บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา |
ในบทความก่อนหน้านี้ ได้พูดถึง 4 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมะเร็ง ได้แก่ “สุขภาพดีเลือกได้”, “มะเร็งค้นหาได้”, “มะเร็งรักษาได้” และ “เมื่อเป็นมะเร็ง ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนทุกคน เมื่อเกิด เติบโตขึ้น มีอายุเพิ่มมากขึ้นทุกวัน อาจได้ผ่านพบประสบการณ์ที่คนใกล้ชิดและคนรอบข้างต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง เชื่อว่าหลายคนคงกลับมาย้อนนึกถึงตัวเองและตั้งคำถามในใจว่าเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นมะเร็ง หรือถ้ามะเร็งกำลังแอบซ่อนอยู่ในร่างกายเราจะรู้ได้อย่างไร ถ้าเราเป็นมะเร็งขึ้นมา เราจะเลือกวิธีการรักษาให้ตัวเองอย่างไร และเราจะใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปอย่างไร
วันนี้มาคุยกันในประเด็นแรกก่อน คือ สุขภาพดีเลือกได้ จะต้องทำอย่างไร เราจึงจะไม่เป็นมะเร็ง
ทางการแพทย์นั้น มะเร็งถือเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบครัวผู้ป่วยมะเร็งมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรง ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ ค่ายามะเร็ง ค่ายา และเวชภัณฑ์อื่นๆ เพื่อรักษาประคับประคองอาการ และค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหารเสริม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการกินอยู่ ค่าใช้จ่ายของผู้ดูแล รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพหารายได้ของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลเมื่อต้องพากันเทียวเข้า-ออกโรงพยาบาลเพื่อติดตามการรักษา
“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นความจริงเสมอในทุกเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ ในเรื่องมะเร็งก็เช่นเดียวกัน การป้องกันไม่ให้เป็นโรคมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทคโนโลยีการรักษาที่ดี หากมีการดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจให้ดี ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจะลดลง ลดโอกาสที่จะต้องสูญเสียเงินทอง ถือเป็นลาภของชีวิตอย่างหนึ่ง
การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมะเร็งเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานของร่างกาย การเสริมภูมิต้านทานที่ดีให้กับร่างกายในทุกวัน ถือเป็นการเตรียมตัวรับมือกับมะเร็งได้ดีที่สุด จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจในเรื่องพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ สุขอนามัยร่างกาย : ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รักษาความสะอาดร่างกาย อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หากเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์ สุขภาพจิต : ควรมีสติ ทำสมาธิ ทำใจให้สงบ มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง และมีอารมณ์ดีอยู่เสมอ |
นอกจากพยายามทำดีกับร่างกายและจิตใจแล้ว ก็ต้องพยายามหลีกหนีความเสี่ยงที่จะเข้ามาคุกคามร่างกายและจิตใจ ที่จะเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งด้วย ได้แก่
1.ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ (เสี่ยงมะเร็งปอด) หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา (เสี่ยงมะเร็งตับ)
2.ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารปิ้งย่างรมควัน (เสี่ยงมะเร็งลำไส้) อาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดดิบๆ ไม่ปรุงให้สุก (เสี่ยงพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี) ถั่วลิสงคั่วป่น (เสี่ยงมะเร็งตับ)
3.ควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ปริมาณมาก (เสี่ยงมะเร็งลำไส้) อาหารหวานจัด หรืออาหารไขมันสูงในปริมาณมาก (คนอ้วนเสี่ยงต่อมะเร็งเพิ่มขึ้น เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)
4.ควรหลีกเลี่ยงความตึงเครียด (เสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และยังพาให้คนรอบข้างเครียดไปด้วย)
5.ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่ป้องกัน หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนมากกว่า 4 คน (ผู้หญิงเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ผู้ชายเสี่ยงต่อมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ และยังเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ)
6.ควรหลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือเขตโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารสังเคราะห์สารเคมีอันตราย (เสี่ยงมะเร็งปอด)
7.ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน (เสี่ยงมะเร็งผิวหนัง)
8.ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนเสริม หรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ (เสี่ยงมะเร็งเต้านม)
9.ควรหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ (ไม่ยอมออกกำลังกาย อ้วน เครียด เสี่ยงมะเร็งหลายชนิด)
จะเห็นได้ว่า เส้นทางสุขภาพดี และ หนทางห่างไกลมะเร็งนั้น มีหลายวิธี ให้เราเลือกได้ทุกวัน
____________________________________