xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! หญิงไทยไซส์ XXXL พบอ้วนติดอันดับ 2 เอเชีย ด้านอัตราสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจสุขภาพคนไทย พบ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าลดลง แต่สูบหนัก - ดื่มหนักขึ้น กินน้ำอัดลม น้ำหวานเพิ่มขึ้น เกิดภาวะอ้วนแบบก้าวกระโดด หญิงไทยอ้วนอันดับ 2 ของเอเชีย ผู้ป่วยความดัน เบาหวานเพิ่มขึ้น ขณะที่กิจกรรมทางกายคงที่ กินผักผลไม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

วันนี้ (25 ก.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และ ประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) แถลงข่าวผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ ทำการสำรวจสุขภาพประชาชน ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557 - 2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด จำนวน 19,468 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจการเฝ้าระวังทางสุขภาพของคนไทยระดับประเทศ ใน 8 ประเด็น พบว่า 1. การสูบบุหรี่ลดลงในทุกกลุ่มอายุ จากร้อยละ 19.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2557 จำนวนมวนที่สูบบุหรี่ เพศชายเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 10.6 มวน เป็นวันละ 11.2 มวน เพศหญิง ลดลงจากเฉลี่ยวันละ 9 มวน เป็น 7.7 มวน สัดส่วนคนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 78 เป็นร้อยละ 72.6

2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง จากร้อยละ 7.3 เหลือร้อยละ 3.4 จำนวนครั้งของการดื่มอย่างหนักเพิ่มขึ้น เพศชายจากค่ากลาง 6 ครั้งต่อปี เป็น ค่ากลาง 3 ครั้งต่อเดือน เพศหญิง จากค่ากลาง 3 ครั้งต่อปี เป็น 2 ครั้งต่อเดือน 3. กินผักและผลไม้เพียงพอ 400 กรัมต่อวันขึ้นไป มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากร้อยละ 17.7 เป็น ร้อยละ 25.9 หรือ 1 ใน 4 4. การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เช่น เดิน ขี่จักรยาน อยู่ในระดับคงที่ร้อยละ 80 5. อัตราการบริโภคน้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มหวานของกลุ่มเด็กอายุ 2 - 14 ปี เพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 2 - 5 ปี เพิ่มจากร้อยละ 10.5 เป็น ร้อยละ 12.5. อายุ 6 - 9 ปี จากร้อยละ 14.5 เป็นร้อยละ 20.4 และอายุ 10 - 14 ปี จากร้อยละ 19.1 เป็นร้อยละ 19.8

6. ภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกกลุ่มวัย จากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 เพศชาย เพิ่มจากร้อยละ 28.4 เป็นร้อยละ 32.9 เพศหญิง เพิ่มจากร้อยละ 40.7 เป็นร้อยละ 41.8 ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีภาวะอ้วนถึง 19 ล้านคน 7. ภาวะความดันโลหิตสูงถึง 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 เป็น ร้อยละ 24.7 เพศชาย เพิ่มจากร้อยละ 21.5 เป็นร้อยละ 25.6 เพศหญิง จากร้อยละ 21.3 เป็นร้อยละ 23.9 และ 8. เบาหวาน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 เป็นร้อยละ 8.9 โดยประเทศไทยมีคนที่เป็นเบาหวานถึง 4 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วง คือ พบกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน โดยไม่รู้ตัวอีกถึง 7.7 ล้านคน กลุ่มหลังหมายถึง ร้อยละ 5 - 10 ต่อปี จะเป็นเบาหวานหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพ

“แม้พฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาคนโยบาย ภาคสังคม และภาควิชาการ แต่เป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ยังคงต้องรณรงค์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ เดินหน้าสนับสนุนให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงการส่งเสริมให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอตลอดทุกช่วงวัย และสนับสนุนให้มีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนได้มีกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน พร้อมกับเน้นพฤติกรรมโภชนาการที่ลดหวาน มัน เค็มลง โดยเฉพาะมาตรการสำคัญในการเสนอมให้ออกกฎหมายเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาลสูง โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นมาตรการที่จะช่วยลดปัญหานี้” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

ศ.นพ.วิชัย เอกาพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน กลายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น จากผลการตรวจสุขภาพพบภาวะอ้วน (BMI ≥ 25 kg/m2) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเพศชาย มีจำนวนร้อยละ 32.9 และเพศหญิง ร้อยละ 41.8 โดยเพศชายในกรุงเทพฯมีสัดส่วนสูงสุด สำหรับผู้หญิงทุกภูมิภาคมีสัดส่วนไม่ต่างกัน และภาวะอ้วนในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล เมื่อเทียบกับดัชนีมวลกาย หรือ BMI พบว่า หญิงไทย มีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยดัชนีมวลกายเฉลี่ยของหญิงไทย อยู่ที่ 24.5 kg/m^2 อันดับ 1 คือ มาเลเซีย ดัชนีมวลกายเฉลี่ย 25.7 ขณะที่ผู้หญิงในญี่ปุ่น และ ฮ่องกง มีภาวะอ้วนลดลง ส่วนเพศชาย พบว่า อ้วนเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย อันดับ 1 - 7 ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ตามลำดับ

“ผู้หญิงยังมีสัดส่วนการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าเพศชาย อยู่ที่ร้อยละ 9.8 และ 7.9 ตามลำดับ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความชุกสูงที่สุด ตามด้วย ภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 43.1 ของผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ทราบว่า ตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน เท่ากับว่า ภาระโรคเบาหวานในปัจจุบัน มีคนที่เป็นเบาหวานแล้วมากกว่า 4 ล้านคน ทั้งยังพบกลุ่มเสี่ยงต่อเบาหวานอีกถึง 7.7 ล้านคน ซึ่งภายในร้อยละ 5 - 10 ต่อปี จะป่วยเป็นเบาหวาน” ศ.นพ.วิชัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น