xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๗) ลักษณะของเพื่อนคู่หูของเจ้าเมืองจิตตนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


สมุทัยแห่งจิตตนครชักชวนให้ชาวจิตตนครเพลิดเพลินยินดีอยู่เสมอ ด้วยการแนะนำส่งเสริมให้สร้างให้ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เกิดความเพลิดเพลินยินดี

แนะนำให้สร้างและให้ไปเที่ยวในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมากมายหลายอย่างหลายประเภท จิตตนครจึงมีโรงภาพยนตร์ โรงลิเกละครมากมาย มีโรงอะไรต่ออะไรอีกมากนัก

สิ่งอะไรที่เป็นเครื่องบำเรอความเพลิดเพลินยินดี ที่มีอยู่ในเมืองทั้งหลายในโลก จะต้องมีในจิตตนครด้วยทุกอย่าง จะมีล้ำหน้าเมืองต่างๆไปเสียอีกด้วย เพราะสมุทัยผู้เป็นต้นคิดของสิ่งเหล่านี้ พำนักอยู่ในจิตตนคร สิ่งต่างๆจึงมีสร้างขึ้นในจิตตนครก่อน แล้วเมืองต่างๆ ก็เอาอย่างตามกันไปทั่วโลก

แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า สมุทัยมีลักษณะนิสัยอยากได้ใคร่ดีแรง มุ่งทำลายล้างแรงต่อสิ่งที่ขัดขวาง

และน่าจะต้องชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ความอยากได้ใคร่ดีของสมุทัยนั้น “ไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ ไม่มีเต็ม”

เช่นว่าอยากจะได้แก้วแหวนเงินทอง ทีแรกก็อยากจะได้เพียงสิ่งหนึ่งจำนวนหนึ่ง ครั้นได้แล้วก็อยากได้ให้มากขึ้นไปอีก และให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสมมติว่าได้ทองเท่าภูเขาทั้งลูก ก็คงยังไม่อิ่มไม่พอ จะต้องอยากได้ภูเขาทอง ๒ ลูก ๓ ลูก ดังนี้เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความอยากของสมุทัย ก็จะต้องพบกับสิ่งที่ขัดขวาง ทั้งที่เป็นสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย ศีลธรรม ทั้งที่เป็นบุคคลด้วยกัน

เพราะสิ่งที่บุคคลอยากได้ด้วยความหิวกระหายเช่นนั้น บางสิ่งก็มีกฎหมายหรือศีลธรรมขัดขวางอยู่ เช่นไปอยากได้ในสิ่งที่ผิดหรือขัดต่อกฎหมายศีลธรรม บางสิ่งก็มีบุคคลด้วยกันขัดขวาง เช่นต่างก็อยากได้ด้วยกัน ต่างชิงได้ชิงดีกัน หรือแม้เป็นเจ้าของของสิ่งที่สมุทัยอยากได้ เมื่อสมุทัยต้องพบกับสิ่งขัดขวางเช่นนี้ ก็เกิดความมุ่งทำลายล้างสิ่งที่ขัดขวางทั้งปวง โดยไม่เลือกว่าจะเป็นอะไร

สมุทัยไม่นับถือกฎหมายศีลธรรม หรือบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าเป็นเครื่องขัดขวางต่อความอยาก

ฉะนั้น เหตุการณ์จึงปรากฏว่า สมุทัยชักนำให้ชาวจิตตนคร ประพฤติหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายศีลธรรมอยู่เนืองๆ ทั้งโดยปกปิด ทั้งโดยเปิดเผย และชักนำให้ทำโจรกรรม ประทุษกรรมบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือบุคคลผู้ที่ไม่ชอบหน้า

อันที่จริงถ้าจะตามใจสมุทัย ก็จะต้องเลิกกฎหมายศีลธรรมทั้งปวงบรรดาที่มีอยู่ในโลกเสียทั้งหมด เพราะกฎหมายศีลธรรมทั้งหลายที่ตั้งขึ้นไว้ ก็เพื่อจำกัดหรือกำจัดความปรารถนาเกินส่วน

อันความปรารถนาอยากได้ของแต่ละบุคคลนั้น จำต้องมีจำกัดหรือมีขอบเขต เช่น แก้วแหวนเงินทองที่อยากได้กัน ก็จะต้องมีส่วนจำกัดสำหรับแต่ละบุคคล เพราะจะต้องมีเฉลี่ยกันไปแก่คนทั้งปวง ทุกๆคนจึงต้องจำกัดความอยากได้ของตน ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและศีลธรรม

แต่สมุทัยนั้นไม่ชอบอย่างยิ่งต่อระบอบจำกัดเช่นนี้ แอบบ่นเสมอว่า เป็นระบอบที่ขัดต่อเสรีภาพ ขัดต่อธรรมชาติของจิตใจ ควรจะต้องโยนทิ้งเสียให้หมด

และอยากจะทำอะไรก็ทำตามที่ใจใคร่ปรารถนา เมื่อทำไปแล้วความอยากก็จะดับ การทำไปตามที่ใจอยากจึงเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อดับกิเลสอย่างหนึ่ง สมุทัยจะแนะนำอยู่ดังนี้

แต่คำแนะนำนี้ของสมุทัย เป็นการตรงกันข้ามกับความจริง เพราะที่สมุทัยแนะนำว่า เมื่ออยากทำสิ่งใดแล้ว ทำเสียตามที่อยากจะหายอยาก เรียกว่ากิเลสดับนั้นหาถูกไม่

ได้เคยกล่าวไว้ในรายการนี้หลายครั้งมาแล้วว่า อะไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วไม่หายไปไหน ที่ว่าดับก็ไม่ได้ดับไปไหน เพียงแต่จมลงแอบซ่อนตัวอยู่ในส่วนหนึ่งของหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนลึกและลี้ลับมิดชิดเท่านั้น

ความคิดดีเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เมื่อสงบลงหรือที่เรียกว่าดับไป ก็หาได้ดับไปไหน คงแอบฝังตัวอยู่ในใจนั่นเอง เกิดขึ้นกี่ครั้งก็ฝังตัวลงไปเท่านั้นครั้ง

ดังนั้น หากความคิดดีเกิดขึ้นมากก็มีความดีฝังตัวอยู่ในใจมาก เป็นพื้นฐานที่ดีของใจ

ในทางตรงกันข้าม ความคิดไม่ดีเกิดขึ้นมาก ก็มีความไม่ดีฝังตัวอยู่ในใจมาก เป็นพื้นฐานที่ไม่ดีของใจ

ฉะนั้น หากเชื่อคำแนะนำของสมุทัย อยากได้อะไรปล่อยตามใจให้อยาก ไม่เลือกควรไม่ควร เมื่อได้สมอยากแล้วก็เท่ากับทำให้ดับกิเลสได้แล้ว เช่นนี้ก็เท่ากับส่งเสริมให้สมุทัยมีกำลังแรงขึ้น คอยชักนำให้เพลิดเพลินหลงติดอยู่ในสิ่งไม่เหมาะไม่ควร อันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ยิ่งขึ้นนั่นเอง

เมื่อสมุทัยมีกำลังแรงไปในทางก่อทุกข์ เจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็ย่อมจักได้รับทุกข์แรง พูดอีกอย่างก็คือผู้ใดปล่อยให้สมุทัยเหตุเกิดทุกข์ในตนมีกำลังแรง ตนเองนั่นแหละที่จะมีทุกข์แรง


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น