• พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 9 เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์ แสดงปางห้ามญาติหรืออภัยมุทราด้วยพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียว ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปแบบสุโขทัย โดยมีพระพักตร์เป็นวงรี พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม และมีพระกรรณยาว พระเศียรประดับด้วยเม็ดพระศกก้นหอย มีเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวไฟอยู่เบื้องบน
องค์พระพุทธรูปมีพระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก โดยครองอุตราสงค์เรียบห่มคลุมพระอังสา ปล่อยชายอุตราสงค์ให้ห้อยตกลงมาเป็นเส้นอ่อนโค้งด้านข้างพระวรกายทั้งสองข้าง อันตรวาสกที่ทรง เรียบเช่นเดียวกับอุตราสงค์ คงปรากฏขอบสองชั้นที่บั้นพระองค์และจีบทบห้อยลงมาเบื้องหน้ายาวเกือบจรดข้อพระบาท
พระพุทธรูปประทับยืนบนปัทมาสน์ประกอบด้วยกลีบบัวหงายและกลีบบัวคว่ำ มีเกสรบัวประดับ ปัทมาสน์นี้วางซ้อนอยู่เหนือฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมเบื้องล่าง สูงจากฐานถึงพระรัศมี 31.95 ซม. หล่อด้วยเงินและกะไหล่ทอง
ตามประวัติกล่าวว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมานั้น ยังมิได้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขึ้นในรัชกาลนี้เลย
ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการสร้าง พระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารนี้ นายแก้ว หนองบัว เป็นผู้ปั้นหล่อ และหลังจากได้ทอดพระเนตรห่นปั้นและทรงแก้ไขตามพระราชประสงค์แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2530
เมื่อเสร็จการแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานไว้กับพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร
โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช 1289 รัตนโกสินทรศก 146
• พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว ความสูงถึงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว หล่อด้วยเงิน ประทับเหนือฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่จำหลักลายลงยาอยู่ด้านหน้า ทรงตาลปัตรพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ที่ฐานพระพุทธรูปด้านหน้า มีจารึกเป็นคาถาที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผูกถวายว่า “ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความมีขันติ เป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้ ผู้บรรลุถึงความสำเร็จนั้น เป็นบัณฑิต ได้รับความชนะมาก ย่อมให้เกิดความสุขยินดี”
โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯทรงเททองและเงิน หล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
• พระพุทธนาราวันตบพิตร พระพุทธรูปแห่งการทรงผนวช
พระพุทธนาราวันตบพิตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร ทำด้วยโลหะผสมทองทั้งองค์พระพุทธรูปและฐานทั้ง 3 ชั้น สูงจากพระรัศมีถึงพระบาท 15.5 นิ้ว ฐานกลีบบัวและฐานสิงห์สูงรวม 4 นิ้ว ฐานปัทม์สูง 3.5 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งประดับอยู่เหนือฐานสิงห์ทรงกลม ฐานส่วนล่างสุดเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สร้างตามพระราชประเพณี ซึ่งเริ่มมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ โปรดให้สร้างพระพุทธรูปเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่ได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เมื่อทรงลาผนวชแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้จารึกที่ส่วนท้องไม้ของฐานชั้นล่างว่า
“พระพุทธนาราวันตบพิตร ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๒๔๙๙ พรรษา วันที่ ๒๒ ตุลาคมมาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จมาประทับบำเพ็ญสมณปฏิบัติ ณ พระปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสถาปนาพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ขึ้นไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนาราวันตบพิตร เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระปั้นหยา เป็นพระราชกุศลสืบไป”
พระพุทธนาราวันตบพิตรประดิษฐานอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา จนถึง พ.ศ. 2507 พระพุทธนาราวันตบพิตรได้หายไป ทางวัดได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่เมื่อถึงวันที่ 2พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำห่อของสองห่อมาฝากพระภิกษุในวัด ขอให้ถวายเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสแก้ห่อออกมา ปรากฏว่าเป็นพระพุทธนาราวันตบพิตรและฐานที่หายไป จึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตฉลองพระพุทธนาราวันตบพิตร ในคราวเดียวกับการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507
