“วิษณุ” แจง เริ่มรัชสมัยรัชกาลใหม่ตั้งแต่ 13 ต.ค. ส่วนพระราชพิธีราชาภิเษกทำหลังการถวายพระเพลิง เผย “สมเด็จพระบรมฯ” รับสั่ง ให้ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศยังอยู่ทุกอย่าง อย่าเพิ่งให้เป็นอดีตเร็วนัก เก็บไว้ให้เป็นปัจจุบัน ยันข่าวลือผู้สำเร็จราชการตั้งพระมหากษัตริย์ได้ไม่จริง ขณะที่ “พล.อ.เปรม” จบภารกิจผู้สำเร็จราชการกลับมาเป็น ปธ.องคมนตรี ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนพระราชพิธีราชาภิเษกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารว่า การพระบรมศพจะใช้เวลานานเท่าไหร่ เพราะเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุ จะต้องใช้เวลาสักระยะในการดำเนินการตามธรรมเนียมราชประเพณีการถวายพระเพลิง และโดยปกติจะไม่ทำกันในหน้าฝน จากการเทียบกับโบราณประเพณีในอดีต ท่านได้มีพระราชบัณฑูรว่า เรื่องหน้าฝนอะไรนั้นก็เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของช่างไปว่ากันเอง แต่น่าจะมีการบำเพ็ญพระราชกุศล กว่าจะถึงเวลาออกพระเมรุก็คงใช้เวลาประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย ตรงนี้ถือเป็นพระราโชบายที่รัฐบาลต้องทราบ เพื่อจะได้มาดำเนินการถูก ถ้าเร็ว งานสร้างพระเมรุก็ต้องเร็ว
“ทั้งนี้เมื่อไปเทียบกับคราวพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ปี 2527 - 2528 หรือเทียบกับงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปี 2538 - 2539 เทียบกับงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อประมาณปี 2551 - 2552 และงานสุดท้ายพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าภคีนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปี 2554 นั้น หลังจากสวรรคตหรือสิ้นพระชมน์แล้ว การพระราชทานเพลิงพระบรมศพหรือพระศพนั้น จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วต่างกัน 5 - 6 เดือน 8 - 9 เดือนบ้าง อันนี้จำเป็นต้องขอรับพระราโชบาย ซึ่งได้พระราชทานพระราโชบายแล้วว่า น่าจะเป็นระยะเวลาที่ประชาชนชาวไทยจะต้องอาลัย และไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาบอกกันว่าจะถวายพระเพลิงช้าหรือเร็วอย่างไร เอาเป็นว่าจะอยู่ในระหว่างการบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างนี้ไปเป็นอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจริงๆ ก็เท่ากับเวลาที่รัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนไว้ทุกข์ แล้วอย่างอื่นเป็นเรื่องค่อยมาพูดกัน อย่างเช่น การกำหนดถวายพระเพลิงที่แน่ชัด การบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้น และอะไรต่ออะไรที่จะต้องตามมาหลังจากนั้น”
นายวิษณุย้ำอีกครั้งว่า การเชิญขึ้นครองราชย์กับการบรมราชาภิเษกคนละเรื่องกัน มันต่างกัน การเชิญขึ้นครองราชย์คือการสืบราชสันตติวงศ์ แต่บรมราชภิเษกเป็นเรื่องของพระราชพิธี พูดง่ายๆ แบบฝรั่งคือการสวมมงกุฎ ในต่างประเทศเองก็ทิ้งเวลาเหมือนกัน อย่างเจ้าชายจิกมีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ขึ้นรับราชสมบัติต่อจากพ่อ 1 ปี แล้วท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทันที แต่ท่านยังไม่สวมมงกุฎ เพราะโหรประเทศท่านคำนวณพระฤกษ์แล้ว ไม่มีศุภวาระดิถีมงคลในปีนั้น ก็ต้องทิ้งไป 1 - 2 ปี จึงจะไปถึงเวลาพระบรมราชาภิเษก ซึ่งประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือญี่ปุ่น ที่เป็นราชอาณาจักรที่มีสมเด็จพระราชาธิบดี ก็ใช้หลักทำนองเดียวกัน เพียงแต่ช้าหรือเร็วต่างกัน สำหรับหลักการสร้างพระเมรุจะต้องเตรียมสถานที่ ต้องมีไม้ เตรียมราชรถ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าจะให้ตอบ ต้องตอบว่าประมาณ 1 ปี ตามพระราโชบาย
