บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา |
จากบทความที่แล้ว “สุขภาพดีเลือกได้” บอกถึงวิธีดูแลสุขภาพให้ดี ป้องกันตัวเองให้ห่างไกลมะเร็ง แต่หลายคนยังคงรู้สึกว่ามะเร็งไม่ได้อยู่ห่างไกลตัวเราเกินไปนัก อาจจะสงสัยและอยากจะค้นหาว่ามีมะเร็งแอบซ่อนอยู่ตรงไหนของร่างกาย...มะเร็งค้นหาได้ จริงหรือไม่
การไปตรวจสุขภาพประจำปีของบางคนอาจเต็มไปด้วยความอยากรู้ และอยากให้แพทย์ ”ตรวจหมดเลย” “ตรวจทุกอย่างเลย” แต่ในใจก็ภาวนาไม่อยากให้ตรวจพบว่าตัวเองเป็นอะไรเลยเช่นกัน ความจริงเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปีตามรายการหรือแพ็คเกจต่างๆ ของแต่ละโรงพยาบาล คือเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ตามอายุ เพศ และประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน
เช่น คนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป เบื้องต้นควรได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินดัชนีมวลกาย ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจไขมันในเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด หากมีความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง เช่น เอดส์ ซิฟิลิส วัณโรค โรคตับ โรคไต แพทย์ก็จะพิจารณาสั่งตรวจเพิ่มเติม ซึ่งโรคต่างๆที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีมักเป็นโรคเรื้อรัง โรคพบบ่อย และมีความคุ้มค่าในการตรวจคัดกรองหรือค้นหาโรค เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่คนเป็นกันมาก ถ้าตรวจเจอเร็ว รักษาก่อน ควบคุมโรคได้ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอัมพฤกษ์อัมพาต
การประเมินความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจคัดกรองหรือค้นหามะเร็งทำได้เฉพาะมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น การตรวจอุจจาระดูเลือดที่ปนมาในอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ หากเป็นผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจ Pap smear เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และควรตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ฉะนั้นจึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าผลการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นปกติ แต่ระหว่างปีมีอาการไม่สบายและตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง บางคนโชคร้ายพบมะเร็งในระยะท้ายๆ โดยไม่แสดงอาการที่ชัดเจนมาก่อน หรือไม่แสดงความผิดปกติให้พบเห็นได้ในสิ่งที่ตรวจตามรายการตรวจสุขภาพประจำปี
ส่วนการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งที่มีการเจาะเลือดนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น ค่า CEA (สารบ่งชี้มะเร็งลำไส้) ค่า AFP (สารบ่งชี้มะเร็งตับ) ค่า CA12-5 (สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่) หรือ ค่า PSA (สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก) อาจถูกบรรจุไว้ในรายการตรวจสุขภาพให้เลือกตรวจเพิ่มและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยทั่วไปข้อแนะนำทางการแพทย์ไม่นำค่าสารบ่งชี้มะเร็งมาใช้ตรวจคัดกรองในคนที่อาการปกติ และไม่ได้มีอาการที่น่าสงสัยเกี่ยวกับมะเร็ง เพราะค่าเหล่านี้มีความไวและความจำเพาะต่ำ อธิบายให้ง่ายขึ้น ก็คือ คนที่เป็นมะเร็งอยู่ อาจมีค่าสารบ่งชี้มะเร็งปกติก็ได้ ส่วนคนที่สุขภาพดีเป็นปกติอาจมีค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงจากสาเหตุอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายหรือจากสิ่งแวดล้อมก็ได้ ในคนที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้วค่าสารบ่งชี้มะเร็งมีประโยชน์ในการติดตามผลการรักษา หรืออาจเป็นสัญญาณการติดตามที่บอกว่ามีการแพร่กระจายของโรค แต่ในคนปกตินี่สิ ถ้าตรวจเจอค่าสารบ่งชี้มะเร็งผิดปกติขึ้นมา เช่น มีค่าสูงกว่าปกติเพียงเล็กน้อย ก็นำความกังวลมาให้อย่างมหาศาล ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ พาให้ตัวเองต้องแสวงหาการตรวจเพิ่มเติม เสียเงิน เสียเวลาไปกับการตรวจพิสูจน์ต่างๆ โดยสุดท้ายอาจไม่ได้มีมะเร็งในร่างกาย แต่ได้ความเครียดและโรคที่มากับความเครียดเป็นของแถม
เมื่อจะไปตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการตรวจคัดกรองโรคที่พบบ่อยและโรคมะเร็ง ควรมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนี้ ขั้นแรก แพทย์จะซักประวัติอาการผิดปกติ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา ประวัติโรคในครอบครัว (ญาติสายตรง คือ พ่อ แม่ พี่น้องที่มีพ่อแม่เดียวกัน) บางแห่งจะซักประวัติเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เช่น ที่อยู่อาศัย (เขตเมืองที่มีมลพิษ) การประกอบอาชีพ (เกี่ยวกับการสัมผัสสารเคมี) การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารไม่สุก อาหารปิ้งย่าง อาหารหมักดอง ถั่วลิสงป่น (อาจมีพยาธิหรือสารปนเปื้อน) ควรให้ข้อมูลแก่แพทย์โดยละเอียด หากสังเกตพบอาการที่ผิดปกติในร่างกาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เช่น น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง การขับถ่ายผิดปกติ การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายโดยละเอียด ควรให้ความร่วมมือแจ้งอาการหรือสิ่งผิดปกติในร่างกาย เช่น ก้อนผิดปกติที่ตำแหน่งต่างๆของร่างกาย อาการท้องอืดแน่นท้อง การตรวจร่างกายมีรายละเอียดแตกต่างกันตามเพศ ผู้หญิงมีการตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก ผู้ชายมีการตรวจทางทวารหนัก เพื่อคลำต่อมลูกหมาก เมื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการตามรายการ ร่วมกับข้อมูลและสิ่งที่ตรวจพบ ในขั้นตอนนี้สามารถสอบถามแพทย์ถึงข้อสงสัยต่างๆ ข้อดี ข้อเสียของการตรวจเพิ่มเติมบางรายการ และพิจารณาว่าควรตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง และเมื่อผลการตรวจเบื้องต้นออกมาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเพิ่มเติมต่อไปถ้าพบว่ามีสิ่งผิดปกติ เมื่อรู้ข้อมูลนี้แล้ว แต่ละคนก็คงจะสามารถคิดไตร่ตรอง พูดคุยปรึกษากับแพทย์ และเลือกตรวจสุขภาพประจำปี ที่เหมาะสมกับตนเองได้โดยไม่เป็นการสิ้นเปลืองจนเกินไป หรือนำความลำบากใจมาให้ในภายหลัง สรุปว่า มะเร็งค้นหาได้ (บางชนิด) และวิธีการค้นหามะเร็งได้ดีที่สุดคือ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเอง และเข้ารับตรวจสุขภาพประจำปีอย่างเหมาะสม |