xs
xsm
sm
md
lg

รูดม่านเปิดประชุมโลกร้อนที่ปารีส เหล่าผู้นำประเทศเข้าร่วมเนืองแน่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหล่าผู้นำของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย (ลำดับที่ 2 จากซ้าย แถวหลังสุด) ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (โลกร้อน) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เอเอฟพี - บรรดาผู้นำโลกเริ่มการหารือที่ปารีส ภายใต้เป้าหมายในการยุติข้อขัดแย้งของนานาชาติเกี่ยวกับข้อตกลงจำกัดการปล่อยก๊าซไอเสียที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุข้อตกลงลดภาวะโลกร้อนที่มีอนาคตของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน

การประชุมสุดยอดนาน 2 สัปดาห์เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (30 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลากรีนิช (16.00 น. ตามเวลาไทย) โดยมีผู้นำราว 150 คน รวมถึงจากอเมริกา จีน อินเดีย และรัสเซีย ร่วมหารือกันทางตอนเหนือของปารีส ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดภายหลังเหตุโจมตีเมืองหลวงของฝรั่งเศสเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากไม่มีการดำเนินการโดยเร็ว มนุษยชาติจะเผชิญหายนภัยเลวร้ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ความแห้งแล้งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจะทำให้ประเทศเกาะที่อยู่ในพื้นที่ต่ำจมหายไป

ผู้เจรจายังประกาศผลักดันข้อตกลงเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เหยื่อในเหตุโจมตีปารีส 130 รายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างความรับผิดชอบ

ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ประกาศว่า ชะตากรรมของมนุษยชาติฝากไว้กับการประชุมนี้

“หลังการโจมตีปารีส เราต้องดำเนินการกับเป้าหมายสำคัญและตอบโต้ความท้าทายจากผู้ก่อการร้ายอย่างเร่งด่วน รวมถึงดำเนินการเพื่อเป้าหมายระยะยาว” ผู้นำแดนน้ำหอมสำทับว่า ผู้นำจากทั่วโลกจะพบกันในปารีสเพื่อยืนยันความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝรั่งเศส พร้อมแสดงความรับผิดชอบในภาวะที่อุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น

ดูเหมือนเหตุก่อการร้ายเมื่อต้นเดือนจะชักนำให้ผู้นำทั่วโลกตัดสินใจยืนหยัดต่อสู้การก่อการร้าย พร้อมไปกับการจัดการปัญหาโลกร้อน อาทิ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งอเมริกา ที่เดินทางไปยังสถานที่จัดคอนเสิร์ตบาตากล็อง อันเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในเหตุโจมตีเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทันทีที่เดินทางถึงปารีส

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดประจำปีเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1995 ทว่า ความพยายามก่อนหน้านี้ทั้งหมดมีอันต้องสะดุดหยุดลง ส่วนใหญ่เนื่องจากความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน

ประเทศยากจนจำนวนมากยืนกรานให้ชาติมั่งคั่งแบกความรับผิดชอบส่วนใหญ่ในการจัดการปัญหานี้ เนื่องจากเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลส่วนใหญ่นับจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง

แต่อเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็ยืนกรานว่า จีน อินเดีย และประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เนื่องจากเผาผลาญถ่านหินจำนวนมากขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ประเด็นขัดแย้งสำคัญในที่ประชุมมีตั้งแต่การให้เงินสนับสนุนประเทศยากจนที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการตรวจสอบความมุ่งมั่นในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกระทั่งสถานะทางกฎหมายของข้อตกลง

กระนั้น มีความคืบหน้าสำคัญเกิดขึ้นก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้น หนึ่งในนั้นคือการที่ 183 ประเทศส่งแผนปฏิบัติการตามความสมัครใจในการจัดการปัญหาโลกร้อน

คริสเตียนา ฟิกูเรส เลขาธิการด้านกรอบการทำงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำหรับความพยายามที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นที่อาจนำไปสู่การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในที่สุด

อนึ่ง 2 องศาเซลเซียสคือค่าเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า จะทำให้เกิดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เลวร้ายที่สุดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ขณะเดียวกัน คนกว่าครึ่งล้านร่วมประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วโลกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกดดันให้ผู้นำที่ไปรวมตัวกันที่ปารีสผลักดันข้อตกลงลดโลกร้อนให้ลุล่วง

ฝรั่งเศสนั้นห้ามการประท้วงในปารีสโดยเด็ดขาด เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย กระนั้น คนนับพันยังพยายามรวมตัวกันเพื่อสร้างห่วงโซ่มนุษย์ยาว 2 กิโลเมตรในปารีส เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนี้ล่มลงเมื่อกลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านลัทธิทุนนิยมเข้าแทรกซึมและนำไปสู่การปะทะกับตำรวจปราบจลาจล โดยแหล่งข่าวในสำนักงานตำรวจเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า มีผู้ถูกควบคุมตัว 317 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น