้จริง ตัวเราต้องเกิดความสุขกายสบายใจที่ต้องเกิดจากการสร้างความรู้สึกเอง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวทางที่ประเสริฐ