xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ลด "อ้วน-เบาหวาน-ความดัน"พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย โดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน ครั้งที่ 5 ระหว่างปี57- 58 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพคนไทย 21 จังหวัด จำนวน 19,468 ตัวอย่าง พบว่า มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจ ครั้งที่ 4 ปี 52 ใน 4 เรื่อง คือ สูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ จากร้อยละ 19.9 ในปี 52 เป็นร้อยละ 16 ในปี 57 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง จากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 3.4 กินผักและผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวันขึ้นไป มีแนวโน้มที่ดีขึ้นร้อยละ 25.9 หรือ 1 ใน 4 และการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น เดิน ขี่จักรยาน อยู่ในระดับคงที่ ร้อยละ 80
แต่มีสิ่งที่น่าห่วงคือ ภาวะอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกกลุ่มวัย ถึง 19 ล้านคน ภาวะความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน และคนที่เป็นเบาหวาน 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือ พบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอีก 7.7 ล้านคน กลุ่มหลังหมายถึงร้อยละ 5-10 ต่อปี จะเป็นเบาหวาน หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ยังคงต้องรณรงค์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันนักสูบ และนักดื่มหน้าใหม่ โดยที่ต้องเน้นหนัก และเฝ้าระวัง คือ การมีกิจกรรมทางกายที่ยังไม่เพิ่มขึ้นชัดเจน จากวิถีชีวิตที่ใช้แรงงานน้อยลง การใช้เวลาไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และสมาร์ทโฟน การทำงานของ สสส. ต่อไปจึงเน้นการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกาย ที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัย และสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายระดับชาติภายในปี 59 และร่วมเสนอยุทธศาสตร์ระดับสากล ในสมัชชาองค์การอนามัยโลก ภายในปี 60 พร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลด หวาน มัน เค็มลง
ศ.นพ.วิชัย เอกาพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น จากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพศชาย มีจำนวนร้อยละ 32.9 และเพศหญิง ร้อยละ 41.8 โดยเพศชายในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนสูงสุด สำหรับผู้หญิงทุกภูมิภาคมีสัดส่วนไม่ต่างกัน และภาวะอ้วนในเขตเทศบาล สูงกว่านอกเขตเทศบาล อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับดัชนีมวลกาย พบว่า หญิงไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยดัชนีมวลกายเฉลี่ยของหญิงไทยอยู่ที่ 24.5 kg/m^2 อันดับ 1 คือ มาเลเซีย ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 25.7 ขณะที่ผู้หญิงในญี่ปุ่น และฮ่องกง มีภาวะอ้วนลดลง
นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีสัดส่วนการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเพศชาย อยู่ที่ร้อยละ 9.8 และ 7.9 ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 43.1 ของผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน เท่ากับว่า ภาระโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีคนที่เป็นเบาหวานแล้วมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งภายในร้อยละ 5-10 ต่อปี จะป่วยเป็นเบาหวาน
กำลังโหลดความคิดเห็น