บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา |
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป ลองทายดูว่า ผู้ป่วย 4 กลุ่มนี้ กลุ่มไหนมีระยะเวลาการรอดชีวิตที่สูงกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และมีความทรมานน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ในระยะท้ายของโรค |
กลุ่มที่ 1 ไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง โดยญาติอาจจะปิดบังไว้ จึงไม่ตระหนักว่าต้องรักษาหรือดูแลตัวเองอย่างไร
กลุ่มที่ 2 รู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ หวาดกลัว หลีกหนี ไม่อยากเข้ารับการรักษา
กลุ่มที่ 3 รู้ว่าเป็นมะเร็งและพร้อมจะทำทุกอย่างที่แพทย์แนะนำเพื่อการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉายแสง แต่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหรือวิถีชีวิต
กลุ่มที่ 4 รู้ว่าเป็นมะเร็ง เข้ารับการรักษา ปรับเปลี่ยนความคิด วิถีชีวิตและพฤติกรรม เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างมีกำลังใจ
คำตอบคือ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 4 ระยะเวลาการรอดชีวิตที่สูงกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และมีความทรมานน้อยที่สุดในระยะท้ายของโรค
แน่นอนว่า มะเร็งเป็นโรคที่ทุกคนหวาดกลัวเมื่อได้ยินชื่อ และหลายคนยังมีภาพความทรงจำเกี่ยวกับมะเร็งเป็นภาพของความเจ็บปวดและทรมานจากการรักษา แต่ในช่วงระยะเวลาราวๆ 10-20 ปีที่ผ่านมา การแพทย์แผนปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก มีหนทางที่หลากหลายขึ้น ทั้งเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง และลดความทุกข์ทรมานเจ็บปวด มีการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารในช่องทางต่างๆ ที่สืบค้นได้สะดวกรวดเร็ว ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ดูแลในยุคสมัยนี้ จึงสามารถหาค้นหาข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ได้มากมาย ไม่รู้สึกมืดมน อับจนหนทาง หรือต้องเดินทางไกลเพื่อเสาะแสวงหาวิธีการรักษาเหมือนสมัยก่อน
ข้อเท็จจริงที่สำคัญในปัจจุบันคือ โรคมะเร็ง หากตรวจพบเร็วและรับการรักษาที่ถูกต้องได้เร็ว มีโอกาสหายได้ และเมื่อเป็นมะเร็งแล้ว ไม่ว่าระยะใด ไม่ควรใช้เวลาทำใจนานจนเกินไป อย่าหมดเปลืองเวลาไปกับการหลีกหนีหรือปฏิเสธความจริง เพราะหากตัดสินใจรับการรักษาแต่เนิ่นๆ มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษา จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเจ็บปวดทรมานได้
การแพทย์ที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้การเข้าสู่กระบวนการรักษามะเร็ง มีความคล้ายคลึงกับการเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคเรื้อรังอย่างอื่น เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง ที่จะต้องติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอไปตลอด
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ในเบื้องต้นข้อมูลที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรได้ทราบและเข้าใจ จากแพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อการตัดสินใจและหาข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบด้วย ● เป็นมะเร็งของอวัยวะใด ● เป็นมะเร็งระยะใด ● แพทย์แนะนำให้รักษาด้วยวิธีการใด ● โอกาสที่การรักษาจะมีผลสำเร็จมีมากน้อยเพียงใด ● มีวิธีการอื่นในการรักษาอีกหรือไม่ ● การรักษาจะทำเมื่อไหร่ และที่ไหน ● รายละเอียดของการรักษา เช่น ชื่อยาและขนาดยาที่รับประทาน ตัวยาที่ให้เป็นเคมีบำบัด จำนวนวันและระยะห่างที่ต้องมารับการฉายแสง รายละเอียดการผ่าตัดก้อนมะเร็งและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ● จะต้องรับการรักษานานเท่าใด ● อาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากการรักษา มีอะไรบ้าง และมีวิธีการป้องกัน หรือจัดการอย่างไร ● อาการปวดจะดูแลอย่างไร ● การรักษาจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร เช่น จะทำงานได้เหมือนเดิมหรือไม่ ● อาหารชนิดใดที่ควรรับประทาน อาหารชนิดใดห้ามรับประทาน ● ค่ารักษาพยาบาล และการใช้สิทธิประกันสุขภาพเพื่อการรักษา |
อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำพาให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดีที่สุดได้ เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้นมีที่มาจากหลากหลายปัจจัย การแก้ไขก็ต้องแก้ไขด้วยปัจจัยที่หลากหลายเช่นกัน พลังบวกในความคิดและจิตใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับโรค
การคิดในแง่บวกเกี่ยวกับโรคมะเร็งว่าเป็นโรคเรื้อรัง มีความหวังกับการรักษาอยู่เสมอ ไม่ท้อ ไม่ถอดใจ พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เช่น ไม่เครียด นอนพักผ่อนให้มากขึ้น ออกกำลังกายเบาๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ล้วนส่งผลดีต่อการรักษา