xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแนวรบ สร้างแนวรับ สู้กับมะเร็งแบบถูกทาง / พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์
กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

ช่วงเวลา 1 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง การรณรงค์วันมะเร็งโลกในปี 2016 นี้มีระยะเวลา 3 ปี (2016-2018) นับว่าเป็นโครงการรณรงค์ที่ใหญ่ขึ้น หวังให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาติดตามที่ยาวนานกว่าเดิม

ปัจจุบัน ประชากรโลกกำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง มีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตปีละ 8.2 ล้านคนทั่วโลก ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อปี (ประมาณ 4 ล้านคน) นั้นเสียชีวิตไปในช่วงอายุ 30-69 ปี ถ้าหากเราอยากจะมีอายุอย่างน้อย 70 ปี ก็เป็นความน่าเสียดายที่โรคมะเร็งทำให้ผู้คนอายุไม่ยืนยาวดังที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามยังมีความหวังว่าการรักษามะเร็งจะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อยืดอายุของผู้ป่วย

มะเร็งมีผลกระทบต่อชีวิตของคนทุกคนในรูปแบบที่ต่างกัน มะเร็งอาจเกิดขึ้นกับตัวคุณเอง คนที่คุณรัก คนที่คุณเคยรู้จัก คนมีชื่อเสียงที่คุณชื่นชม เมื่อวันมะเร็งโลกมาถึง การรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งไม่ได้มุ่งเน้นแต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเท่านั้น แต่อยากกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้ตระหนักรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและลดโรคมะเร็งแก่คนทั่วโลก ซึ่งทำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย นอกจากนี้ คนทุกคนมีส่วนที่จะช่วยแบ่งเบาผลกระทบจากมะเร็งทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม ตามหัวข้อของการรณรงค์ในปีนี้ คือ “เราทำได้ ฉันทำได้” (We can, I Can) “เรา” หมายถึง เราทุกคนบนโลกนี้ร่วมมือกันสู้กับมะเร็งในระดับสังคม ส่วน “ฉัน” หมายถึง แต่ละคนจะรับมือกับมะเร็งในระดับบุคคล

We can เราร่วมมือกันสู้กับมะเร็งได้ ดังนี้

•  เริ่มจากมีแรงบันดาลใจ รู้สึกท้าทาย และพร้อมจะลงมือทำ

•  เราร่วมกันป้องกันมะเร็งได้ เช่น เพียงคุณเลิกสูบบุหรี่คุณก็ป้องกับมะเร็งปอดให้กับตัวเอง คนในครอบครัว และคนในสังคมได้อีกมากมาย

•  สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ลดมลภาวะที่เป็นพิษ ลดการใช้สารเคมี ผลิตอาหารที่ปราศจากการปนเปื้อน

•  พัฒนาการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็ง เช่น โรงพยาบาล สถานรับดูแลผู้ป่วย กองทุนเพื่อสิทธิในการเข้ารับการรักษา หรือเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือ

•  สร้างบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เช่น แพทย์ พยาบาลเฉพาะทาง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน

•  บูรณาการเครือข่ายประสานงาน เพราะมะเร็งไม่ใช่เป็นเพียงการเจ็บป่วยทางร่างกายเพียงมิติเดียว ผู้ป่วยมักต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น ต้องการความรู้ ความเข้าใจ ต้องการมีเพื่อน มีที่พึ่งทางใจ ต้องการค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่าเดินทางไปรับการรักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์ บางคนยังต้องการมีอาชีพและรายได้

•  ในระดับประเทศ กระทรวงสาธารณสุขควรมีนโยบายที่จะดูแลเรื่องมะเร็งอย่างเด่นชัดในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็ง การศึกษาวิจัยพัฒนาความรู้เพื่อรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพหลังการรักษามะเร็ง ตลอดจนดูแลผู้ป่วยมะเร็งในวาระสุดท้ายของชีวิต

I can แต่ละบุคคลรับมือกับมะเร็งได้ ดังนี้

•  เลือกวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารที่ดีไม่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด

•  ตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งที่ตรวจคัดกรองได้ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกในสตรี

•  สามารถขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากแหล่งต่างๆได้ เช่น ความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุข สามารถเข้าถึงบริการการตรวจคัดกรอง การป้องกันโรคมะเร็ง

•  ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งในรูปแบบต่างๆที่ช่วยได้ เช่น ช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยเหลือสนับสนุนสิ่งต่างๆที่ผู้ป่วยมะเร็งร้องขอโดยตรง หรือบริจาคเงินให้มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง

•  หากคุณเป็นผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง คุณยังเป็นคนหนึ่งที่สามารถมีความรักต่อผู้อื่น ได้ และควรได้รับความรักจากผู้อื่นได้เช่นกัน

•  คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ป่วยมะเร็งยังสามารถทำงานได้ตามสภาพร่างกาย และสามารถแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์การรักษามะเร็งเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้

หากบทความนี้ช่วยให้คุณตระหนักว่ามะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับมะเร็ง จากนี้อีก 3 ปีของการรณรงค์มะเร็งโลก คุณคงรู้แล้วว่า คุณจะรับมือกับมะเร็งได้อย่างไร และเราจะร่วมมือกันสู้กับมะเร็งได้อย่างไร

กำลังโหลดความคิดเห็น