ส่วนจะมีการโยงกำหนดระหว่างถวายพระเพลิงกับการขึ้นบรมราชาภิเษก นายวิษณุกล่าวว่า ไม่โยง ไม่เกี่ยว ขอให้เอากรณีของรัชกาลที่ ๙ เป็นตัวอย่าง ท่านขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในทุกอย่างได้เบ็ดเสร็จในวันที่รัชกาลที่ ๘ สวรรคต พอสามทุ่มท่านก็เป็นพระมหากษัตริย์ และวันนั้นก็นับเป็นวันที่ 1 ปีที่ 1 ของรัชกาล แต่ต้องเรียกท่านว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ไม่ให้เรียกว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ แล้วท่านก็กลับไปเรียนต่อ ผ่านไป 4 ปี ท่านศึกษาจบและเสด็จกลับประเทศไทย จึงมีการถวายพระเพลิง จากนั้นตามด้วยการมีพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 หรือที่เรียกว่าวันฉัตรมงคล และถือเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่บัดนั้น ความเป็นจริงเราบอกว่า ทรงครองราชย์ ๗๐ ปี เราไม่เคยนับจากวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 แต่เรานับจากวันที่ 1 ปีที่ 1 ซึ่งก็คือ 9 มิถุนายน 2489 เพราะฉะนั้นในกรณีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็จะเกิดตามหลักเดียวกัน
นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นทั้งประธานองคมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว และรัฐธรรมนูญกำหนดว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานองคมนตรีไม่ได้ เพราะต้องทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 25 กำหนดไว้ว่า ให้คณะองคมนตรีประชุมปรึกษาเลือกองคมนตรี 1 คนขึ้นเป็นประธานองคมนตรี เพราะมีภารกิจที่จะต้องทำ เช่น มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้น และเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พ้นจากหน้าที่ ก็จะมาเป็นประธานองคมนตรีเหมือนเดิม โดยที่ไม่ต้องมีพระบรมราชโองการ ทุกอย่างเป็นไปโดยกฎหมายที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีอำนาจลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตก็เคยลงนามโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่น นายปรีดี พนมยงค์ เจ้าพระยายมราช พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และกฎหมายต่างๆ การแต่งตั้งข้าราชการ ผู้สำเร็จราชการฯ สามารถลงนามได้
“ส่วนที่มีข่าวลือว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอำนาจเสนอชื่อพระมหากษัตริย์ ยืนยันว่าไม่จริง เพราะเป็นเรื่องคณะรัฐมนตรี ที่จะต้องแจ้งไปยังประธานรัฐสภาหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้นจะมีการประชุม สนช. เพื่อมีมติรับทราบ จากนั้นประธาน สนช. จะเข้าเฝ้าเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ จากนั้นจะประกาศให้ประชาชนชาวไทยรับทราบ บัดนั้นประเทศไทยจะมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสมบูรณ์ และราชสมบัติจะไม่มีวันขาดตอนลง หมายความว่า รัชสมัยแห่งรัชกาลใหม่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป”
นายวิษณุกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ใช้ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาล รวมทั้งโบราณราชนิติประเพณี เพราะบางเรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีคำตอบ เช่น รัชทายาทมาจากไหน เป็นใคร แต่เมื่อตั้งรัชทายาท รัชทายาทจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนขั้นตอนการดำเนินการจะใช้โบราณราชประเพณี
นายวิษณุกล่าวว่า พระรัชทายาทไม่สามารถลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพราะพระรัชทายาทเป็นที่ 2 รองจากพระเจ้าอยู่หัว และไม่มีอำนาจใดๆ ยกเว้นในส่วนพระราชพิธีอย่างที่เห็นในพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะทรงบัญชาการในส่วนนี้ และทรงเอาพระทัยใส่อย่างมาก
ทั้งนี้นายวิษณุกล่าวช่วงท้ายด้วยน้ำตาคลอเบ้าและร้องไห้ว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ รับสั่งกับนายกฯ ว่า ขอให้ทุกอย่างในช่วงนี้ อย่างน้อยก็ช่วงนี้ ให้อยู่เป็นปกติเหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศยังทรงสถิตย์อยู่ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าแผ่นดินว่างเปล่า และทุกอย่างอย่าเพิ่งให้เป็นอดีตเร็วนัก เก็บมันไว้ให้เป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างนี้ เราเป็นลูก เราเป็นหลาน เราเป็นญาติ เราก็คงเคยทำอย่างนี้กับพ่อเรา แม่เรา คู่สมรส คนรักของเราที่ตาย เราอาจจะเห็นว่า บางครั้ง เรากินข้าว เรายังตั้งเก้าอี้ไว้และบอกแม่พ่อ”