xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลเพาะปะการังแบบใช้เพศที่แสมสารทน “การฟอกขาว” ได้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปะการังที่เกาะแสมสารยังอยู่ในภาวะปกติถึงแม้ว่าอุณหภูมิของน้ำจะสูงขึ้นมาก
นักวิจัยขั้วโลกใต้ชาวไทยชี้โลกร้อนส่งผลกระทบกินพื้นที่ตั้งแต่ขั้วโลกใต้ถึงไทย ปะการังฟอกขาวถึง 80% บางแห่งตาย 50% อัตราการตายลูกเพนกวินสูงขึ้น พยาธิในปลามากขึ้น แต่จากการเพาะปะการังแบบใช้เพศที่เกาะแมสสารของไทย พบทนต่ออัตราฟอกขาวได้ดี

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกผู้ศึกษาวิจัยทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ เปิดเผยว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และภายใต้โครงการของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) พบว่า ระบบนิเวศทางทะเลที่ขั้วโลกใต้เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น ไม่เพียงแต่น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายมากขึ้น

ล่าสุดในปีนี้ กลุ่มของ รศ.ดร.สุชนา พร้อมด้วยเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นและจีนไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ ที่ร่วมศึกษาและติดตามสถานการณ์ภาวะโรคร้อนอย่างใกล้ชิด พบว่า การที่อุณหภูมิในน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น มีผลกระทบต่อเพนกวิน ทำให้อัตราการรอดของลูกเพนกวินลดลงกว่าเดิมมาก ขณะเดียวกัน พบว่ามีพยาธิบนตัวปลาและในตัวปลาขั้วโลกมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีเชื้อโรคสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติมากเท่าไร โอกาสที่จะมีพยาธิหรือเชื้อโรคบนตัวสัตว์ทะเลจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยปริมาณพยาธิที่เพิ่ม อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการว่ายน้ำและการกินอาหารของปลา และอาจทำให้ปลาตายในที่สุด

“ ภาวะโลกร้อนนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตขั้วโลกเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตบ้านเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง จากการตรวจติดตามของทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการสำรวจของทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ามีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามันดังที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ สำหรับในส่วนที่ทางจุฬาฯ ได้มีการสำรวจอย่างใกล้ชิดที่บริเวณเกาะแสมสารนั้น พบว่าปะการังเริ่มมีการฟอกขาวประมาณ 10% ถือว่ามีการฟอกขาวในปริมาณที่น้อยกว่าแนวปะการังในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และอุณหภูมิน้ำทะเลขณะนี้สูงประมาณ 33.9 องศาเซลเซียส สูงกว่าปกติอยู่ประมาณ 3 -4 องศา ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ การฟอกขาวของปะการังในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะในบริเวณของ “เกรตแบริเออร์รีฟ”ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังซึ่งยาวที่สุดบนพื้นโลกและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ในขณะนี้มีการฟอกขาวอยู่ในขั้นรุนแรงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้มากกว่า 80% ของปะการังที่เกรตแบริเออร์รีฟได้ฟอกขาว และในบางบริเวณ มากกว่า 50% ของปะการังตาย” รศ.ดร. สุชนา กล่าว และเพิ่มเติมว่า

จากการศึกษาของกลุ่มวิจัยของของตนในช่วงที่ผ่านมาหลายปี และได้ทำการฟื้นฟูปะการังบริเวณเกาะแสมสารบางส่วน โดยทำการเพาะปะการังแบบอาศัยเพศ จากการติดตาม พบว่าปะการังที่เพาะได้มีความทนทานและแข็งแรง ช่วงที่ผ่านมาสามารถที่จะทนต่อการฟอกขาวได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถที่จะทำให้ปะการังบริเวณเกาะแสมสารนั้นมีความทนทานต่อการฟอกขาวมากขึ้น
 ปะการังที่เพาะได้แบบอาศัยเพศ  และสามารถทนต่อการฟอกขาวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา









กำลังโหลดความคิดเห็น