• พระสมเด็จจิตรลดา
สมเด็จจิตรลดา หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อจิตรลดา” เป็นพระพิมพ์ผง ศิลปะแบบสุโขทัย ปางสมาธิ พระพักตร์ทรงผลมะตูม ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือแถวเม็ดไข่ปลาและดอกบัวบาน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน จะเฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี 2 ขนาด คือ พิมพ์เล็ก ขนาดกว้าง 1.4 ซม. สูง 2.1 ซม. หนา 0.5 ซม. และพิมพ์ใหญ่ ขนาดกว้าง 2.2 ซม. สูง 3.2 ซม. หนา 0.5-1 ซม.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างแม่พิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง โดยทรงใช้ดินน้ำมันมาปั้นเป็นต้นแบบ นับว่าเป็นพิมพ์ที่มีความงดงามมาก
สำหรับส่วนผสมองค์พระนั้นได้นำมวลสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศไทยมาผสมเพื่อจัดสร้าง ประกอบด้วย
1. มวลสารศักดิ์สิทธิ์ส่วนพระองค์ 5 สิ่ง ได้แก่
- ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวายในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตลอดฤดูกาลจนถึงคราวเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่
- เส้นพระเจ้าซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง (เส้นพระเจ้า หมายถึง เส้นผม และทรงพระเครื่องใหญ่ หมายถึง ตอนตัดผม)
- ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล
- สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์
- ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง
2. มวลสารศักดิ์สิทธิ์ส่วนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร
กระทรวงมหาดไทยได้นำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ จากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด ทั่วพระราชอาณาจักร รวม 120 แห่ง อันได้แก่ ดิน หรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา เกสรดอกไม้จากที่บูชา เทียนบูชาพระ และน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น นับว่าเป็นพระพิมพ์องค์แรกของเมืองไทย ที่นำมวลสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศมาผสมสร้างเป็นองค์พระ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว เข้าเครื่องบดจนละเอียด แล้วทรงเทมวลสารที่เตรียมไว้ลงในแม่พิมพ์ หากองค์พระที่ออกมาจากแม่พิมพ์นั้นขอบข้างองค์ยังไม่เรียบร้อย พระองค์จะทรงนำมาเจียรแต่ง และขัดเรียบด้านหลังจนสมบูรณ์งดงาม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเป็นองค์พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงค์ ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด ทหารและตำรวจที่ปฏิบัติราชการ เพื่อไว้สักการบูชา โดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า “การทำงานอะไรก็ตาม ขอให้ทำเหมือนเช่นการปิดทองหลังองค์พระ” และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร ซึ่งลงพระปรมาภิไธยควบคู่ไปกับองค์พระด้วย หลวงพ่อจิตรลดานี้สร้างขึ้นและพระราชทานระหว่างปี พ.ศ. 2508-2513 เท่านั้น
ในคราวที่เหล่าทหารกองพลอาสาสมัครในสงครามเวียดนามผลัดที่ 2 ได้เข้าเฝ้าฯ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2512 เพื่อกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการสงครามในประเทศเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาให้กับบรรดาเหล่าทหาร และทรงมีพระบรมราโชวาทถึงความสำคัญของพระสมเด็จจิตรลดาว่า
“...องค์พระนี้ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้มาจากทั่วราชอาณาจักร เป็นผงที่ได้มาจากสถูปเจดีย์ จากพระพุทธรูปสำคัญๆ จากแหล่งและพิธีสำคัญ จากผงธูป ผงดอกไม้ ที่ประชาชนได้นมัสการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผงต่างๆที่ได้จากปูชนียสถานต่างๆ ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าได้อยู่ใกล้ได้อยู่ติดองค์สถูปเจดีย์กับองค์พระพุทธรูปอยู่เป็นเวลานาน และเป็นสิ่งที่ประชาชนได้เคารพบูชาเป็นจำนวนล้านๆคน ก็เท่ากับทั่วทุกคนในประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนา การที่เอาผงธูปดอกไม้มาก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นกำลังใจ เป็นอำนาจจิตที่ประชาชนนับล้านคน ได้เพ่งลงใส่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ประชาชนเหล่านั้นได้บูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ การบูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์นั้นก็ทำให้เกิดผลดี...”
