xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อดูเหมือนปกติดี ทำไมยังต้องเปลี่ยนแปลง / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
(suwatmgr@gmail.com)
เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 25 กันยายน 2559

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้มาแบ่งปันการเรียนรู้สู่ท่านผู้อ่านด้วยเหตุผลท้าทายอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1. ชื่อหนังสือที่ว่า “เมื่อทุกอย่างปกติดี ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง” แสดงว่าภายใต้สถานการณ์ที่ดูปกติเมื่อได้ลงลึกถึงปัญหาที่กำลังจะสร้างผลเสียหายในไม่ช้า ก็ต้องรีบ “เปลี่ยนแปลง”

2. ชื่อผู้เขียนที่นำโดย John Kotter กูรูชื่อดังด้านกลยุทธ์การบริหารการเปลี่ยนแปลง แห่ง Harward Business School แถมใช้ “นิทาน” ที่ได้แรงบันดาลใจจากงานวิจัยชั้นเยี่ยมเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอย่างทรงพลังและเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนโดยสามารถกระตุ้นความคิดและให้ความรู้สึกปลื้มไป ความรู้สึกของเพนกวินดาวเด่นในเรื่อง รวมทั้ง “แซลลี่” เพนกวินที่ได้รับรางวัล “ผู้กล้าที่อายุน้อยที่สุด”

นิทานเรื่องนี้กล่าวถึงเพนกวินฝูงหนึ่งที่อาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวชุมชนบนภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) ในแถบขั้วโลกใต้อันหนาวเย็น “เฟรด” พระเอกของเราเป็นเพนกวินหนุ่มที่อยากรู้อยากเห็นและช่างสังเกตก็เลยว่ายน้ำไปพบว่าบริเวณด้านล่างของภูเขาน้ำแข็งที่พวกเขาอาศัยอยู่ข้างบนนั้น ได้พบรอยแยกและสัญญาณต่างๆ ที่บ่งชี้ว่า “ภูเขาน้ำแข็งกำลังละลาย”

เมื่อเฟรดพา “อลิซ” เพนกวินสาวแกร่งที่มีบทบาทสำคัญในสภาผู้นำ ว่ายน้ำลงไปดูข้อเท็จจริง ก็พบว่ามีช่องโหว่ด้านข้างภูเขาน้ำแข็ง ที่ว่ายผ่านโพรงที่กว้างไม่กี่เมตรเข้าไปถึงใจกลางภูเขาก็พบว่ามันคือถ้ำขนาดมหึมาที่มีน้ำท่วมอยู่ด้วย

ถ้าน้ำแข็งละลายไปถึงระดับหนึ่งน้ำจะไหลผ่านรอยแยกเข้าไปในโพรงและไปเพิ่มปริมาณน้ำในถ้ำ พอฤดูหนาวน้ำในถ้ำก็จะแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ของเหลวที่แข็งตัวก็จะขยายปริมาตรเพิ่มขึ้น ภูเขาน้ำแข็งก็อาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้

นี่คือภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบรรดาเพนกวินทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งในที่สุดหลุยส์ผู้นำเหล่าเพนกวินและกรรมการในสภาผู้นำก็ได้รับข้อมูลและการนำเสนอจนเห็นปัญหา แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

ผู้นำอย่างหลุยส์ได้คิดและกล่าวว่า “เราต้องการทีมงานที่จะนำพวกเราฝ่าฟันช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” แล้วเขาก็เลือกจัดทีม 5 คน ที่ถือว่าแข็งแกร่งลงตัว ได้แก่

“หลุยส์” ที่มีประสบการณ์รู้จักมองโลก ใจเย็น อนุรักษ์นิยมเล็กน้อย เป็นที่นับถือจากเพนกวินทุกตัว

“อลิซ” มองโลกตามความจริง ก้าวร้าวเล็กน้อย มีความมุ่งมันตั้งใจทำอะไรต้องให้สำเร็จ

“บัดดี้” เพนกวินหนุ่มหล่อ ไม่ทะเยอทะยาน เป็นที่ไว้ใจและชื่นชอบของชุมชน

“เฟรด” หนุ่มสุดในทีม ขี้สงสัยและมีความคิดสร้างสรรค์

“จอร์แดน” อ่านหนังสือเยอะ มีมาดวิชาการ หลงใหลคำถามที่น่าสนใจ จนได้ฉายาว่า “ศาสตราจารย์” และอธิบายว่า “เราทุกตัวจะสามารถใช้จุดแข็งร่วมกันและกันให้เป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อทำงานเป็นทีม”

จนกระทั่งเมื่อเฟรดชวนให้มองไปที่ท้องฟ้าเห็นนกนางนวลก็ได้ความคิดว่า นกนางนวลส่วนใหญ่คาบอาหารบินกลับรัง ดังนั้น รังนกคงอยู่ไม่ไกลและอาจเป็นสถานที่ปลอดภัยเหมาะจะเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของเพนกวินได้

แต่ปัญหาก็คือ วัฒนธรรมของเพนกวินจะไม่ชอบย้ายถิ่นฐาน ในเรื่องนี้จึงต้องผ่านปัญหาการสร้างความเข้าใจเพื่อให้รับรู้ถึงปัญหาความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จำเป็นที่ต้องอพยพย้ายไปที่ใหม่

เราได้เห็นกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น ได้การคัดเลือกอาสาสมัครเป็นทีม “นักสำรวจ” ที่ต้องแข็งแรง อดทน และเสียสละ ในการว่ายน้ำทางไกลไปหาภูเขาน้ำแข็งแห่งใหม่เพื่อการย้ายถิ่นฐาน ขณะเพนกวินฐานเดิมก็ต้องหาปลาเตรียมไว้รับทีมนักสำรวจที่กลับมาด้วยความเหนื่อยและหิว

