สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ได้กล่าวถึงสมุทัยกับพรรคพวกฝ่ายหนึ่ง และศีลซึ่งเป็นพวกคู่บารมีฝ่ายหนึ่ง เผชิญหน้ากันอยู่เสมอในจุดต่างๆ ของจิตตนคร จนเหมือนแบ่งกันปกครอง การแบ่งเขตหรือแบ่งเวลากันปกครองในจิตตนคร ถ้าจะเกิดมีปัญหาขึ้นว่าใครเป็นผู้แบ่ง ก็น่าจะตอบได้ว่า เป็นไปด้วยกำลังอำนาจของทั้งสองฝ่าย ถ้าจะกล่าวให้แคบเข้ามา ก็เป็นไปด้วยกำลังอำนาจของสมุทัยหรือคู่อาสวะกับคู่บารมีซึ่งชักนำนครสามีให้ปฏิบัติตามคล้อยตามไป
ฉะนั้น หลักใหญ่จึงอยู่ที่นครสามีเองว่าจะคล้อยตามฝ่ายไร เท่าไร เมื่อไร จึงต่างจากการยึดหรือแบ่งอำนาจกันในบ้านเมืองทั้งหลายในโลก ถ้าเป็นการยึดอำนาจก็มิใช่เป็นการมอบหมายให้ด้วยความสมัครใจ และผู้ที่ทำการยึดอำนาจก็มักขึ้นเป็นหัวหน้าเสียเองแทนผู้ที่ถูกยึด หัวหน้าเก่าที่ถูกยึดเอาอำนาจไปก็ต้องตกตํ่าสิ้นอำนาจ
ส่วนในจิตตนคร นครสามีคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าอยู่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครแย่งได้ เพราะนครสามีเป็นบุคคลพิเศษ มีความรู้พิเศษ มีลักษณะพิเศษ มีสมรรถภาพพิเศษ ไม่มีใครทำลายได้เลย แต่คุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของนครสามีต้องถูกบดบังไป เพราะสมุทัยและคู่อาสวะกับพรรคพวก ซึ่งเข้ามาทำให้นครสามีมีความเห็นคล้อยตาม และมอบหมายอำนาจต่างๆให้ นครสามีเองจึงเป็นเหมือนไม่มีอำนาจ สุดแต่สมุทัยกับพรรคพวกจะบัญชาให้ทำอะไร
บุคคลสำคัญผู้มีหน้าที่กำกับนครสามี คือคู่อาสวะ ซึ่งกำกับการอยู่ข้างใน จึงควรจะเล่าเสียในที่นี้ว่า คู่อาสวะมีหน้าที่สร้างภาวะ ๓ อย่างขึ้นแก่นครสามี คือ
๑) สร้างกาม ความใคร่ ความปรารถนา ทำให้นครสามีครุ่นคิดใคร่คิด ปรารถนาอะไรต่างๆอยู่อย่างเงียบๆ
๒) สร้างภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่ ทำให้นครสามีครุ่นคิดเป็นนั่นเป็นนี่อยู่อย่างไม่น่าเชื่อ
๓) สร้างอวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะคือความจริง อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คือไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักอดีตหรือเงื่อนต้น ไม่รู้จักอนาคตหรือเงื่อนปลาย ไม่รู้จักทั้งสองอย่าง ไม่รู้จักธรรมที่อาศัยกันบังเกิด
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้บรมครูผู้ทรงรู้ทรงเห็นตามเป็นจริง จึงได้ตรัสชี้แสดงว่า อาสวะ อันได้แก่ กิเลสที่ดองสันดาน มี ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ๑ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๑ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ๑ คู่บารมีเท่านั้นฟังเข้าใจพระพุทธวจนะ และรู้จักอาสวะ ทั้งพยายามชี้แจงแสดงแนะนำนครสามีให้เข้าใจให้รู้จัก
