xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์บอกรักเเม่กระตุ้นน้ำตาเเห่งความสุข/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากคอลัมน์ Learn&Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health Well Being ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 สิงหาคม 2558)

ช่วงวันแม่ปีนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษนะครับ เริ่มจากการเปิดกิจกรรมระดับปรากฏการณ์คือ โครงการ “ปั่นเพื่อแม่” (Bike for MOM) ที่ภาครัฐรณรงค์จัดกิจกรรมการขี่จักรยานเพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 83 พรรษา

มีประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานรวม 249,863 คน และในวันจริง 16 สิงหาคม คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ทำลายสถิติโลกที่ไต้หวันเคยทำไว้ได้แค่ 7 หมื่นคนจนบันทึกเป็นประวัติศาสตร์

นั้นเป็นผลเชิงปริมาณที่น่าชื่นชม แต่ในเชิงคุณภาพที่เป็นผลลัพธ์จากการจัดงาน “วันแม่แห่งชาติ” ก็คือ สร้างรับรู้และตระหนักในคุณค่าความสำคัญของ “พระคุณแม่” ที่ทุกคนเกี่ยวข้องนับจากการเป็นต้นกำเนิดชีวิต ต่อเนื่องถึงความรักความผูกพันที่ได้รับการเลี้ยงดู ช่วยเหลือและสนับสนุนจนเจริญวัยทั้งร่างกายและจิตใจ

โดยเฉพาะอย่างปีนี้เราได้ประจักษ์ชัดถึงพลังของโซเชียลมีเดีย ที่บริษัทชั้นนำกว่า 10 แห่งได้ลงทุนผลิตวิดีโอเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างสรรค์สังคม หรือ CSR ในลักษณะการกระตุ้นจิตสำนึก และการแสดงความรักต่อแม่ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของทุกคน

เพราะแม่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนับจากทุกคนเกิดมา หนังโฆษณาหลายชิ้นจากผู้สร้างฝีมือดีจึงสามารถใช้เรื่องราวชีวิตเร้าอารมณ์ให้ผมนึกถึงแม่ตัวเองจนน้ำตาซึมได้อย่างประทับใจ

คลิปวิดีโอโฆษณาที่สังคมมีการพูดถึง และส่งต่อกันมากมายรายแรกที่ผมขอนำมาบอกเล่าก็คือเรื่อง “พนักงานร้านอาหารก็มีแม่” ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ศกนี้ ได้เค้นอารมณ์แรงขนาด เช้าวันรุ่งขึ้นก็ติดอันดับยอดนิยมของยูทิวบ์ มีคนพูดถึง และส่งต่อทางเฟซบุ๊กอย่างคึกคัก ผ่านสายตาคนเกือบ 3 ล้านวิว



เนื้อหาหนังโฆษณาเรื่องนี้บอกเล่าการให้พนักงานทำแบบ สอบถามด้วยคำถามเชื่อมโยงถึงแม่ เช่น

• คุณทำงานเดือนละกี่วัน?
• ปัจจุบันคุณอยู่กับแม่หรือไม่?
• เรื่องสุดท้ายที่คุยกับแม่เรื่องอะไร?
• คุณหัวเราะกับแม่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
• คุณรู้ไหมว่าแม่ชอบกินอะไร?
• คุณเคยบอกรักแม่หรือไม่?
• อะไรคือสิ่งที่ทำให้แม่คุณมีความสุข?
• อะไรคือสิ่งที่อยากทำ หากคุณไม่ได้กินข้าวกับแม่? เป็นต้น

เจอคำถามจี้ใจแบบนี้ก็เล่นเอาพนักงานส่งใจนึกถึงแม่ตัวเองจนเขียนตอบคำถามทั้งน้ำตา เพราะพนักงานในธุรกิจบริการที่มาจากต่างจังหวัดย่อมอยู่ห่างไกลจากแม่ และไม่มีโอกาสทานอาหารใกล้ชิด

แม้ “วันแม่แห่งชาติ” จะเป็นวันหยุดแต่พวกเขาและเธอก็ต้องทำงานตามหน้าที่ ตอนจบของหนังเราจึงได้เห็นภาพที่ทางบาร์บีคิว พลาซ่า ให้โอกาสพนักงานพาแม่จากบ้านเกิดมาทานอาหารมื้อที่ดีที่สุดในวันเวลา 1 เดือนก่อนวันแม่ และยื่นกระดาษคำตอบที่อยากบอกความในใจให้แม่อ่าน

แม่ลูกทุกคู่ก็โผเข้ากอด และหลั่งน้ำตาแห่งความประทับใจกันทุกคู่

ตัวอย่างเด่นอีกรายเป็นหนังโฆษณาของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้ผลิตอาหาร “แบรนด์ ซีพี” ด้วยเรื่อง “ทุกคำมีความหมาย” ชูแนวคิดว่า “ความสำคัญของอาหารไม่เพียงแต่ทำให้เราอิ่มท้อง แต่ในทุกมื้อ...ทุกคำ ล้วนแฝงด้วยความหมายอันลึกซึ้ง” ก็ได้กระแสตอบรับทางเว็บไซต์ยูทิวบ์มียอดผู้ชมกว่า 2 ล้านวิวแล้ว



เรื่องราวได้บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวที่มีความคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้ทั้งคู่ ไม่ลงรอยกัน จนมีการทะเลาะกัน และลูกสาวหนีออกจากบ้าน ด้วยความหิวลูกสาวเดินมาหยุดที่ร้านอาหารตามสั่ง แล้วเธอต้องประหลาดใจเมื่อคนขายทำเมนูจานโปรดที่แม่ทำให้เธอทานเป็นประจำขนาดรู้ว่าเธอชอบกินข้าวผัดไม่ใส่ต้นหอม

เรื่องเฉลยว่าแม่ออกตามหาลูกสาวไปทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งผ่านมาเจอคนขายอาหารร้านนี้และได้บอกว่า ถ้าเจอลูกสาว ถ้าเธอหิว ช่วยทำอาหารจานนี้ให้เธอทานด้วย “อาหารจานโปรด” จึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ทำให้ลูกได้สำนึกและรู้ซึ้งถึงความรักของแม่ที่ทำทุกอย่างให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอมา

ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าจิตวิทยาสังคมเมืองไทยเรามีพัฒนาการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่านิยมที่ดีของวัฒนธรรมไทย เรื่องความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณ ถ้ามีการสร้างความเข้าใจและมีกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะสร้างเสริมค่านิยมไปสู่รุ่นหลาน และสืบเนื่องเป็นรุ่นๆ ไป

ก็อย่างที่ วนิษา เรช หรือ “หนูดี” มีความเห็นในนิตยสาร Secret ว่า “ความสุขของคนเป็นพ่อแม่ ไม่อาจแยกจากความสุขของคนเป็นลูกได้ หากวันไหนเราได้เป็นพ่อแม่ด้วยตัวเองแล้วจะพบว่าอารมณ์และความรู้สึกของเรานั้นขึ้นอยู่กับความสุขและความสำเร็จของลูกจริงๆ”

ดังนั้น การที่กิจการมีหนังโฆษณาที่ไม่ได้มุ่ง “ขายของ” แต่ได้ลงทุนผลิตสื่อแนวสร้างสรรค์สังคม กระตุกความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ ในวาระโอกาสวันแม่แห่งชาติเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าต่อสังคมย่อมมีผลเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรว่า ที่รับผิดชอบต่อสังคม (มี CSR) ด้านส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น