xs
xsm
sm
md
lg

เช็คสัญญาณอันตราย "โรคหลอดเลือดหัวใจ" อาการแบบไหนที่ต้องรีบไปหาหมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หมายถึงโรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอาการตีบตัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ไขมันและเนื้อเยื่อสะสมอยู่ในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อผนังหลอดเลือดชั้นในเกิดหนาตัวขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบและแคบลง ส่งผลให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนผ่านเข้าออกได้น้อยลง ทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะเกิดจากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออก กลายเป็นลิ่มเลือด นำไปสู่การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อันนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆหรืออาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคมี 2 ประเภทคือ
 
1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
 
- ประวัติครอบครัว หากมีคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมาก่อน เราก็มีโอกาสเป็นได้มากขึ้น
 
- อายุ ยิ่งคนที่มีอายุมากขึ้น การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดก็มีมากขึ้นด้วย
 
- เพศ ผู้ชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง แต่ถ้าผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน
 
2.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
 
- น้ำหนักเกินและอ้วน การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้มาก.เช่นภาวะอ้วนลงพุง ภาวะความดันโลหิตสูง มีเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดสูง
 
- การมีความดันโลหิตสูง ที่มีค่าวัดความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
 
- มีความเครียด เช่น มีภาวะโศกเศร้า มีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานและไม่สามารถกำจัดความเครียดนั้นได้ ภาวะเก็บกดด้านอารมณ์ มีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตร ขาดการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น คิดว่าตัวเองมีปมด้อยอยู่ตลอดเวลา
 
- การไม่ออกกำลังกาย หรือไม่มีกิจกรรมทางกาย ก็จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น
 
- การรับประทานผักและผลไม้การรับประทานผักและผลไม้แต่ละมื้อนั้นน้อยเกินไป เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่รับประทานอาหารที่มีรสชาติหวาน มีไขมัน และมีแคลอรี่สูง

- การสูบบุหรี่ ทั้งผู้สูบและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหยุดสูบไม่ได้ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้ง่ายกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบถึง 2 เท่า

อาการสำคัญที่ควรไปพบแพทย์
 
1.มีอาการเจ็บหนักๆเหมือนมีอะไรมากดทับบริเวณกลางหน้าอก หรือใต้กระดูกกลางหน้าอก.อาจเจ็บร้าวไปบริเวณต้นคอ กราม ไหล่ และแขนทั้งสองข้าง โดยเฉพาะข้างซ้าย

2.เหนื่อยมากขณะออกแรง หรือออกกำลังกาย ที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

3.เหนื่อย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้ รู้สึกแน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเป็นๆหายๆ มาเป็นเวลานาน

4.มีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ เป็นลมร่วมกับอาการแน่นหน้าอก เกิดขึ้นเพราะมีความดันขึ้นเฉียบพลัน

5.อาจมีอาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้นได้
 

แนวทางการป้องกันและการรักษา
 
1.ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ควรบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานในแต่ละวันของแต่ละคน เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล เช่น

- เด็กวัยอายุ 6-13 ปี ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี่/วัน

- วัยเรียนหญิงชายอายุ 14-25 ปี ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน

- วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ 25-60 ปี ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี่/วัน
และคนที่ต้องการพลังงานมากเป็นพิเศษ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา ที่ต้องการพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี่/วัน
นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำด้วย
 
2.หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายหายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นปานกลาง ต้องออกแรงต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไปในแต่ละครั้ง อาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น การทำงานบ้าน การทำครัว ถือของเบาๆเดินไปมา
 

3.ลดความเครียด และจัดการกับความเครียดได้ด้วยวิธีที่ตัวเองชอบ เช่น การออกกำลังกาย การฝึกโยคะ การเจริญสมาธิ เป็นต้น
 

4.หยุดสูบบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่ไปเลย

กำลังโหลดความคิดเห็น