ในขั้นแรก นครสามีฟังไม่เข้าใจไม่รู้จักเอาเสียทีเดียว ต่อมาจึงค่อยเข้าใจและรู้จักอาสวะขึ้นบ้าง จึงเริ่มเห็นคุณของศีล และใช้ศีลในการปกครองบ้านเมืองเป็นต้น แต่ก็หยิบๆปล่อยๆ ดูคล้ายๆกับเป็นคนใจคอโลเลไม่แน่นอน อันที่จริงก็น่าเห็นใจ เพราะคู่อาสวะดองสันดานมานาน เกาะอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึมซาบอยู่อย่างลึกซึ้ง ยากที่นครสามีจะสลัดออกได้ ที่กล่าวมาข้างต้นว่าเหมือนอย่างมีปฏิวัติรัฐประหารกันอยู่เสมอในจิตตนครนั้น ที่แท้ก็คือการหยิบๆปล่อยๆ ของนครสามีนี้เอง คือเดี๋ยวหยิบข้างนี้ปล่อยข้างนั้น เดี๋ยวปล่อยข้างนี้หยิบข้างนั้น บางคราวก็คล้ายกับจะหยิบไว้ทั้งสองฝ่ายเหมือนอย่างจับปลาสองมือ
เหตุที่นครสามีเป็นไปเช่นนั้น เพราะขาดความเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าไหนเป็นคุณ ไหนเป็นโทษ รู้อยู่ว่าศีลมีคุณ สมุทัยมีโทษ แต่ความอ่อนแอยอมตนอยู่ใต้อำนาจความเคยชินกับสมุทัย ทำให้พะว้าพะวัง จับนั่นปล่อยนี่วุ่นวายอยู่ จึงยังไม่ได้รับผลที่ควรได้รับอย่างแท้จริง คือยังไม่สามารถทำจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ทุกเวลา ต้องเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ทั้งนี้แล้วแต่เมื่อใดฝ่ายไหนจะเข้าครอง ฝ่ายดีเข้าครองก็เย็น ก็เป็นสุข ฝ่ายไม่ดีเข้าครองก็ร้อน ก็เป็นทุกข์
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ก็เช่นเดียวกับนครสามีนั่นเอง คือรู้อยู่ด้วยกัน ว่าไหนเป็นคุณ ไหนเป็นโทษ และจะสามารถทำให้ตนเป็นสุขได้ก็ต้องมีความเด็ดเดี่ยว สละสิ่งที่เป็นโทษเสีย อบรมแต่สิ่งที่เป็นคุณให้ยิ่งขึ้น นี่แลคือการบริหารจิต
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ได้กล่าวถึงสมุทัยกับพรรคพวกฝ่ายหนึ่ง และศีลซึ่งเป็นพวกคู่บารมีฝ่ายหนึ่ง เผชิญหน้ากันอยู่เสมอในจุดต่างๆ ของจิตตนคร จนเหมือนแบ่งกันปกครอง การแบ่งเขตหรือแบ่งเวลากันปกครองในจิตตนคร ถ้าจะเกิดมีปัญหาขึ้นว่าใครเป็นผู้แบ่ง ก็น่าจะตอบได้ว่า เป็นไปด้วยกำลังอำนาจของทั้งสองฝ่าย ถ้าจะกล่าวให้แคบเข้ามา ก็เป็นไปด้วยกำลังอำนาจของสมุทัยหรือคู่อาสวะกับคู่บารมีซึ่งชักนำนครสามีให้ปฏิบัติตามคล้อยตามไป
ฉะนั้น หลักใหญ่จึงอยู่ที่นครสามีเองว่าจะคล้อยตามฝ่ายไร เท่าไร เมื่อไร จึงต่างจากการยึดหรือแบ่งอำนาจกันในบ้านเมืองทั้งหลายในโลก ถ้าเป็นการยึดอำนาจก็มิใช่เป็นการมอบหมายให้ด้วยความสมัครใจ และผู้ที่ทำการยึดอำนาจก็มักขึ้นเป็นหัวหน้าเสียเองแทนผู้ที่ถูกยึด หัวหน้าเก่าที่ถูกยึดเอาอำนาจไปก็ต้องตกตํ่าสิ้นอำนาจ
ส่วนในจิตตนคร นครสามีคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าอยู่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครแย่งได้ เพราะนครสามีเป็นบุคคลพิเศษ มีความรู้พิเศษ มีลักษณะพิเศษ มีสมรรถภาพพิเศษ ไม่มีใครทำลายได้เลย แต่คุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของนครสามีต้องถูกบดบังไป เพราะสมุทัยและคู่อาสวะกับพรรคพวก ซึ่งเข้ามาทำให้นครสามีมีความเห็นคล้อยตาม และมอบหมายอำนาจต่างๆให้ นครสามีเองจึงเป็นเหมือนไม่มีอำนาจ สุดแต่สมุทัยกับพรรคพวกจะบัญชาให้ทำอะไร
บุคคลสำคัญผู้มีหน้าที่กำกับนครสามี คือคู่อาสวะ ซึ่งกำกับการอยู่ข้างใน จึงควรจะเล่าเสียในที่นี้ว่า คู่อาสวะมีหน้าที่สร้างภาวะ ๓ อย่างขึ้นแก่นครสามี คือ
๑) สร้างกาม ความใคร่ ความปรารถนา ทำให้นครสามีครุ่นคิดใคร่คิด ปรารถนาอะไรต่างๆอยู่อย่างเงียบๆ
๒) สร้างภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่ ทำให้นครสามีครุ่นคิดเป็นนั่นเป็นนี่อยู่อย่างไม่น่าเชื่อ
๓) สร้างอวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะคือความจริง อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คือไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักอดีตหรือเงื่อนต้น ไม่รู้จักอนาคตหรือเงื่อนปลาย ไม่รู้จักทั้งสองอย่าง ไม่รู้จักธรรมที่อาศัยกันบังเกิด
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้บรมครูผู้ทรงรู้ทรงเห็นตามเป็นจริง จึงได้ตรัสชี้แสดงว่า อาสวะ อันได้แก่ กิเลสที่ดองสันดาน มี ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ๑ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๑ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ๑ คู่บารมีเท่านั้นฟังเข้าใจพระพุทธวจนะ และรู้จักอาสวะ ทั้งพยายามชี้แจงแสดงแนะนำนครสามีให้เข้าใจให้รู้จัก
ในขั้นแรก นครสามีฟังไม่เข้าใจไม่รู้จักเอาเสียทีเดียว ต่อมาจึงค่อยเข้าใจและรู้จักอาสวะขึ้นบ้าง จึงเริ่มเห็นคุณของศีล และใช้ศีลในการปกครองบ้านเมืองเป็นต้น แต่ก็หยิบๆปล่อยๆ ดูคล้ายๆกับเป็นคนใจคอโลเลไม่แน่นอน อันที่จริงก็น่าเห็นใจ เพราะคู่อาสวะดองสันดานมานาน เกาะอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึมซาบอยู่อย่างลึกซึ้ง ยากที่นครสามีจะสลัดออกได้ ที่กล่าวมาข้างต้นว่าเหมือนอย่างมีปฏิวัติรัฐประหารกันอยู่เสมอในจิตตนครนั้น ที่แท้ก็คือการหยิบๆปล่อยๆ ของนครสามีนี้เอง คือเดี๋ยวหยิบข้างนี้ปล่อยข้างนั้น เดี๋ยวปล่อยข้างนี้หยิบข้างนั้น บางคราวก็คล้ายกับจะหยิบไว้ทั้งสองฝ่ายเหมือนอย่างจับปลาสองมือ
เหตุที่นครสามีเป็นไปเช่นนั้น เพราะขาดความเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าไหนเป็นคุณ ไหนเป็นโทษ รู้อยู่ว่าศีลมีคุณ สมุทัยมีโทษ แต่ความอ่อนแอยอมตนอยู่ใต้อำนาจความเคยชินกับสมุทัย ทำให้พะว้าพะวัง จับนั่นปล่อยนี่วุ่นวายอยู่ จึงยังไม่ได้รับผลที่ควรได้รับอย่างแท้จริง คือยังไม่สามารถทำจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ทุกเวลา ต้องเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ทั้งนี้แล้วแต่เมื่อใดฝ่ายไหนจะเข้าครอง ฝ่ายดีเข้าครองก็เย็น ก็เป็นสุข ฝ่ายไม่ดีเข้าครองก็ร้อน ก็เป็นทุกข์
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ก็เช่นเดียวกับนครสามีนั่นเอง คือรู้อยู่ด้วยกัน ว่าไหนเป็นคุณ ไหนเป็นโทษ และจะสามารถทำให้ตนเป็นสุขได้ก็ต้องมีความเด็ดเดี่ยว สละสิ่งที่เป็นโทษเสีย อบรมแต่สิ่งที่เป็นคุณให้ยิ่งขึ้น นี่แลคือการบริหารจิต
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)