xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมสภาพอากาศ UN บรรลุร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์-เตรียมลงมติบ่ายวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ที่ประชุมสหประชาชาติ ณ นครปารีส บรรลุร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับสมบูรณ์เมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ (12 ธ.ค.) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การลงนามข้อตกลงระดับนานาชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

หลังใช้เวลาเจรจากันนานถึง 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและยูเอ็นก็สามารถสรุปร่างข้อตกลงที่แก้ไขสมบูรณ์แบบ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน และบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

“เราได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์แล้ว” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานของโลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งรับหน้าที่ประธานในการประชุมผู้แทนจาก 195 ประเทศ บอกกับเอเอฟพี

ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์จะถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ รวม 6 ภาษา และส่งให้แก่บรรดารัฐมนตรีผู้เข้าร่วมประชุมในเวลา 11.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น (17.30 น.ตามเวลาในไทย) ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเวลาปิดประชุมที่ตั้งไว้เกือบ 16 ชั่วโมง

ทั้งนี้ คาดว่าที่ประชุม UN จะมีการลงมติภายในช่วงบ่ายวันนี้ ตามเวลากรุงปารีส

รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองน้ำหอมซึ่งจะเป็นผู้ประกาศข้อตกลงสภาพอากาศฉบับแรกที่ดึงทุกประเทศทั่วโลกให้ร่วมกันต่อต้านภาวะโลกร้อน แสดงความ “มั่นใจ” ว่าการเจรจาครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“ทุกอย่างพร้อมแล้วสำหรับการจัดทำข้อตกลงสภาพอากาศสากลที่มีเป้าหมายสูง” ฟาเบียสกล่าว

ผู้แทนนานาชาติร่วมวงอภิปรายกันจนดึกดื่นเพื่อคลี่คลายข้อถกเถียงที่ว่า แต่ละประเทศควรจะมีมาตรการเชิงรุกอย่างไรเพื่อยับยั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ

หลายฝ่ายเตือนว่า การเจรจาที่ปารีสเป็น “โอกาสสุดท้าย” ที่โลกจะหลีกเลี่ยงผลกระทบขั้นเลวร้ายจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน พายุที่มีความรุนแรง รวมถึงระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงจนทำให้ประเทศหมู่เกาะและชุมชนชายฝั่งถูกกลืนหายไป

การประชุมสภาพอากาศยูเอ็นครั้งนี้ยังมุ่งปฏิวัติระบบพลังงานของโลก โดยจะลดการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทดแทนด้วยพลังงานสะอาดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เป็นต้น

แม้การประชุมที่ปารีสจะปราศจากการถกเถียงด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเวทีประชุมสภาพอากาศยูเอ็นครั้งก่อนๆ แต่ก็มีอุปสรรคสำคัญอยู่ที่เรื่องความเป็นธรรมและเงินอุดหนุน ซึ่งแต่ละชาติยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่มาก

ก่อนการประชุมยูเอ็นจะเปิดฉากขึ้น หลายประเทศได้นำเสนอแผนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงหลังปี 2020 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ต่อให้คำมั่นสัญญาเหล่านี้ถูกนำไปปฏิบัติได้จริง อุณหภูมิโลกก็ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างน้อยๆ 2.7 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

กลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุดเรียกร้องให้ที่ประชุม UN กำหนดเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ชาติผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ เสนอให้กำหนดมาตรฐานไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อขยายเวลาในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้นานขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น