xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : ภารกิจสุดกล้า “เครื่องบินกู้ภัยแคนาดาบิน” เสี่ยงท้าความตายระดับ -60 องศา จอดบนขั้วโลกใต้กลางฤดูหนาวสำเร็จ ช่วยอพยพนักวิจัยล็อกฮีดมาร์ตินป่วยจากฐานสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – เครื่องบินกู้ภัยสัญชาติแคนาดาบินออกจากสถานีวิจัยสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ สถานีวิจัยโรเทรา (Rothera Research Station)บนปลายแหลมเหนือสุดขั้วโลกใต้ บินฝ่ากลางฤดูหนาวอุณหภูมิ -60 เซลเซียสร่วม 9 ชม. ระยะทาง 1,500 ไมล์ไปยังใจกลางทวีป ที่ตั้งศูนย์วิจัยขั้วโลกใต้ของสหรัฐฯ สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ อามุนด์เซน สก็อตต์ ( the Amundsen-Scott South Pole Station) เพื่อภารกิจอพยพนักวิจียจากบริษัทผลิตอาวุธยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ล็อกฮีดมาร์ติน ที่ล้มป่วยออกจากศูนย์ได้สำเร็จเมื่อวานนี้(21 มิ.ย)

CTVNEWS สื่อแคนาดารายงานเมื่อวานนี้(21 มิ.ย)ว่า เครื่องบินกู้ภัยแคนาดารุ่น The de Havilland Canada DHC-6 Twin Otter จาก เคนน์ โบเรค แอร์ (Kenn Borek Air)ที่มีฐานอยู่ในแอลเบอร์ตา แคนาดา ประสบความสำเร็จร่อนลงบนขั้วโลกใต้ได้สำเร็จในวันอังคาร(21 มิ.ย)ท่ามกลางฤดูหนาวของขั้วโลกใต้ที่มีอุณหภูมิ -60 เซลเซียสในการทำภารกิจกู้ภัยฉุกเฉินอพยพนักวิจัยป่วยออกจากสถานีวิจัยขั้วโลกใต้ของสหรัฐฯ

โดยเคนน์ โบเรค แอร์เป็นบริษัทสายการบินแห่งเดียวในโลกที่รับผิดชอบภารกิจกู้ภัยในขั้วโลกใต้ ได้เคยให้บริการอพยพมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า The de Havilland Canada DHC-6 Twin Otter ถือเป็นเครื่องบินกู้ภัยประเภทเดียวในโลกที่สามารถทำงานท่ามกลางอากาศติดลบระดับขั้วโลกได้ต่ำถึง -75 เซลเซียสได้ เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษชี้

โดยในแถลงการณ์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกา NSF (the U.S. National Science Foundation) กล่าวว่า “เครื่องบินกู้ภัยลำนี้จะยังคงจอดอยู่ที่ขั้วโลกใต้เป็นเวลา 10 ชม. เพื่อให้นักบินและลูกเรือได้พักผ่อน” และในแถลงการณ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “และหลังจากนั้นทางลูกเรือจะทำการประเมินสภาพอากาศขั้วโลกใต้ และที่สถานีวิจัยโรเทรา (Rothera Research Station)สถานีวิจัยสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ ก่อนที่จะบินกลับไปยังศูนย์วิจัยอังกฤษบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกต่อไป”

ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า เครื่องบินกู้ภัยแคนาดามาพร้อมกับลูกเรือทั้งหมด 3 คนรวมไปถึงนักบิน และนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่การแพทย์อีก 1 คน

ทั้งนี้มีรายงานว่า เครื่องบินกู้ภัยสัญชาติแคนาดาลำนี้บินออกจากสถานีวิจัยโรเทรา ตั้งห่างจากปลายแหลมทางใต้สุดของชิลีไปราว 2,400 กม. และใช้เวลาการบินร่วม 9 ชม. ระยะทาง 1,500 ไมล์บินข้ามทวีปแอนตาร์กติกาที่กว้างใหญ่ไปยังใจกลางของทวีปเพื่อทำการอพยพนักวิจัยที่ล้มป่วยภายในสถานีวิจัยอาร์กติกของสหรัฐฯ สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ อามุนด์เซน สก็อตต์ ( the Amundsen-Scott South Pole Station)

โดยจะทำการอพยพนักวิจัยไปรักษาตัวบนแผ่นดินใหญ่ทวีปอเมริกาใต้ แต่รายละเอียดของนักวิจัยที่ล้มป่วย หรืออาการล้มป่วยนี้ไม่เป็นที่เปิดเผยสู่สาธารณะ

ซึ่งเดอะการ์เดียนชี้ว่า การตัดสินใจสั่งอพยพนักวิจัยป่วยออกมาจาก NSFในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางNSFได้ให้ข้อมูลเพียงว่า ผู้ป่วยเป็นเพศชายทำงานให้กับบริษัทผลิตอาวุธยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ล็อกฮีดมาร์ติน ทำหน้าที่จัดการด้านลอจิสติกที่สถานีวิจัยแห่งนี้

ในขณะที่เครื่องบินอีกลำที่มาพร้อมกับอุปกรณ์และเครื่องมือพิเศษในการที่ร่อนลงจอดบนหิมะ ได้ถูกเตรียมพร้อมไว้บริเวณด้านหลังของสถานีวิจัยอังกฤษ เพื่อภารกิจกู้ภัยและค้นหาสำหรับเครื่องบินกู้ภัยแคนาดาลำแรก หากมีการติดต่อร้องขอ

CTVNEWS รายงานต่อว่า การบินฝ่าความหนาวในฤดูหนาวของขั้วโลกใต้เป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้น เนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำจนสามารถแช่แข็งเชื้อเพลิงของเครื่องบินได้

โดยพบว่าอุณหภูมิในช่วงเย็นวันอังคารบนขั้วโลกใต้อยู่ที่ -60 เซลเซียสถึงแม้จะมีรายงานว่า สภาพอากาศปลอดโปร่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการบินภารกิจฉุกเฉินจากสถานีวิจัยขั้วโลกของสหรัฐฯบนทวีปแอนตาร์กติกาแห่งนี้เกิดขึ้นเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 1999

ทั้งนี้พบว่า สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ อามุนด์เซน สก็อตต์มีนักวิจัยประจำอยู่เป็นชายจำนวน 39 คน และเป็นหญิงจำนวน 9 คน ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ รวมไปถึงการมอนิเตอร์ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก







กำลังโหลดความคิดเห็น