• พระพุทธนวราชบพิตร
พระพุทธนวราชบพิตร เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. พระเศียรประดับด้วยเม็ดพระศกก้นหอย วงพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระกรรณยาว พระนลาฏแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรทอดต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แบบธรรมชาติ พระหนุมน ครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเปิดพระอุระด้านขวา พระสังฆาฏิเล็กแนบแบนยาวเลยพระนาภี ทำขาหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ พระวรกายอวบ พระอุระผึ่งผาย วางพระหัตถ์ขวาทอดคว่ำบนพระชานุด้านขวา พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย ที่ฐานเป็นรูปกลีบบัวหวายงอนโค้ง ซึ่งโปรดให้บรรจุพระพิมพ์ “หลวงพ่อจิตรลดา” หนึ่งองค์ไว้ที่ฐานบัวหงายตรงกลางด้านหน้าขององค์พระพุทธรูป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้รักษาธรรมเนียมการทูลเกล้าฯถวายพระแสงราชศัตราประจำเมืองไว้ แต่มิได้พระราชทานพระแสงราชศัตราประจำเมืองเพิ่มเติมอีก ด้วยทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของชาวไทย และเป็นที่หมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
โดยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมาองค์นี้ และเมื่อทรงพินิจพิจารณาพุทธลักษณะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระพุทธรูปขึ้น ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นจำนวน 100 องค์
พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยอธิษฐานปิดทอง และทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำรัชกาล ซึ่งมีนิมิตหมายแสดงความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์พระประมุขกับพสกนิกรของพระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯไปพระราชทานพระพุทธรูปนี้ เพื่อประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ความบางตอนว่า “...พระพุทธนวราชบพิตร นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติไทย และความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนชาวไทยอีกด้วย...”
• พระพุทธรูป ภปร.
ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้ดัดแปลงแก้ไขพระพุทธลักษณะจากการสร้างครั้งที่ 1 ของวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี ในครั้งนี้ทรงมีแนวพระราชดำริแก่นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ผู้ปั้นว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ควรมีพระพุทธลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ และให้ดูมีเมตตา ใครที่ชมพระพุทธรูปองค์นี้ ถ้ามีจิตใจอ่อนไหวก็ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น และมีความรู้สึกสงบเยือกเย็นสุขุม
ผู้ปั้นหุ่นได้นำลักษณะเด่นของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน และลังกา มาผสมผสานกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด และเมื่อได้พุทธลักษณะจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยแล้ว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2508 โดยโปรดให้หล่อขึ้น 2 ขนาด คือ ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร.นี้ องค์พระประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ใต้กลีบบัวเป็นฐานเท้าสิงห์ ที่ผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และที่ฐานรองพุทธบัลลังก์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานภาษิตจารึกไว้ว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกขนฺติ” มีความหมายว่า “คนไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี” ส่วนที่ฐานด้านหลังมีแผ่นจารึกข้อความว่า “เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508”
กล่าวได้ว่า พระพุทธรูป ภปร.วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพราะเป็นไปตามพระราชนิยม
ฉะนั้น พระพุทธรูปปางประทานพรนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ครบไตรรงค์ กล่าวคือ องค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นอุทเทสิกเจดีย์แห่งพระพุทธเจ้า ย่อมหมายถึงพระพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย พระปรมาภิไธย ภปร.เหนือผ้าทิพย์ ย่อมหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขแห่งชาติ และองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พระราชภาษิตซึ่งจารึกอยู่ที่ฐานภายใต้ผ้าทิพย์ ย่อมหมายถึงชาติไทยพร้อมทั้งธรรมะ ที่รักษาความเป็นไทยให้คงอยู่ พระพุทธรูปนี้จึงงมีคุณค่าทางศิลปะ ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ และทางคุณธรรมแห่งจิตใจ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 9 เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์ แสดงปางห้ามญาติหรืออภัยมุทราด้วยพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียว ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปแบบสุโขทัย โดยมีพระพักตร์เป็นวงรี พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม และมีพระกรรณยาว พระเศียรประดับด้วยเม็ดพระศกก้นหอย มีเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวไฟอยู่เบื้องบน
องค์พระพุทธรูปมีพระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก โดยครองอุตราสงค์เรียบห่มคลุมพระอังสา ปล่อยชายอุตราสงค์ให้ห้อยตกลงมาเป็นเส้นอ่อนโค้งด้านข้างพระวรกายทั้งสองข้าง อันตรวาสกที่ทรง เรียบเช่นเดียวกับอุตราสงค์ คงปรากฏขอบสองชั้นที่บั้นพระองค์และจีบทบห้อยลงมาเบื้องหน้ายาวเกือบจรดข้อพระบาท
พระพุทธรูปประทับยืนบนปัทมาสน์ประกอบด้วยกลีบบัวหงายและกลีบบัวคว่ำ มีเกสรบัวประดับ ปัทมาสน์นี้วางซ้อนอยู่เหนือฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมเบื้องล่าง สูงจากฐานถึงพระรัศมี 31.95 ซม. หล่อด้วยเงินและกะไหล่ทอง
ตามประวัติกล่าวว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นมานั้น ยังมิได้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขึ้นในรัชกาลนี้เลย
ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการสร้าง พระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารนี้ นายแก้ว หนองบัว เป็นผู้ปั้นหล่อ และหลังจากได้ทอดพระเนตรห่นปั้นและทรงแก้ไขตามพระราชประสงค์แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2530
เมื่อเสร็จการแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานไว้กับพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร
โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ตรงกับขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช 1289 รัตนโกสินทรศก 146
• พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ภายใต้ฉัตร 5 ชั้น หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว ความสูงถึงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว หล่อด้วยเงิน ประทับเหนือฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ขนาดใหญ่จำหลักลายลงยาอยู่ด้านหน้า ทรงตาลปัตรพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ที่ฐานพระพุทธรูปด้านหน้า มีจารึกเป็นคาถาที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผูกถวายว่า “ความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความมีขันติ เป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้ ผู้บรรลุถึงความสำเร็จนั้น เป็นบัณฑิต ได้รับความชนะมาก ย่อมให้เกิดความสุขยินดี”
โดยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯทรงเททองและเงิน หล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
• พระพุทธนาราวันตบพิตร พระพุทธรูปแห่งการทรงผนวช
พระพุทธนาราวันตบพิตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร ทำด้วยโลหะผสมทองทั้งองค์พระพุทธรูปและฐานทั้ง 3 ชั้น สูงจากพระรัศมีถึงพระบาท 15.5 นิ้ว ฐานกลีบบัวและฐานสิงห์สูงรวม 4 นิ้ว ฐานปัทม์สูง 3.5 นิ้ว ประดิษฐานบนฐานรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ซึ่งประดับอยู่เหนือฐานสิงห์ทรงกลม ฐานส่วนล่างสุดเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สร้างตามพระราชประเพณี ซึ่งเริ่มมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ โปรดให้สร้างพระพุทธรูปเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่ได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
ดังนั้น ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชเป็นพระภิกษุระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เมื่อทรงลาผนวชแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและหล่อพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง และโปรดให้จารึกที่ส่วนท้องไม้ของฐานชั้นล่างว่า
“พระพุทธนาราวันตบพิตร ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๒๔๙๙ พรรษา วันที่ ๒๒ ตุลาคมมาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จมาประทับบำเพ็ญสมณปฏิบัติ ณ พระปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสถาปนาพระพุทธปฏิมาพระองค์นี้ขึ้นไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อ ณ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามว่า พระพุทธนาราวันตบพิตร เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระปั้นหยา เป็นพระราชกุศลสืบไป”
