สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
จะได้กล่าวถึงลักษณะเป็นต้นของอารมณ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของสมุทัยที่ใช้คล้องใจชาวจิตตนคร
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ในจิตตนครมีทุกอย่างเหมือนอย่างในบ้านเมืองทั่วไป ว่าถึงสิ่งทั้งหลายที่จะมองเห็นได้ด้วยตา ก็มีอยู่ทั่วไป เป็นสิ่งที่เกิดมีขึ้นโดยธรรมชาติ เช่นต้นไม้ภูเขาก็มี เป็นสิ่งทำขึ้นสร้างขึ้น เช่นบ้านเรือนอาคารก็มี ลืมตาขึ้นก็ได้เห็นรอบไปหมด สมุทัยได้สร้างสรรค์ตบแต่งขึ้นมากมาย และคุยกันนักหนาว่าตนเป็นผู้คิดสิ่งที่เรียกว่า วิจิตรศิลป์ต่างๆขึ้นในโลก
บ้านเรือนปราสาทราชวัง ตลอดถึงวัดวาอาราม ล้วนต้องมีวิจิตรศิลป์ การตบแต่งต่างๆ ตลอดถึงการตบแต่งกายของบุรุษสตรีทั้งปวง ก็ต้องมีวิจิตรศิลป์ และต่างก็ประกวดประขันกันยิ่งนักในการแต่งกายให้ทันสมัยนิยม หรือที่เรียกว่าแฟชั่น
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงต่างๆ เช่น โขน ละคร ภาพยนตร์ การละเล่นเต้นรำ เป็นต้น สำหรับดูเล่นเพื่อความบันเทิง
คนทั้งปวงต่างทุ่มเทเงินทองไปมากมาย เพื่อสิ่งที่สำหรับจะได้ดูงามตาเท่านั้น ที่สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “รูป” ที่ตามองเห็น เท่ากับว่าเป็นอาหารตานั่นแหละ ที่คนทั้งปวงต้องซื้อหาอาหารตานี้ ด้วยมูลค่าที่สูงมาก มากยิ่งกว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปทางปาก
ยังเสียงที่จะฟังทางหู ก็มีทั้งที่เป็นเสียงธรรมชาติและเสียงที่สรรค์สร้างขึ้น เช่น เสียงลม เสียงฟ้า เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนพูด เสียงขับร้อง เสียงดนตรีต่างชนิด
สมุทัยกล่าวโอ้อวดอีกเหมือนกันว่า ได้สร้างเสียงที่ไพเราะต่างๆให้แก่โลก เช่น เสียงขับร้อง เสียงดนตรีนานาชนิด สำหรับบรรเลงประโคมขับกล่อมให้เป็นสุข ซึ่งก็สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “เสียง” ที่หูได้ยิน เท่ากับว่าเป็นอาหารหูนั่นเอง ซึ่งบางทีคนก็ต้องการซื้ออาหารหูนี้ ด้วยราคาแพงอีกเหมือนกัน
ยังกลิ่นที่จะสูดดมทางจมูกก็มีต่างๆ ทั้งโดยธรรมชาติ เช่น กลิ่นหอมกลิ่นเหม็นของดอกไม้และของเน่า ทั้งโดยปรุงแต่ง เช่น กลิ่นธูป กลิ่นนํ้าอบ สมุทัยก็อวดอ้างอีกนั่นแหละว่า ได้ปรุงแต่งกลิ่นที่หอมทั้งหลายสำหรับจรุงความสุข สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “กลิ่น” ที่จมูกได้สูดดม เท่ากับเป็นอาหารจมูก บางทีคนก็ต้องซื้ออาหารนี้ด้วยราคาแพง
ยังรสที่จะลิ้มทางลิ้นก็มีต่างๆ ทั้งโดยธรรมชาติและโดยปรุงแต่ง เช่น รสอาหารนานาประเภท สมุทัยอวดนักเหมือนกันว่า ได้ปรุงแต่งรสอาหารอันโอชาลิ้นนานัปการ แต่ก็สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “รส” ที่ลิ้นลิ้ม อันคนโดยมากต้องแสวงหารสมาเป็นอาหารลิ้นด้วยราคาแพง
ยังสิ่งที่กายถูกต้องอ่อนแข็งต่างๆ ก็มีทั้งโดยธรรมชาติและโดยปรุงแต่ง สมุทัยได้คุยโอ่นักว่า ได้สร้างสิ่งสัมผัสทางกายที่ละมุนละไม สำหรับบำเรอความสุขมากมาย สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “โผฏฐัพพะ” สิ่งถูกต้องทางกาย
คนโดยมากก็พากันแสวงหาสิ่งที่มีสัมผัสให้เกิดสุขเท่ากับเป็นอาหารกายกัน ด้วยราคาแพงลิ่ว ทั้งยังเรื่องต่างๆที่คิดทางใจ สมุทัยอวดโอ่ว่า ได้ช่วยปรุงเรื่องต่างๆให้แก่ใจคนทั้งปวง สรุปลงได้ในคำเดียวว่า “ธรรม” เรื่องที่ใจรู้ใจคิดถึง คนทั้งหลายก็พากันแสวงหาเรื่องมาเป็นอาหารใจอยู่เสมอ บางทีก็ด้วยราคาแพงเช่นเดียวกัน
ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า เพื่อให้ได้มาซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ถูกใจพอใจ แต่ละคนต้องเสียไป เพื่อแลกมาเป็นอันมาก และสำหรับสามัญชนแล้ว ย่อมมีความปรารถนาต้องการในสิ่งดังกล่าวอยู่ด้วยกัน ต่างกันเพียงมากหรือน้อย และความมากหรือน้อยที่ต่างกันนี้ ก็หาได้เกิดจากอะไรอื่นไม่ แต่เกิดจากความปรุงของสมุทัยที่มากหรือน้อยนั่นเอง
สมุทัยปรุงให้เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่น่าปรารถนาพอใจมาก ความปรารถนาต้องการก็มาก สมุทัยปรุงให้เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่น่าปรารถนาพอใจน้อย ความปรารถนาต้องการก็จะน้อย
ความมีอินทรียสังวร คือ การมีสติระวังไว้เสมอ มิให้สมุทัยปรุงให้เกิดความปรารถนาต้องการมากไปเท่านั้น ที่จะทำให้สามารถควบคุมปรารถนาต้องการจะได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับรู้เรื่องราวที่พอใจไว้ได้ ให้อยู่ในขอบเขตพอสมควร ไม่ก่อให้เกิดความร้อนรนกระวนกระวายจนเกินไป จนถึงกับทำให้ต้องแสวงหามาให้ได้ แม้จะต้องแลกกับสิ่งที่มีค่าอื่นๆ เป็นต้นว่าชื่อเสียง เกียรติยศ ยอมโกง ยอมกิน ยอมปลิ้นปล้อน หลอกลวง ทรยศ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่สมุทัยปรุงให้เห็นว่า น่าปรารถนาต้องการอย่างยิ่ง
บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย มีโอกาสจะอบรมสติให้เกิดได้ทันความปรุงของสมุทัย จึงนับว่าเป็นผู้มีโอกาสดีที่จะไม่ถูกสมุทัยนำไปเสื่อมเสียดังกล่าว
อันชื่อเสียงเกียรติยศนั้นมีค่ายิ่งนัก สติเท่านั้นจะช่วยรักษาไว้ได้ มิให้นำไปแลกกับสิ่งที่น่าปรารถนาต้องการ จึงควรจะอบรมสติให้เต็มที่ด้วยกันทุกคน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)