“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพุทธศาสนา ถือเป็นหนึ่งเดียวตลอดรัชสมัยของพระองค์!
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2489 สองเดือนเศษหลัง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะต่อหน้าสังฆมณฑล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน
22 ตุลาคม 2494 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี ด้วยการเสด็จทรงออกผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ทรงรับการบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ได้รับสมณนามจากพระอุปัชฌาย์จารว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นเสด็จประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศ โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัย ตามแบบอย่างพระภิกษุโดยเคร่งครัด
สมเด็จพระญาณสังวรในฐานะพระพี่เลี้ยง ได้เล่าถึงพระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงผนวชไว้ในหนังสือ “ในหลวงของเรา” ว่า
“..สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มอบหมายให้เป็นพระพี่เลี้ยง.. จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้เป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่า “หัวใหม่” ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า “บวชด้วยศรัทธา” เพราะพระองค์ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด.. ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในวัดและนอกวัดไม่ทรงสวมฉลองพระบาท เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง ได้ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆอย่างสมบูรณ์ และทรงรักษาเวลามาก เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ในวันปกติทุกเช้าเย็น เวลา 8.00 น. และ เวลา 17.00 น. ก็จะเสด็จลงโบสถ์ทันที ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดพากันรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด โดยที่ได้ไปประชุมกันในโบสถ์ก่อนเวลาที่จะเสด็จฯ ถึง..”
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวชครานั้น ไม่เพียงแต่พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะยินดีในพระราชกุศลกันอย่างทั่วหน้าเท่านั้น นานาอารยประเทศต่างได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย โดยสำนักข่าวต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก รัฐบาลพม่าซึ่งประชาชนนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับไทย ได้จัดเครื่องสมณบริขารมาทูลเกล้าฯถวายด้วย และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ก็ได้เข้าเฝ้าพระภิกษุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงวัดบวรฯ และได้กราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำอันน่าประทับใจว่า
“ความรู้สึกปีติโสมนัส ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จออกผนวชในครั้งนี้ มิได้มีเฉพาะในหมู่ชาวไทยเท่านั้น หากแต่ชาวอินเดียทั่วประเทศ ก็พากันปีติโสมนัส เพราะการทรงผนวชนี้เป็นการเจริญธรรมของผู้ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ ตามแบบอย่างของชาติเอเชียทั้งมวล.. การทรงผนวชครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจของธรรมิกราช เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงปฏิบัติมาแล้วในอดีต ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันว่า พระพุทธศาสนาสำหรับชาวเอเชีย จะสดใสยืนยงไปอีกชั่วกาลนาน..”
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอุปสมบทนาคหลวงมาตลอด โดยเริ่มปีแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2489ได้เสด็จฯพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มี หม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล หม่อมราชวงศ์ยันตเทพ เทวกุล และ นายเสมอ จิตรพันธ์ เป็นนาคหลวง
ซึ่งในปีต่อๆมา ได้ทรงกำหนดให้เป็นพระราชพิธีพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บรรพชาอุปสมบทนาคหลวงเป็นประเพณีตลอดรัชกาล ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปในพระราชพิธีด้วยพระองค์เองเป็นประจำ หากปีใดเสด็จฯไม่ได้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทนพระองค์
นอกจากนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชประเพณีอีกด้วย นับเป็นการส่งเสริมความเชื่อ ค่านิยมและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของพุทธศาสนา ที่เป็นมรดกของชาติสืบกันมาแต่โบราณ ให้พุทธศาสนิกชนเห็นคุณค่าอนันต์ อีกทั้งร่วมกันอนุรักษ์และจรรโลงให้รุ่งเรืองสืบไป
ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และตามพระราชประเพณี เช่น ทรงพระราชกุศลทรงบาตรในพระราชนิเวศน์ เสด็จถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ และที่เป็นพระราชพิธีตามบูรพขัตติยประเพณี เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น
นอกจากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังเสด็จฯไปในงานพิธีทางศาสนา ที่ประชาชนและทางราชการจัดขึ้นในที่ต่างๆมิได้ขาด อีกทั้งยังทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้น ในโอกาสสำคัญเป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. พระหลวงพ่อจิตรลดา พระพุทธรูปนวราชบพิตร พระพุทธรูปปฏิมาชัยวัฒน์ ประจำรัชกาล เหรียญพระชัยหลังช้าง ฯลฯ พระพุทธรูปเหล่านี้ได้พระราชทานไปตามหน่วยงานต่างๆของรัฐ วัดวาอาราม ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆทั่วประเทศอีกด้วย
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงเป็นเลิศ ในการนำธรรมะมาผสมผสานใช้อย่างกลมกลืน กับพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าในวโรกาสต่างๆ เช่น พระบรมราโชวาทในเรื่องคุณธรรมว่า
“การจะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้เป็นอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่จะทำให้ยวดยานขับเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรม..เป็นเหมือนพวงมาลัยและหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น การที่ประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่า งานสังคมและบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้ยาก แต่ถ้างานใดสังคมใดและบ้านเมืองใดก็ตาม ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย..”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520)
เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและพระสงฆ์นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสมากมาย เช่น
“...การทำนุบำรุงและส่งเสริมพระศาสนานั้น ไม่มีทางใดจะดีจะสำคัญ ยิ่งไปกว่าการธำรงรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัย ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาของประชาชน ควรคำนึงถึงพื้นฐาน ความรู้ จิตใจ และอัธยาศัยของบุคคลแต่ละหมู่เหล่าเป็นพิเศษ ต้องฉลาดเลือกข้อธรรมะที่เหมาะสมแก่พื้นฐานดังกล่าว และที่จะช่วยให้เขาได้รับประโยชน์จริงๆ นำมาอธิบายแนะนำให้ปฏิบัติ เพื่อผลที่ได้รับนั้นจะทำให้เขาบังเกิดศรัทธาและพอใจในความดี และน้อมนำมาปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นหนักขึ้นด้วยตนเอง ส่วนการรับใช้พระสงฆ์นั้น ขอให้ถือหลักว่า การรับใช้ช่วยเหลือสมณสารูปได้ เป็นจุดหมายสำคัญที่แท้จริง สำหรับพุทธมามกชนจะพึงกระทำถวายพระภิกษุสงฆ์..”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2526)
ยังมี พระบรมราโชวาทอันล้ำค่าของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกมากมาย ผมจะนำมาให้อ่านต่อในฉบับหน้า เพื่อรัฐบาล “บิ๊กตู่” กับชาวพุทธทั้งหลาย จะได้น้อมนำมาปฏิบัติ ช่วยกันขจัด “พุทธปลอม-พระปลอม-มารศาสนาสารพัดรูปแบบ” ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อพุทธศาสนา มิให้ลอยนวลต่อไป..