xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๑๑) สมุทัยใส่ความหวัง บังทุกข์ เก็บปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


บ้านของใครมีคนไปคุมอยู่เต็มไปหมดตั้งร้อยตั้งพันดังนี้ ดูก็น่าจะต้องกลุ้มใจไม่มีความสุขแน่ แต่กลับปรากฏว่า ชาวจิตตนครไม่ค่อยจะมีใครรู้สึกว่าถูกควบคุมตัวแจ พากันเห็นว่าอยู่ในโลกก็ต้องมีความสุขบ้าง สิ่งสนุกสนานก็มีอยู่มาก สิ่งเจริญตาเจริญหูก็มีอยู่โดยรอบ

นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ที่ชาวจิตตนครเรียกกันว่า “ความหวัง” เป็นอาหารใจสำคัญของชาวจิตตนคร เมื่อเกิดความอ่อนเพลียหรือขัดข้องขาดแคลนอะไรขึ้น ก็รีบบริโภค “ความหวัง” ไว้รองท้อง ทำให้กระปรี้กระเปร่าวิ่งเต้นไปได้คราวหนึ่งๆ

ทั้งนี้เพราะสมุทัยได้มีวิธีครองใจของชาวจิตตนครอย่างแยบยล จนยากที่คนทั่วไปจะรู้สึกได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าสมุทัยทำอย่างไร จะลองเล่าไปตามที่ท่าน “ผู้รู้” ได้บอกไว้

สมุทัยได้พยายามอย่างยิ่งที่จะปิดบังหรือบิดเบือนสิ่งหนึ่ง ที่เรียกตามภาษาของท่านผู้รู้ว่า “ทุกข์” ไม่ยอมให้ใครรู้เห็น “ทุกข์” ได้เป็นอันขาด ด้วยใช้อุบายวิธีต่างๆ ที่ทำให้พากันเห็นไปในทางตรงกันข้าม ถ้าใครเห็นเป็น “สุข” ไปได้ ก็ถูกความประสงค์ของสมุทัยที่สุด

สมุทัยใส่ “ความหวัง” หรือ “ความอยาก” เข้าไปในใจของชาวจิตตนคร พร้อมกับ “ความเพลิน” และ “ความติดใจยินดี” และคอยป้อนสิ่งที่เรียกว่า “อารมณ์” แก่ความอยาก ความเพลิน ความติดใจยินดี โดยแทรกเข้าไปกับข่าวสารที่ผ่านทางระบบสื่อสารชั้นนอกชั้นในดังกล่าวแล้ว

ชาวจิตตนครจึงพากันหิวกระหายต่ออารมณ์ต่างๆ เพลิดเพลินติดใจยินดีอยู่กับอารมณ์ต่างๆ สมุทัยใช้อารมณ์นี้เองเป็นเครื่องผูกใจชาวจิตตนครไว้ ให้พากันหวังพากันเพลิดเพลินอยู่ตลอดวันตลอดคืน พรรคพวกของสมุทัยกี่ร้อยกี่พันก็พากันแฝงตัวคุมอยู่อย่างเงียบๆ และผลัดกันเยี่ยมหน้าออกมาบ้างเป็นครั้งคราว ชาวจิตตนครจึงไม่รู้ไม่เห็น เหมือนอย่างที่คนเป็นโรคมองไม่เห็นตัวเชื้อโรคตั้งพันตั้งหมื่นในร่างกาย ต่อเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องจึงจะมองเห็น

อันที่จริงเจ้าเมืองจิตตนครเป็นผู้มีอาวุธพิเศษอยู่หลายอย่าง สำหรับปราบปรามข้าศึกศัตรูทั้งปวง เหมือนอย่างผู้ที่ปกครองบ้านเมืองทั้งปวงจะต้องมีอาวุธและกำลังต่างๆ จึงจะปกครองและรักษาบ้านเมืองไว้ได้

ถ้าเจ้าเมืองจิตตนครประสงค์จะดูให้เห็นพรรคพวกของสมุทัยทั้งหมดก็สามารถจะเห็นได้ เพราะมีปัญญาเป็นอาวุธพิเศษอย่างหนึ่งประจำตน

แต่สมุทัยได้ลอบเก็บปัญญานี้ไว้เสีย ทั้งเมืองจิตตนครจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ ความหวัง ความเพลิน ความติดใจยินดี และความต่อสู้แย่งชิงอารมณ์กันต่างๆ เป็นโอกาสให้หัวโจกทั้ง ๓ และพรรคพวกพันร้อยแปดจำพวกแทรกแซงกันอลหม่านไปหมด

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา รู้พระธรรมของพระพุทธเจ้าแม้พอควร ถึงจะยังไม่มีปัญญาเห็นตามพระธรรมนั้นจริงๆ แต่ถ้าน้อมใจให้เชื่อบ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นถึงบรมศาสดาที่ทรงสามารถตั้งพระศาสนาที่ใหญ่โตมั่นคงขึ้นได้ในโลก มีศาสนิกมากมาย อะไรที่ทรงสอนไว้ที่เราได้ศึกษารู้ ย่อมเป็นความจริง

เป็นต้นว่าทรงแสดงว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ แม้จะยังไม่เห็นตามด้วยปัญญาของเราเองว่าเป็นทุกข์ กลับเห็นว่าเป็นสุข ก็ควรจะอาศัยความเชื่อเข้าประกอบ ให้น้อมใจลงรับไว้บ้างว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์จริง มิใช่เป็นสุขดังเราเห็น

เมื่อยอมเชื่อบ้างแล้วว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ มิใช่เป็นสุข แม้จะเกิดความหลง ความเพลิน ความติดใจยินดีในสิ่งนั้น ก็ย่อมมีโอกาสจะหยุดหลง หยุดเพลิน หยุดติดใจยินดีได้บ้าง แม้เพียงครั้งคราวเมื่อเกิดสติเกิดปัญญา

ถึงแม้ความไม่หลง ไม่เพลิน ไม่ติดใจยินดีในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นทุกข์ จะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราวก็ยังดี เพราะจะเป็นเหตุให้หลงน้อย เพลินน้อย ติดใจยินดีน้อยลงได้ทุกที แม้มีความเพียรไม่ว่างเว้นที่จะทำให้น้อยลง

กล่าวแล้วว่าความหลง ความเพลิน ความติดใจยินดี เกิดจากอุบายแยบยลของสมุทัยซึ่งเป็นหัวหน้าเหล่าร้ายยิ่งใหญ่ เมื่อทำลายเสียได้เพียงไร ก็เท่ากับทำให้ฝ่ายสมุทัยอ่อนกำลังลงเพียงนั้น

ประเทศบ้านเมืองที่มีผู้ร้ายชุกชุม กับประเทศบ้านเมืองที่ไม่มีโจรผู้ร้ายหรือมีน้อย มีความสงบและความร่มเย็นเป็นสุขแตกต่างกันเพียงไร ย่อมเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว จิตตนครก็เช่นกัน

จิตตนครที่สมุทัยมีกำลังอ่อน กับจิตตนครที่สมุทัยมีกำลังเข้มแข็ง ก็มีความสงบและความร่มเย็นเป็นสุขแตกต่างกันเพียงนั้น

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย แม้มีความเพียรไม่ว่างเว้นที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมจะได้เป็นเจ้าเมืองที่มีปัญญา สามารถทำจิตตนครของตนให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ยิ่งๆขึ้นสืบไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น