แม้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงเติบโตในต่างแดนและเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อยังทรงพระเยาว์ แต่เมื่อมีโอกาสคุ้นเคยกับหลักการและแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ก็มีพระราชศรัทธายิ่งขึ้น เพราะทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย เหตุผลและสัจธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนา
จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2499 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ที่พระองค์ทรงนับถือโดยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการต่อพระองค์มากนั้น ได้ประชวรลง พระอาการเป็นที่น่าวิตกจนแทบไม่มีหวัง แต่เดชะบุญ ท่านหายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงพระผนวชโดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว จะเป็นที่สมพระราชประสงค์ในอันที่จะทรงแสดงพระราชคารวะ และพระราชศรัทธาในพระองค์ท่านเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงพระผนวช เพื่ออุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณเป็นเวลา 15 วัน นับจากวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
สมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ท่านได้ผนวชร่วมกันกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า “ภูมิพโลภิกขุ” จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด
“เมื่อครั้งที่ทรงผนวชที่วัดบวรฯ ตอนนั้นอาตมาอยู่ร่วมตำหนักเดียวกันกับพระองค์ อาตมาถือเป็นพระใหม่ โดยก่อนหน้านี้อาตมาบวชเป็นเณรมาก่อน 5-6 ปี และเพิ่งมาบวชเป็นพระในปีนั้นพอดี โดยพระราชจริยวัตรของพระองค์ตอนนั้น ทรงตั้งใจปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกประการด้วยความศรัทธาและเคร่งครัด กิจวัตรประจำวันของพระองค์ คือจะเสด็จออกบิณฑบาตทั้งในและนอกวัด แม้พระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์แต่พระองค์ทรงเสด็จออกบิณฑบาตเหมือนพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ไม่มีพิธีรีตรอง และไม่ทรงสวมฉลองพระบาท โดยจะเสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าทุกครั้ง”
ในส่วนของพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ สมเด็จพระวันรัต กล่าวเสริมว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างในขนบธรรมเนียมของพระภิกษุยิ่งกว่าสามัญชนธรรมดา เพราะท่านทรงมีพระขันติอย่างมาก ดังเช่น พระองค์จะทรงนั่งพับเพียบโดยไม่หันฝ่าพระบาทไปทางพระผู้ใหญ่ เนื่องจากพระองค์ทรงให้เกียรติพระสงฆ์ที่บวชก่อน และจะไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบทเป็นท่าอื่น ซึ่งบางครั้งต้องนั่งเป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง สิ่งนี้ถือเป็นขันติธรรมของพระองค์ท่าน
“นอกจากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติประจำทุกวันแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังเสด็จไปในสถานที่สำคัญ เช่น จ.นครปฐม, จ.นครพนม รวมถึงเสด็จไปในสถานที่ที่มีพระเถระผู้ใหญ่ในวัดต่างๆ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นต้น เหล่านี้เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในศาสนกิจทุกประการอย่างดี ทั้งเรื่องกิจนิมนต์และการออกบิณฑบาต โดยก่อนที่พระองค์จะทรงลาผนวช พระองค์ทรงปลูก “ต้นสัก” เป็นอนุสรณ์ ที่บริเวณหน้าตำหนักที่ท่านประทับระหว่างผนวชที่วัดบวรฯ” สมเด็จพระวันรัต กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถถวายสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดอภิธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทุกวันตลอดระยะเวลา 1 เดือน ในเวลา 20.00 น. ณ พระอุโบสถ และเพิ่มรอบในวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 15.00 น. ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร