สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ชาวจิตตนครพากันติดอารมณ์งอมแงม จนไม่สามารถจะขาดอารมณ์ได้ และดังที่ได้กล่าวแล้ว อารมณ์ปรากฏเป็นภาพที่ดูเป็นของจริงจัง ไม่ใช่เหมือนอย่างที่ชาวโลกพูดกันว่าอารมณ์ ที่หมายถึงเรื่องอะไรในใจ ไม่ปรากฏรูปร่างอะไรให้มองเห็น
ในจิตตนคร อารมณ์เป็นภาพให้มองเห็นเป็นรูปร่างขึ้นจริงๆ เช่น เป็นภาพต้นไม้ ก็มองเห็นเป็นต้นไม้จริงๆ เป็นภาพคนก็มองเห็นเป็นบุรุษ เป็นสตรี เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ วัยต่างๆ ขึ้นจริงๆ
ฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของสมุทัย และสมุทัยรู้วิธีทำให้ชาวจิตตนครติดอารมณ์ คล้ายกับติดสุรายาฝิ่น ทีแรกทุกคนก็ดื่มสุราไม่เป็น สูบฝิ่นไม่ได้ แต่เมื่อหัดดื่ม หัดสูบเข้าบ่อยๆ ในที่สุดก็ติด ถึงเวลาก็จะต้องดื่มต้องสูบ ถ้าไม่ได้ดื่มไม่ได้สูบ ก็จะกระวนกระวายหงุดหงิด เมื่อได้ดื่มได้สูบแล้วจึงจะสงบ
ในจิตตนครไม่มีสุรายาฝิ่น ไม่มีเฮโรอีน และยาเสพติดให้โทษต่างๆ อย่างในเมืองทั่วๆไป แต่มีอารมณ์นี่แหละแทนที่สิ่งอื่นๆ
ทีแรกก็ดูเหมือนไม่สู้สนใจกันนักในจิตตนคร แต่สมุทัยแทรกเข้ามาทางระบบสื่อสารทั้งปวงสู่จิตตนครบ่อยๆ โดยพยายามแทรกแต่อารมณ์ที่งดงาม น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจ ชาวจิตตนครก็ชักจะติดใจ ติดตา ติดหู ติดจมูก ติดลิ้น ติดกาย เกิดความกระหายที่จะได้รับอารมณ์ที่งามอยู่เป็นประจำ
เมื่อไม่ได้ก็กระวนกระวายหงุดหงิด ต่อเมื่อได้จึงจะสงบ เมื่อพากันติดอารมณ์ดังนี้ สมุทัยก็เบาใจว่า ไม่มีใครจะคิดกู้อิสรภาพแน่ เพราะพากันคิดแต่จะใช้อารมณ์ที่งามกันทั้งนั้น เหมือนอย่างคนติดฝิ่นติดกัญชา ก็คิดแต่จะหาฝิ่นกัญชามาสูบเท่านั้น อารมณ์ที่งามนี้เป็นยาเสพติดที่สำคัญที่สมุทัยวางแก่ชาวจิตตนคร เช่น ชายงามหญิงงามที่ปรากฏเป็นภาพให้มองเห็น
นอกจากนี้ สมุทัยยังได้เลี้ยงสัตว์ต่างๆไว้อีกมาก เช่น งูชนิดต่างๆ จระเข้ นกต่างชนิด ไก่ สุนัขจิ้งจอก ลิงใหญ่เล็กเป็นอันมาก และแทนที่จะสร้างสวนสัตว์ให้อยู่เป็นส่วนสัด กลับปล่อยให้อยู่ทั่วไปในจิตตนคร ตามแต่สัตว์จำพวกไหนจะชอบอยู่ชอบเที่ยวไปในที่ไหน เช่น งูอยู่ในจอมปลวก จระเข้อยู่ในนํ้า นกบินอยู่ในอากาศและจับพักนอนบนต้นไม้ ไก่อยู่ในบ้าน สุนัขจิ้งจอกอยู่ในป่าช้า ลิงอยู่บนหมู่ไม้ บางทีสัตว์ทั้งปวงเช่นที่กล่าวมา ก็เที่ยวเพ่นพ่านทั่วไป
บางทีสมุทัยจับสัตว์เหล่านี้มาผูกรวมไว้แล้วก็ปล่อย เป็นกีฬาที่สนุกอย่างหนึ่ง เพราะจะได้เห็นสัตว์เหล่านี้ต่างวิ่งไปสู่ที่อยู่ของตน
สมุทัยหัวเราะชอบใจแล้วกล่าวว่า ชาวจิตตนครก็เหมือนสัตว์เหล่านั้น เพราะพากันวิ่งไปหาอารมณ์คือรูป เหมือนอย่างงูเลื้อยปราดไปหาจอมปลวก วิ่งไปหาอารมณ์คือเสียง เหมือนจระเข้วิ่งไปลงนํ้า วิ่งไปหาอารมณ์คือกลิ่น เหมือนนกบินหวือไปในอากาศ วิ่งไปหาอารมณ์คือรส เหมือนไก่บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัย วิ่งไปหาอารมณ์คือสิ่งถูกต้องทางกาย เหมือนสุนัขจิ้งจอกวิ่งไปสู่ป่าช้า วิ่งไปหาอารมณ์คือเรื่องทางใจ เหมือนวานรวิ่งหลุกหลิกไปบนต้นไม้
นี้เป็นกีฬาสนุกสนานมากของสมุทัย ในการที่เห็นหมู่คนทั้งเมืองวิ่งพล่านไปในทิศทางต่างๆ บางทีก็ชนกัน ปะทะกัน แย่งชิงกัน ต่อสู้วางหมัดมวยแทงฟันยิงกันเป็นคู่ๆ วุ่นวายไปหมด ยิ่งยุ่งยิ่งวุ่นวายสับสนอลหม่าน สมุทัยก็ยิ่งสนุกสนานมาก
การศึกษาในทางโลกก็ตาม ในทางธรรมก็ตาม ผู้มีปัญญาย่อมศึกษาเพื่อมุ่งเพิ่มพูนสติและปัญญาเป็นสำคัญ และย่อมเข้าใจดีว่า ตนเองเท่านั้นที่จะสามารถนำความรู้ในเรื่องทั้งหลาย มาเพิ่มพูนสติและปัญญาของตนได้
ผู้เขียนหนังสือหรือผู้บรรยายเรื่องราวเหล่านั้น เพียงสามารถนำความรู้ความเข้าใจมาแสดงให้ทราบเท่านั้น หาอาจทำให้ผู้ไม่ใคร่ครวญพิจารณาตาม เกิดประโยชน์ได้ไม่
ผู้นำเรื่องจิตตนครมาบรรยายในรายการบริหารจิตอยู่ขณะนี้ก็เช่นกัน เป็นเพียงผู้นำธรรมเกี่ยวกับจิตตนคร
มาแสดง หน้าที่ในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต้องเป็นของบรรดาท่านผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย
เมื่อเกิดความรู้สึกวิ่งไปหาอารมณ์ใดก็ตาม ที่เห็นว่าเป็นความงดงามน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ควรต้องทำสติให้เกิดขึ้น ให้รู้ทันแม้เพียงพอสมควร ว่าสมุทัยกำลังทำงานยึดครองเราอยู่อย่างเฉลียวฉลาด
แม้เราไม่ต่อต้านขัดขืน คือไม่พยายามยับยั้งความปรารถนาต้องการเสียบ้างเลย ปล่อยไปเต็มแรงแล้วแต่ความปรารถนาต้องการจะนำไป เราก็จะตกเป็นทาสของสมุทัย ไม่มีอิสระแก่ตัว ทาสคนใดจะมีความสุขที่แท้จริงได้ลองคิดดู
ชาวจิตตนครที่ปล่อยให้ความปรารถนาต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ นำไปอย่างไม่ขัดขืนต้านทาน ก็จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ เช่นเดียวกับทาสนั่นเอง
ฉะนั้น เราจะเลือกเป็นทาสหรือเป็นไท ก็จะเลือกได้ด้วยการยอมให้สมุทัยครอบครอง หรือต่อต้านขัดขืนสมุทัยจนสุดสติปัญญาเท่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)