พระพุทธนาราวันตบพิตรประดิษฐานอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา จนถึง พ.ศ. 2507 พระพุทธนาราวันตบพิตรได้หายไป ทางวัดได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่เมื่อถึงวันที่ 2พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งนำห่อของสองห่อมาฝากพระภิกษุในวัด ขอให้ถวายเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสแก้ห่อออกมา ปรากฏว่าเป็นพระพุทธนาราวันตบพิตรและฐานที่หายไป จึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตฉลองพระพุทธนาราวันตบพิตร ในคราวเดียวกับการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507
• พระสมเด็จจิตรลดา
สมเด็จจิตรลดา หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อจิตรลดา” เป็นพระพิมพ์ผง ศิลปะแบบสุโขทัย ปางสมาธิ พระพักตร์ทรงผลมะตูม ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือแถวเม็ดไข่ปลาและดอกบัวบาน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน จะเฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี 2 ขนาด คือ พิมพ์เล็ก ขนาดกว้าง 1.4 ซม. สูง 2.1 ซม. หนา 0.5 ซม. และพิมพ์ใหญ่ ขนาดกว้าง 2.2 ซม. สูง 3.2 ซม. หนา 0.5-1 ซม.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างแม่พิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง โดยทรงใช้ดินน้ำมันมาปั้นเป็นต้นแบบ นับว่าเป็นพิมพ์ที่มีความงดงามมาก
สำหรับส่วนผสมองค์พระนั้นได้นำมวลสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศไทยมาผสมเพื่อจัดสร้าง ประกอบด้วย
1. มวลสารศักดิ์สิทธิ์ส่วนพระองค์ 5 สิ่ง ได้แก่
- ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวายในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตลอดฤดูกาลจนถึงคราวเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่
- เส้นพระเจ้าซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง (เส้นพระเจ้า หมายถึง เส้นผม และทรงพระเครื่องใหญ่ หมายถึง ตอนตัดผม)
- ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล
- สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์
- ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง
2. มวลสารศักดิ์สิทธิ์ส่วนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร
กระทรวงมหาดไทยได้นำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ จากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด ทั่วพระราชอาณาจักร รวม 120 แห่ง อันได้แก่ ดิน หรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา เกสรดอกไม้จากที่บูชา เทียนบูชาพระ และน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น นับว่าเป็นพระพิมพ์องค์แรกของเมืองไทย ที่นำมวลสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศมาผสมสร้างเป็นองค์พระ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว เข้าเครื่องบดจนละเอียด แล้วทรงเทมวลสารที่เตรียมไว้ลงในแม่พิมพ์ หากองค์พระที่ออกมาจากแม่พิมพ์นั้นขอบข้างองค์ยังไม่เรียบร้อย พระองค์จะทรงนำมาเจียรแต่ง และขัดเรียบด้านหลังจนสมบูรณ์งดงาม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเป็นองค์พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงค์ ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด ทหารและตำรวจที่ปฏิบัติราชการ เพื่อไว้สักการบูชา โดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า “การทำงานอะไรก็ตาม ขอให้ทำเหมือนเช่นการปิดทองหลังองค์พระ” และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร ซึ่งลงพระปรมาภิไธยควบคู่ไปกับองค์พระด้วย หลวงพ่อจิตรลดานี้สร้างขึ้นและพระราชทานระหว่างปี พ.ศ. 2508-2513 เท่านั้น
ในคราวที่เหล่าทหารกองพลอาสาสมัครในสงครามเวียดนามผลัดที่ 2 ได้เข้าเฝ้าฯ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2512 เพื่อกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการสงครามในประเทศเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาให้กับบรรดาเหล่าทหาร และทรงมีพระบรมราโชวาทถึงความสำคัญของพระสมเด็จจิตรลดาว่า
“...องค์พระนี้ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้มาจากทั่วราชอาณาจักร เป็นผงที่ได้มาจากสถูปเจดีย์ จากพระพุทธรูปสำคัญๆ จากแหล่งและพิธีสำคัญ จากผงธูป ผงดอกไม้ ที่ประชาชนได้นมัสการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผงต่างๆที่ได้จากปูชนียสถานต่างๆ ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าได้อยู่ใกล้ได้อยู่ติดองค์สถูปเจดีย์กับองค์พระพุทธรูปอยู่เป็นเวลานาน และเป็นสิ่งที่ประชาชนได้เคารพบูชาเป็นจำนวนล้านๆคน ก็เท่ากับทั่วทุกคนในประเทศไทยที่นับถือพุทธศาสนา การที่เอาผงธูปดอกไม้มาก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นกำลังใจ เป็นอำนาจจิตที่ประชาชนนับล้านคน ได้เพ่งลงใส่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ประชาชนเหล่านั้นได้บูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ การบูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์นั้นก็ทำให้เกิดผลดี...”
