xs
xsm
sm
md
lg

เร่งยกร่าง พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ คุมปัจจัยเสี่ยงทำลายสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรคเร่งยกร่าง พ.ร.บ. โรคไม่ติดต่อ ก่อนทำประชาพิจารณ์ เสนอ สธ.- ครม. ภายในปีนี้ หวังเปิดช่องออกกฎหมายลูกเฉพาะคุมปัจจัยเสี่ยงโรคจากพฤติกรรม แบบเหล้า - บุหรี่

วันนี้ (26 ก.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุม “ปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการร่าง พ.ร.บ. โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. ...” ว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของโลกและไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวทั่วโลกประมาณ 38 ล้านคน โดย 3 ใน 4 หรือประมาณ 28 ล้านคน อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง ส่วนกลุ่มโรคไม่ติดต่อสำคัญของไทย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจสุขภาพประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยการตรวจร่างกายในปี 2557 พบการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 คือ เบาหวาน ร้อยละ 8.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 24.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 ในปี 2552 ภาวะน้ำหนักเกินร้อยละ 30.5 และ อ้วน ร้อยละ 7.5

“ที่ผ่านมา การดำเนินงานแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อ ยังไม่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะระบบข้อมูลปัจจัยเสี่ยงต่อการคุกคามสุขภาพต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายด้วย ซึ่งไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อมาก่อน ประกอบกับสังคมที่อยู่อาศัยสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการอยู่ในรูปแบบคอนโดมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีสถานบริการที่ดูแลประชาชนในกลุ่มนี้ด้วย กรมฯ จึงจัดทำร่าง พ.ร.บ. โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. ... ขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเฝ้าระวังสอบสวน การลดการแพร่ระบาด การลดพฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ เช่น การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย กลไกทางการตลาด เป็นต้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ จากนั้นจะยกร่างเพื่อจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ และปรับปรุงให้ครอบคลุม ก่อนเสนอผู้บริหาร สธ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปีนี้” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นการออกกฎหมายแบบกว้าง ๆ จากนั้นคณะกรรมการจะมีการประชุมเพื่อออกอนุบัญญัติต่างๆ ที่เป็นกฎหมายลูกเฉพาะในการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ แบบกฎหมายเหล้า และบุหรี่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน เป็นต้น เกิดจากปัจจัยอะไรบ้างก็จะออกกฎหมายไปควบคุมตรงนั้น แต่จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก อย่างเรื่องสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพก็อาจออกเป็นกฎหมายเฉพาะขึ้นมาภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่จะเป็นอย่างไรนั้นต้องมีการหารืออีกมาก เพราะจะกระทบต่อผู้ผลิตด้วย แต่จากการรับฟังบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ก็มีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องทำฉลากที่บ่งบอกถึงผลดีและผลเสียต่อสุขภาพ เป็นต้น หรืออย่างประเด็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายในหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ซึ่งจริง ๆ ก็มีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะออกกฎหมายลูกที่จะดึงเอากฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น