วัดพระพุทธบาท เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ณ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2167
ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้มีพระสงฆ์ไทยคณะหนึ่งเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏในลังกาทวีป ในคราวนั้นพระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังสอบประวัติ และที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนาน ว่ามีเพียง 5 แห่ง และ 1 ใน 5 นั้น ประดิษฐานอยู่บนไหล่เขาสุวรรณบรรพต ข้างทิศอุดร เหนือกรุงศรีอยุธยา
ครั้นบรรดาพระสงฆ์ไทยกลับจากลังกา ได้ทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้เที่ยวตรวจดูภูเขาต่างๆตามหัวเมือง เจ้าเมืองสระบุรีได้ความจากพรานบุญว่า มีศิลาเป็นแอ่ง มีน้ำขังอยู่แต่พอเนื้อ นก กินได้ ครั้นพรานบุญยิงเนื้อทรายบาดเจ็บ เนื้อนั้นหนีเข้าไปในพุ่มไม้รกบนไหล่เขา ครู่หนึ่งเมื่อกลับออกมา บาดแผลที่ถูกยิงก็หายไปสิ้น พรานบุญแปลกใจจึงเดินเข้าไปดู ก็พบศิลามีแอ่งน้ำอยู่ จึงตักน้ำขึ้นมาดื่มกิน พร้อมกับลูบเนื้อลูบตัว ทำให้เกลื้อนกลากที่เป็นอยู่ หายไปหมดสิ้น นายพรานเห็นประหลาด จึงวักน้ำออกมาจนแห้ง แล้วก็เห็นพระลักษณะสำคัญ เป็นรอยเท้าคนโบราณ
เจ้าเมืองสระบุรีได้แจ้งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร แล้วทรงเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ด้วยมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยมหามงคล 108 ประการ ทรงโสมนัสเลื่อมใสยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหามณฑปสวมรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ สำหรับพระภิกษุสามเณร เพื่อดูแลรักษารอยพระพุทธบาท และบำเพ็ญสมณธรรม
การก่อสร้างใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ปีจึงแล้วเสร็จ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จฯไปประกอบพิธีสมโภช 7 วัน และพระราชทานนามว่า “วัดพระพุทธบาท” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดพระบาท”
พระอารามหลวงแห่งนี้ มีสิ่งสำคัญมากมาย อาทิ
• พระอุโบสถ มีรูปทรงสวยงาม สร้างด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ที่หน้าบันแกะเป็นลายกนก มีรูปตราพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ในรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง
• วิหารหลวง หรือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งพระพุทธบาท เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เช่น พระภูษาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยจัดไว้แยกเป็นหมวดใหญ่ๆ คือ เครื่องมหัคฆภัณฑ์ เช่น รอยพระพุทธบาทจำลองทองคำ เครื่องเพชร เครื่องทอง เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถมปัด เครื่องลายคราม เครื่องสังคโลก พระพุทธรูปและพระพิมพ์สมัยต่างๆ ต้นไม้เงินและต้นไม้ทอง เครื่องสูงและสัปคับ เครื่องมุก เป็นต้น โดยเปิดให้เข้าชมเฉพาะงานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท
• วิหารคลัง มี 3 หลัง คือ วิหารคลังล่าง วิหารคลังกลาง และวิหารคลังบน เดิมเป็นที่เก็บเครื่องพุทธบูชา วิหารทั้ง 3 หลังนี้ได้รับการบูรณะใหม่ ปัจจุบัน วิหารคลังล่าง เรียกว่าวิหารจีน
• วิหารพระป่าลิไลยก์ อยู่ด้านใต้ของพระมณฑป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์ขนาดใหญ่
• พระมหามณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับ ทุกชั้นมีเสาย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจกโดยรอบฝาผนัง ด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนม พุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูประดับมุก ฝีมือช่างกรุงรัตนโกสินทร์ ผนังทั้ง 4 ด้านเขียนลายทองล่องชาติ มีรูปตราพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่
พื้นภายในพระมณฑป มีเสื่อเงินปูลาดอยู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนจากแผ่นเงินเป็นรูปเสื่อ
ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย หมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์ ศีรษะนาคที่เชิงบันไดเป็นนาค 5 เศียร หล่อด้วยทองสำริด
• รอยพระพุทธบาท ขนาดกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว ลึก 11 นิ้ว มีทองคำปิดหุ้มอยู่โดยตลอด มีศิลาก่อเป็นขอบไว้ เป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย หุ้มทองคำประดับเพชรพลอย และมีมณฑปน้อยสร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลายวิจิตร ปิดทองประดับกระจกสี สวมรอยพระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่ง
• ศาลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่เชิงบันไดนาค ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ สมัยโบราณเป็นสถานที่ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเปลี่ยนเครื่องฉลองพระองค์ใหม่ ก่อนเสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธบาท
• พระที่นั่งเย็น เดิมเป็นศาลาประโคมดนตรีถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธียกพระจุลมงกุฎยอดพระมณฑป ซึ่งได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2495 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพระราชพิธียกพระจุลมงกุฎยอดพระมณฑป และสมโภชพระพุทธบาท วันที่ 21 กรกฎาคม 2542
วัดพระพุทธบาท ถือเป็นพระอารามสำคัญของแผ่นดิน ที่พระมหากษัตริย์ทุกรัชสมัย โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด และล่าสุดสำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ได้ร่วมกับวัดพระพุทธบาท จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท พระวิหารพระพุทธบาทสี่รอย และศาลาเปลื้องเครื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และจะแล้วเสร็จทั้งหมดใน พ.ศ. 2561
ตามคติของคนโบราณเชื่อกันว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก หากได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ครบ 7 ครั้ง จะได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้แต่ในชาติภพนี้ อานิสงส์ผลบุญก็จะส่งให้ชีวิตมีความสำเร็จสมหวังทุกประการ
ดังนั้น งานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท จึงเป็นงานประเพณีนิยมที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยทางวัดจัดให้มีงานดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง คือ งานเดือน 3 และงานเดือน 4 โดยงานประจำปี 2559 งานเดือน 3 ระหว่างวันที่ 8-22 กุมภาพันธ์ และงานเดือน 4 ระหว่างวันที่ 8-15 มีนาคม
ส่วนงานประเพณีสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดพระพุทธบาท ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ ตักบาตรดอกไม้ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีในวันเข้าพรรษา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)