นี่เป็นการแหวกธรรมเนียมเดิมที่เพนกวินเคยแค่หาปลาให้ลูกตัวเองเท่านั้น แต่ด้วยการกระตุ้นทางสังคมเป็นการสร้าง “ฮีโร่หาอาหาร” โดยเฉพาะเพนกวินวัยเด็กก็ยังอยากเป็นฮีโร่ และอ้อนพ่อแม่ให้ความร่วมมือ จับปลา 2 ตัว เป็นค่าเข้างาน “เทศกาลหาปลาให้ผู้กล้า” ในวันที่นักสำรวจกลับมาพอดี ปรากฏว่าได้มีหลายสิบครอบครัวเข้าร่วมโครงการ

ขณะที่กรรมการสภาผู้นำเพนกวินเตรียมการอพยพหาที่อยู่ใหม่ ก็ยังมีตัวป่วนโนโน เพนกวินสูงวัยที่มีนิสัยชอบปฏิเสธ การเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เที่ยวไปพูดยุยงเพนกวินในชุมชนว่าจะมีเรื่องเลวร้ายเพราะการเคลื่อนไหวที่กำลังสร้างความวุ่นวายให้กับวิถีของเพนกวิน

ที่สุด ทีมเพนกวินนักสำรวจก็ว่ายน้ำกลับสู่ถิ่นเดิมและแจ้งข่าวดี พบเกาะภูเขาน้ำแข็งแห่งใหม่ใกล้ๆ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัย ทั้งหมดจึงกำหนดแผนการที่จะอพยพจัดกำลังรองรับ เช่น หน่วยพยาบาล หน่วยอาหาร จนสามารถเคลื่อนย้ายทุกตัวสู่ภูเขาน้ำแข็งแห่งใหม่ได้อย่างปลอดภัย

สิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านนิทานเพนกวินในภาวะที่เผชิญกับวิกฤติ “ภูเขาน้ำแข็งกำลังละลาย” ตามชื่อหนังสือต้นฉบับ หากอ่านและครุ่นคิดตามเรื่องราวก็จะได้บทเรียนเอาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงาน

ถ้ามีคำถามอย่างในนิทานนี้ว่า “ภูเขาน้ำแข็งที่อาศัยอยู่นั้นกำลังละลายจริงหรือไม่” ก็อุปมาดั่งกิจการธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการที่กำลังเสื่อมความนิยม แถมรอบตัวยังมีคนที่มีบทบาทเหมือนตัวละคร อลิช เฟรด หรือโนโน แล้วเราเองเป็นตัวละครตัวไหน

แต่ถ้าดูให้ดี กระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จก็มีตัวอย่างในนิทานตามสูตรบันได 8 ขั้นของ Kotter ดังนี้

1. สร้างความรู้สึกเร่งด่วน
เพื่อเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและต้องลงมือทำทันที

2. ก่อตั้งทีมที่จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง
สมาชิกในทีมต้องมีทักษะการเป็นผู้นำ น่าเชื่อถือ มีทักษะการสื่อสาร มีทักษะการคิดวิเคราะห์และทุกคนในทีมต้องรู้สึกถึงความเร่งด่วน

3. กำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลง
ระบุให้ชัดเจนว่าอนาคตจะแตกต่างจากอดีตอย่างไร และจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

4. สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์

5. มอบอำนาจให้คนอื่นลงมือทำได้
กำจัดอุปสรรคทิ้งไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

6. คว้าชัยชนะระยะสั้นให้ได้ก่อน
สร้างความสำเร็จที่ชัดเจนบางส่วนเร็วที่สุด

7. อย่าละความพยายาม
เมื่อทำสำเร็จครั้งแรกก็เดินหน้าต่อ จงมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า จนกว่าวิสัยทัศน์จะเป็นจริง

8. สร้างวัฒนธรรมใหม่
ยึดมั่นในแนวทางใหม่แล้วทำให้ทุกคนยอมรับ จนมีพลังมากพอจะแทนที่ธรรมเนียมแบบเดิมๆ




“คนเรามีความแตกต่างทางพื้นฐานความคิดอย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ว่าผู้ชายมาจากดาวอังคารแล้วจึงชอบใช้เหตุผลเพื่อคิดวิเคราะห์ ส่วนผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ ย่อมมีความรู้สึก ที่อ่อนไหวมากกว่า ถ้าจะอุปมาโดยนัยนี้ก็อาจเปรียบได้ว่า พวกเราเป็นมนุษย์ที่มาจากดาวเก้าดวง ซึ่งอยู่คนละทิศทางกันมุมมองที่มีต่อโลกก็ย่อมไม่เหมือนกัน
ดังนั้น แต่ละคนจึงคิด รู้สึก และทำสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกหรือเหตุการณ์แบบเดียวกัน ความรู้เรื่องคนเก้าแบบของเอ็นเนียแกรมจะทำให้เราซาบซึ้งถึงความแตกต่างนี้ เราจะมองตัวเองและผู้อื่นด้วยมุมมองใหม่และจะเกิดความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น เมื่อรู้เขารู้เราอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะเลิกที่จะพยายามทำให้เขาเป็นดั่งที่เราต้องการ แต่จะมีความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น”

วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช ผู้แปลหนังสือ “เอ็นเนียแกรมคน 9 แบบ มองคนด้วยมุมใหม่ เปลี่ยนใจให้เป็นสุข” สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง


กำลังโหลดความคิดเห็น