• พระพุทธนวราชบพิตร
พระพุทธนวราชบพิตร เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. พระเศียรประดับด้วยเม็ดพระศกก้นหอย วงพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระกรรณยาว พระนลาฏแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรทอดต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แบบธรรมชาติ พระหนุมน ครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเปิดพระอุระด้านขวา พระสังฆาฏิเล็กแนบแบนยาวเลยพระนาภี ทำขาหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ พระวรกายอวบ พระอุระผึ่งผาย วางพระหัตถ์ขวาทอดคว่ำบนพระชานุด้านขวา พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย ที่ฐานเป็นรูปกลีบบัวหวายงอนโค้ง ซึ่งโปรดให้บรรจุพระพิมพ์ “หลวงพ่อจิตรลดา” หนึ่งองค์ไว้ที่ฐานบัวหงายตรงกลางด้านหน้าขององค์พระพุทธรูป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้รักษาธรรมเนียมการทูลเกล้าฯถวายพระแสงราชศัตราประจำเมืองไว้ แต่มิได้พระราชทานพระแสงราชศัตราประจำเมืองเพิ่มเติมอีก ด้วยทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของชาวไทย และเป็นที่หมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
โดยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมาองค์นี้ และเมื่อทรงพินิจพิจารณาพุทธลักษณะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระพุทธรูปขึ้น ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นจำนวน 100 องค์
พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยอธิษฐานปิดทอง และทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำรัชกาล ซึ่งมีนิมิตหมายแสดงความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์พระประมุขกับพสกนิกรของพระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯไปพระราชทานพระพุทธรูปนี้ เพื่อประดิษฐาน ณ จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ความบางตอนว่า “...พระพุทธนวราชบพิตร นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศชาติไทย และความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนชาวไทยอีกด้วย...”
• พระพุทธรูป ภปร.
ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้ดัดแปลงแก้ไขพระพุทธลักษณะจากการสร้างครั้งที่ 1 ของวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี ในครั้งนี้ทรงมีแนวพระราชดำริแก่นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ผู้ปั้นว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ควรมีพระพุทธลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ และให้ดูมีเมตตา ใครที่ชมพระพุทธรูปองค์นี้ ถ้ามีจิตใจอ่อนไหวก็ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น และมีความรู้สึกสงบเยือกเย็นสุขุม
ผู้ปั้นหุ่นได้นำลักษณะเด่นของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน และลังกา มาผสมผสานกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด และเมื่อได้พุทธลักษณะจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยแล้ว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2508 โดยโปรดให้หล่อขึ้น 2 ขนาด คือ ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร.นี้ องค์พระประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ใต้กลีบบัวเป็นฐานเท้าสิงห์ ที่ผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และที่ฐานรองพุทธบัลลังก์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานภาษิตจารึกไว้ว่า “ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกขนฺติ” มีความหมายว่า “คนไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี” ส่วนที่ฐานด้านหลังมีแผ่นจารึกข้อความว่า “เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508”
กล่าวได้ว่า พระพุทธรูป ภปร.วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพราะเป็นไปตามพระราชนิยม
ฉะนั้น พระพุทธรูปปางประทานพรนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ครบไตรรงค์ กล่าวคือ องค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นอุทเทสิกเจดีย์แห่งพระพุทธเจ้า ย่อมหมายถึงพระพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย พระปรมาภิไธย ภปร.เหนือผ้าทิพย์ ย่อมหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขแห่งชาติ และองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พระราชภาษิตซึ่งจารึกอยู่ที่ฐานภายใต้ผ้าทิพย์ ย่อมหมายถึงชาติไทยพร้อมทั้งธรรมะ ที่รักษาความเป็นไทยให้คงอยู่ พระพุทธรูปนี้จึงงมีคุณค่าทางศิลปะ ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ และทางคุณธรรมแห่งจิตใจ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย กองบรรณาธิการ)