สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
• ลักษณะเจ้าเมืองจิตตนคร และทวารเมือง
เจ้าเมืองแห่งจิตตนคร กล่าวได้ว่าเป็นคนขยันมากที่สุด ยกให้เป็นบุคคลขยันตัวอย่างได้ทีเดียว
ดังจะพึงเห็นได้ว่า ขยันรับรู้สุขทุกข์ ขยันจำ ขยันคิด ขยันออกไปรู้สิ่งต่างๆ วันหนึ่งๆจะหาเวลาหยุดพักจริงๆได้ยาก จึงเป็นบุคคล “เจ้าอารมณ์” อีกตำแหน่งหนึ่ง
ตำแหน่งเจ้าเมืองจิตตนคร กับตำแหน่งเจ้าอารมณ์ มักคู่กันอยู่เสมอ เพราะเมื่อขยันรับเรื่องราวต่างๆมากเรื่อง ก็ต้องมากอารมณ์เป็นธรรมดา ไม่เป็นของแปลก
แต่ที่แปลกก็คือ มีความผันแปรผิดแผกไปจากปกติบางอย่างในจิตตนคร ดังจะกล่าวต่อไป
จิตตนครเรียกได้ว่าเป็นเมืองเปิด ใครจะผ่านเข้าออกได้อย่างเสรี ไม่ต้องมีหนังสือเดินทางสำหรับผ่านเข้าออกเหมือนเมืองทั้งหลาย อันที่จริงจิตตนครมีปราการล้อมรอบ มีทวารเมืองที่วางเป็นจังหวะชั้นนอก ๕ ทวาร
ทั้ง ๕ ทวารนี้ใช้เป็นทวารแห่งระบบสื่อสารชั้นนอกทั้ง ๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย จะหาเมืองที่ไหนในโลกปัจจุบัน ที่มีปราการและทวารเรียบร้อยเป็นระเบียบ เหมือนดังจิตตนครนี้ ทั้งยังมีทวารชั้นในซึ่งใช้เป็นทวารแห่งระบบสื่อสารชั้นในอีกด้วย
แต่ถึงเช่นนั้นก็คล้ายกับไม่มีปราการ ไม่มีทวาร เพราะไม่ได้ปิด ปล่อยให้ใครๆเข้าออกได้ตลอดเวลา เว้นแต่เวลาที่หลับของจิตตนคร ทวารเหล่านี้จะปิด ส่วนเวลาตื่นของจิตตนคร ทวารเหล่านี้จะเปิดอยู่เสมอ
จะเลยบอกชื่อทวารชั้นนอกทั้ง ๕ ไว้ด้วยทีเดียว มีชื่อต่างๆกันดังนี้ จักขุทวาร ประตูตา ๑ โสตทวาร ประตูหู ๑ ฆานทวาร ประตูจมูก ๑ ชิวหาทวาร ประตูลิ้น ๑ กายทวาร ประตูกาย ๑ ส่วนชั้นในเรียกว่า มโนทวาร ประตูใจ รวมทั้งหมด ๖ ทวาร ซึ่งเป็นทวารสำคัญ
เพราะเหตุที่เป็นเมืองเปิดดังนี้ ผู้ที่เข้าไปในเมืองจึงมีหลายประเภท เป็นคนดีก็มี เป็นคนร้ายก็มี เข้าไปเที่ยวแบบที่เรียกว่า มาทัศนาจรแล้วก็กลับออกไปก็มี เข้าไปอยู่นานๆ จนถึงมาตั้งหลักฐานอยู่ประจำก็มี ความวุ่นวายจึงเริ่มมีขึ้นในจิตตนคร
จิตตนครที่เคยสงบเรียบร้อย ก็เริ่มไม่สงบเรียบร้อย แต่อาศัยที่เจ้าเมืองเป็นบุคคลพิเศษ พวกคนร้ายจึงไม่อาจก่อเหตุการณ์ร้ายได้ร้ายแรงโดยง่าย
คือเจ้าเมืองเป็นบุคคลที่มีอำนาจ มีความฉลาด มีวรรณะผ่องใส จนถึงใครๆพากันเรียกเจ้าเมือง ด้วยภาษาของชาวจิตตนครว่า “ปภัสสร” ตรงกับคำสามัญว่า “ผุดผ่อง” หรือ “ผ่องสว่าง”
เจ้าเมืองยังมีลักษณะพิเศษกว่านี้อีกมาก เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงตอนที่ควรจะกล่าวถึง จึงจะกล่าวเพิ่มเติม
แต่สำหรับเรื่องที่ควรจะกล่าวต่อไปตรงนี้ก็คือ “คู่บารมี” ของเจ้าเมือง เป็นผู้ที่มีความงดงามและความดีทั้งปวงอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นคู่ที่ส่งเสริมเจ้าเมืองพร้อมทั้งจิตตนคร ให้มีความสุขความเจริญอยู่ตลอดเวลา
เจ้าเมืองขณะที่อยู่กับคู่บารมีจะมีความผุดผ่อง งดงาม เหมือนอย่างมีรัศมีสว่างทั้งองค์ออกไปเป็นที่ปรากฏ และจิตตนครก็มีความผาสุกด้วยกันทั้งหมด
อันความดีงามเป็นเหตุแห่งความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งของเจ้าตัวเอง และทั้งแก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งปวง เหมือนยามใดเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร มีความใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคู่บารมี ซึ่งมีความดีงาม ยามนั้นเจ้าเมืองแห่งจิตตนครก็ร่มเย็นเป็นสุข ทั้งยังแผ่ความร่มเย็นเป็นสุขนั้นไปทั่วทั้งจิตตนครอีกด้วย
ดังนั้น ความดีงามจึงเป็นความสำคัญที่ควรจะสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทุกจิตใจ บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้กำลังพยามยามสร้างความดีงาม ให้เกิดขึ้นในจิตใจตนยิ่งๆขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นที่หวังได้ว่า จะเป็นผู้มีความร่มเย็นเป็นสุข และสามารถแผ่ความร่มเย็นเป็นสุข ออกไปได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)