บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา |
“เบื่ออาหาร” ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดปัญหาหนึ่งตลอดเส้นทางการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร นับตั้งแต่ช่วงที่เข้ารับการตรวจวิเคราะห์ร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ และต้องลุ้นผลว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ พอทราบผลว่าเป็นมะเร็งก็ยิ่งเบื่ออาหาร เศร้าซึม ไม่อยากรับประทานอะไร เมื่อต้องรับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การด้วยเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือการใช้ยามุ่งเป้า ก็ล้วนแต่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร การรับรู้รสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย เกิดความเบื่อหน่ายและรับประทานอาหารไม่อร่อย หลายคนจึงมีภาพจำว่า ผู้ป่วยมะเร็งมักจะมีร่างกายอ่อนแอ ผ่ายผอม และพ่ายแพ้ต่อโรคร้ายไปในที่สุด
แพทย์แผนปัจจุบันและนักโภชนาการต่างมีความเห็นตรงกันในเรื่องการต่อสู้กับมะเร็งว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ข้อ ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเอาชนะมะเร็งได้หรืออยู่กับมะเร็งได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน ก็คือ โภชนาการที่ดี และกำลังใจที่ดี ก็คือต้องมีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจนั่นเอง โภชนาการที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยก็ต้องรับประทานอาหารได้ ผู้ดูแลใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเอาชนะอาการเบื่ออาหาร
10 วิธีรับมือผู้ป่วยเบื่ออาหาร มีดังนี้ 1.ถามผู้ป่วยว่าอยากรับประทานอะไร วิธีนี้อาจดูง่ายเกินไป แต่ผู้ป่วยจะได้รับประทานสิ่งที่ต้องการและรู้สึกอยากจริงๆ มีโอกาสที่จะรับประทานได้มากขึ้นเพราะได้เลือกเอง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความเอาใจใส่ของผู้ดูแลด้วย 2.ทบทวนถึงอาหารที่ผู้ป่วยเคยชอบในอดีต อาจเป็นรายการอาหารจานโปรด ร้านอาหารโปรด ร้านขายอาหารหรือขนม อาจพาผู้ป่วยไปเลือกซื้อเอง หรือจดบันทึกไว้แล้วไปหาซื้อมาให้ก็ได้ 3.หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเมื่อกลิ่นอาหารขณะประกอบอาหาร ก็ไม่ควรทำอาหารที่ส่งกลิ่นแรงในบ้าน ควรเลือกทำอาหารที่ไม่ส่งกลิ่นรุนแรง หรือไปเลือกซื้อมา ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุก สะอาด มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ผัก ควรปรุงหรือซื้อวันต่อวัน ไม่ให้รับประทานอาหารค้างคืนข้ามวัน เนื่องจากผู้ป่วยมักภูมิต้านทานร่างกายต่ำ และมีโอกาสติดเชื้อง่าย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานไข่ขาวอย่างน้อยวันละ 3 ฟอง ไข่ขาวเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ นำมาทำอาหารได้หลายชนิด การปรุงอาหารเองมีข้อดีในเรื่องควบคุมความสดสะอาดได้ กำหนดวัตถุดิบที่ต้องการได้ตรงตามความต้องการ แต่มีข้อเสียคือใช้เวลามาก และต้องระวังเรื่องกลิ่นอาหารในบ้าน การซื้ออาหารมีข้อดีคือสะดวก แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ควรเลือกอาหารที่เป็นต้ม ผัด ร้อนๆ ไม่ควรเลือกยำ อาหารรสจัด หรือหมักดอง อาจต้องนำมาปรุงใส่เนื้อสัตว์หรือไข่ขาวเพิ่มให้มากเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และหากซื้อมาเป็นเวลานานจนอาหารเย็นลงต้องการอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงกันทั้งหมด 4.เปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทาน บรรยากาศนี้อาจเป็นที่บ้านเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนห้อง เปลี่ยนมุมที่นั่ง มีสมาชิกในครอบครัวมารับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยเล่าเรื่องกันอย่างสนุกสนาน หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านถ้าผู้ป่วยมีสภาพร่างกายพร้อม การรับประทานอาหารนอกบ้านควรระวังในเรื่องความสะอาดของภาชนะ และหลีกเลี่ยงการรับประทานสิ่งที่ไม่แน่ใจในความสะอาด เช่น ผักสด ผลไม้สด น้ำแข็ง น้ำปั่น 5.ผลไม้ ควรเลือกผลไม้มาปอกรับประทานเอง ไม่ควรซื้อผลไม้ตัดแต่ง หรือปอกขายตามรถเข็นหรือตู้ร้านค้า เพราะไม่สะอาดพอสำหรับผู้ป่วย ไม่ควรรับประทานผลไม้ทั้งเปลือก หากจะปั่นหรือคั้นน้ำผลไม้รับประทาน ควรเลือกผลไม้ ล้างผลไม้ให้สะอาด และดูแลความสะอาดของเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ด้วย 6.จดบันทึกความอร่อย การจดรวบรวมไว้ช่วยได้มาก อาจจดแยกเป็นอาหารคาวและอาหารหวาน โดยบันทึกชนิดของอาหารและสถานที่ซื้อไว้ด้วย เมื่อเวลาผ่านไปมาเปิดทบทวนดู เมนูที่ไม่ได้รับประทานนานแล้ว ก็อาจนำกลับมาอร่อยอีกครั้งได้ การจดบันทึกต้องทำเป็นประจำ และมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้ตลอด เพราะการรับรสที่ผิดเพี้ยนไปและสภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลงระหว่างการรักษา อาจทำให้ของที่เคยอร่อย กลายเป็นไม่อร่อย ของบางอย่างไม่น่าอร่อย กลายเป็นอร่อยไปได้ 7.ไม่จำเป็นต้องรีบหายาหรืออาหารเสริมมากระตุ้นให้อยากอาหาร ในวันแรกๆหลังจากให้เคมีบำบัดผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยอยู่แล้ว คอยกระตุ้นให้กินทีละน้อยแต่บ่อยๆ วันต่อมาจะกินได้มากขึ้นเรื่อยๆเอง แต่หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนควรให้ยาบรรเทาอาการ 8.หากมีแผลในปาก หรือแสบปาก ควรรับประทานเยลลี่ ไอศกรีม หรือน้ำผลไม้เย็นๆ เลือกที่สะอาด มีมาตรฐานการผลิตที่ดี หากอยากรับประทานน้ำแข็งควรทำน้ำแข็งเองไม่ควรซื้อน้ำแข็งรับประทาน 9.หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่นๆ ควรคำนึงถึงอาหารที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นความดันโลหิตสูง ไม่ควรเลือกอาหารรสเค็มจัด ถ้าเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ไม่ควรเลือกอาหารไขมัน ผัด ทอดให้ผู้ป่วยมากนัก หรือการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยามุ่งเป้าอาจมีข้อห้ามรับประทานผลไม้จำพวกส้มโอ เกรปฟรุต เป็นต้น 10.ดูแลสุขภาพร่างกายโดยทั่วไป - ชั่งน้ำหนักทุกวัน และจดบันทึกไว้ เพื่อประเมินภาวะโภชนาการเองคร่าวๆ การเลือกใช้เครื่องชั่งน้ำหนักที่เป็นตัวเลขดิจิตอลจะมีความแม่นยำกว่า หากน้ำหนักลดมาก ควรแจ้งแพทย์เมื่อไปติดตามการรักษา - ดูภายในช่องปาก ว่ามีปัญหาที่ทำให้เบื่ออาหารหรือไม่ เช่น แผลอักเสบที่เยื่อบุช่องปากหรือลิ้น ฝ้าขาวของเชื้อราในช่องปาก - สังเกตอาการอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการรับประทานอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ปวดมวนท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อารมณ์เศร้าซึม ถ้ามีอาการผิดปกติมากควรปรึกษาแพทย์ |