สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
• “สมุทัย” เพื่อนคู่หูของเจ้าเมืองจิตตนคร
เจ้าเมืองแห่งจิตตนคร มีคู่บารมีที่มีความงดงาม และความดีอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อมีคู่บารมีที่ดีเลิศเช่นนั้น เจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็น่าจะมีแต่ความเจริญสุข แต่หาใช่เช่นนั้นไม่ เพราะเจ้าเมืองแห่งจิตตนครยังมีเพื่อนคู่หูคู่คิดอีกหลายคน
ผู้ที่น่าจะแนะนำให้รู้จักก่อนคนอื่น มีชื่อค่อนข้างจะไพเราะว่า “สมุทัย” เจ้าตัวสมุทัยเองอวดชื่อของตนเองเสมอว่า แปลว่า “อุทัยสุขพรั่งพร้อม” ได้ให้คำแนะนำเจ้าเมืองในสิ่งต่างๆ เพื่อให้ปกครองจิตตนครให้มีความสุขสนุกสบาย เรียกว่าเป็นเพื่อนคู่หูคู่คิดได้ทีเดียว เพราะจะกระซิบเรื่องต่างๆ อยู่ที่หูที่ใจเสมอ
สมุทัยผู้นี้มีลักษณะนิสัยที่อยากได้ใคร่ดีมาก คืออยากได้สิ่งต่างๆที่ดีๆที่สวยงาม ที่เป็นเครื่องบำเรอสุข ใคร่จะได้ตำแหน่งที่สูงเด่น จะเพราะมีปมด้อยอยู่ในตัวมากหรือจะมีปมเด่นมาก ก็ยากที่จะพูดได้
ลักษณะนิสัยอีกอย่างหนึ่งของสมุทัยก็คือ ความอยากทำลายล้างใครหรืออะไรก็ตามที่มาขัดขวาง ดูก็เป็นธรรมดา เพราะเมื่อมีความอยากได้ใคร่ดี ถ้ามีใครหรืออะไรมาขัดขวาง ก็จะต้องเกิดความมุ่งทำลายล้างสิ่งที่มาขัดขวางนั้น
อีกอย่างหนึ่งอยากได้อะไรก็ต้องอยากได้สิ่งที่ดี ถ้าได้ไม่ดีไม่ถูกใจก็ต้องอยากให้สิ่งนั้นถูกทำลายหมดสิ้นไป หรือได้ตำแหน่งอะไรที่ไม่ชอบก็ต้องอยากออก ไม่อยากดำรงอยู่
กล่าวโดยสรุปแล้ว สมุทัยมีลักษณะนิสัยเป็นไปทั้งทางสร้างและทางทำลาย ดูก็คล้ายๆกับลักษณะนิสัยของคนเราทั่วๆไปนี้เอง ที่เป็นไปทั้งสองทาง
นิสัยในทางทำลายนั้นบางอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในเวลาเกิดไฟไหม้บ้าน มีคนชอบไปดูกันมากกว่าที่จะอยากไปดูการสร้างบ้าน
ทำไมจึงเป็นอย่างนี้...
นักจิตวิทยาปัจจุบันบางท่านกล่าวว่า เพราะนิสัยของคนชอบการทำลายมากกว่าการสร้าง จะจริงอย่างไรก็ยากที่จะยืนยัน แต่ประจักษ์พยานที่ปรากฏออกมานั้น เวลาสร้างบ้านไม่ปรากฏว่ามีคนสนใจไปดูกัน ส่วนเวลาไฟไหม้บ้าน กลับปรากฏว่ามีคนไปดูกันล้นหลาม จึงน่าให้ถูกกล่าวหาเช่นนั้น
สำหรับสมุทัยนั้นพูดอวดอยู่เสมอว่า เขาเป็นผู้ดำริสร้างขึ้นทุกอย่าง เมืองจิตตนครเองเขาก็คิดสร้างขึ้น และคิดจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ๆต่อไปอีก
เขาเองนั่นแหละเป็นผู้คิดให้มีการประกวดความงามกันขึ้นในจิตตนคร เพราะสิ่งที่สวยงามนั้นทำให้เกิดความสุขมิใช่หรือ เขาได้เสนอขึ้นดังนี้ ชาวจิตตนครเห็นดีไปกับเขากันมาก พากันประกวดประขันความงามกันทั่วไป ไม่เลือกว่าเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่
ข้อที่แปลกกว่าชาวโลกทั่วไปอยู่ที่ว่า คนแก่ของจิตตนครชอบประกวดประขันความงามยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวหรือเด็ก และประกวดประชันกันอยู่ทุกเวลา มิใช่ว่าปีหนึ่งมีหนึ่งครั้ง
บางคราวสมุทัยก็แนะนำให้สร้างความดีเหมือนกัน เพื่อประโยชน์ทางการบ้านการเมือง สมุทัยมีลักษณะเป็นนักการบ้านการเมืองเต็มตัว คือมีความกระตือรือร้นอยากได้ใคร่ดีในทางสร้าง และมีความรุนแรงในทางทำลายพอๆกัน หรือยิ่งกว่า อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่ต้องกลัวบาปกรรม
ความอยากได้ใคร่ดีที่รุนแรง เป็นเหตุให้เกิดการทำลายดังกล่าวแล้วนั้น เป็นความจริง นิสัยอยากได้ใคร่ดีของสมุทัย จึงเป็นนิสัยฝ่ายไม่ดี
ยังมีนิสัยฝ่ายดีของสมุทัยอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งฟังเผินๆ ไม่พิจารณาให้ประณีต จะไม่อาจแยกความแตกต่างได้ นิสัยฝ่ายดีนี้ของสมุทัยคือ ความอยากดี
ความอยากดีเป็นนิสัยฝ่ายดีของสมุทัย ในขณะที่ความอยากได้ใคร่ดี เป็นนิสัยฝ่ายไม่ดี
ความอยากดีย่อมเป็นเหตุให้ทำแต่ความดี ไม่ทำความไม่ดี การทำลายล้างเป็นความไม่ดี ดังนั้น การทำลายล้างจึงจะไม่เกิดแต่ความอยากดี จะเกิดก็แต่จากความอยากได้ใคร่ดีเท่านั้น
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือบรรดาผู้อยากดี ไม่ใช่อยากได้ใคร่ดี ดังนั้น ก็ควรจะได้มุ่งพิจารณาจับจิตของตนเองให้รู้ว่า ความอยากได้ใคร่ดีเกิดขึ้นในจิตเมื่อใดเพียงไหน
เมื่อเห็นหน้าตาความอยากได้ใคร่ดี อันเป็นนิสัยฝ่ายไม่ดีแล้ว ก็ให้พยายามข่ม พยายามดับ จนถึงพยายามทำให้สิ้นไปเสีย
ด้วยการกระทำเช่นนั้น ความอยากดีจะเกิดขึ้นแทนที่ นับเป็นการเสริมสร้างนิสัยฝ่ายดีให้เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการบริหารจิตใจโดยตรง ที่จะนำให้เกิดความสุขแก่จิตใจยิ่งๆขึ้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)