เอเจนซีส์ / MGR online - ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่โดยวารสาร “Nature” เกี่ยวกับทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้ระบุ การละลายของน้ำแข็งในทวีปนี้อาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 2 เมตรภายในปี ค.ศ. 2100 หรือภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้
ผลการศึกษาซึ่งจัดทำขึ้นโดยทีมนักวิจัยภายใต้การนำของ เดวิด พอลลาร์ด แห่งมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท และร็อบ เดคอนโต ระบุว่า อัตราการละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาอาจอยู่ในระดับที่เลวร้ายกว่าที่คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่มีองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นผู้สนับสนุนเคยคาดการณ์ไว้
ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่า หากระดับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป การละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาอาจเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนทำให้ระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในปี ค.ศ. 2100 ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะใหญ่หลวงสำหรับเมืองที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงฮ่องกง นิวยอร์ก และซิดนีย์ ตลอดจนดินแดนที่เป็นเกาะแก่งต่างๆ ในมหาสมุทร
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยย้ำว่าโลกของเรายังคงมีโอกาสหลีกเลี่ยงหายนะเลวร้ายนี้ได้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งยกระดับการต่อสู้กับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการตีพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ระบุอัตราการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลโลกกำลังอยู่ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งกรุงโรมเมื่อ 2,800 ปีก่อน จากผลพวงของการใช้พลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาผู้นำทั่วโลกสามารถบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส ในการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ ครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ได้ให้การรับรองต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เพื่อนำไปเป็นระเบียบใช้บังคับกับทุกรัฐสมาชิก นับจากปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป โดยความตกลงปารีสนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมระดับของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส