พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร มีคำที่เป็นเหมือนคำตอบหลายคำ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ หรือคำเต็มว่า “ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” คำเหล่านี้ถูกต้องทั้งนั้น แต่เป็นคำตอบที่กว้างอย่างไม่ผิด เหมือนอย่างถามว่ารู้อะไร ก็ตอบว่า “รู้วิชา” ยังมีปัญหาต่อไปอีกว่า วิชาอะไร และคำตอบนั้นก็ยังเป็นคำศัพท์อยู่ แปลไม่ออก ไม่รู้ความหมาย ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง
ฉะนั้น จะอธิบายความหมายของคำศัพท์ในคำตอบสั้นๆนั้นก่อน เพราะเป็นคำที่จะต้องพบเสมอในหนังสือพระพุทธศาสนา
• พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม
คำว่า “ธรรม” แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ คือดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง คำนี้ใช้ในความหมายมากมาย เฉพาะในที่นี้ ท่านว่าหมายถึงสัจจะ คือความจริง เพราะความจริงที่เป็นความจริง มิใช่เป็นของเท็จของปลอม ย่อมทรงหรือดำรงความจริงอยู่เสมอ ความจริงที่แน่แท้จึงมีลักษณะของธรรม คือทรงหรือดำรงอยู่นั่นเอง
และคำว่า “สัจจะ” ที่แปลว่าความจริง ก็แปลตามศัพท์ว่า สภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ อันสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ทรงตัวหรือดำรงตัวอยู่ได้ เหมือนอย่างชีวิต ทรงชีวิตหรือมีชีวิตก็หมายถึงยังเป็นอยู่ ยังไม่ตายเช่นเดียวกัน
ฉะนั้น ธรรมจึงได้แก่ความจริง เรียกควบกันเป็นศัพท์ว่า “สัจธรรม” พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม คือตรัสรู้ความจริง
• พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ
คำว่า “อริยะ” ตรงกับคำว่า “อารยะ” แปลกันว่า ประเสริฐ
“อริยสัจ” แปลว่า ความจริงอย่างประเสริฐ(คือจริงอย่างแน่แท้หรือแน่นอน) ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นพระอริยะ(ผู้ประเสริฐ) ความจริงที่พระอริยะพึงรู้ ความจริงของพระพุทธเจ้าผู้อริยะ ข้อนี้เท่ากับเป็นข้ออธิบายของข้อก่อน คือข้อก่อนว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม คือ ความจริง ข้อนี้ชี้ลงไปชัดว่า ธรรมคือความจริง(สัจธรรม) ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นคืออริยสัจจะ ไม่ใช่สัจจะทั่วๆไปของปุถุชน(คนที่ยังหนา)
• พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ
คำว่า “โพธิ” แปลว่า ตรัสรู้ “ญาณ” แปลว่า หยั่งรู้ ทั้ง 2 คำแปลว่า “รู้” ด้วยกัน แต่โพธิมีความหมายสูงกว่า รวมกันว่า “โพธิญาณ” แปลว่า ญาณคือความตรัสรู้
พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เมื่อแปลเข้าก็คงซ้ำๆกันว่า ตรัสรู้พระญาณคือความตรัสรู้ มีความหมายว่า รู้จนตรัสรู้ความจริงแจ่มแจ้งหมดทุกอย่าง สัจธรรมหรืออริยสัจแจ่มแจ้งอยู่ในความรู้อันเรียกว่า พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ จึงมีความหมายง่ายๆว่า ตรัสรู้ความรู้ในสัจธรรม
• พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คำว่า “อนุตตระ” แปลว่า อย่างยิ่ง ไม่มียิ่งกว่า “สัมมา” แปลว่า โดยชอบ “สัม” แปลว่า เอง “โพธิ” ก็ตรัสรู้ “ญาณ” ก็หยั่งรู้ รวมกันว่า “อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบไม่มียิ่งกว่า
เป็นคำขยายออกไปจากบทก่อนว่า พระโพธิญาณนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าอีกแล้ว คือรู้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครจะรู้ยิ่งขึ้นไปกว่า ไม่มีอะไรจะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว
• พระสัพพัญญู
“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” ได้ยกคำที่พบกันอยู่เสมอมาแสดง เหมือนอย่างคำตอบอย่างสั้นๆดังกล่าวมานั้น แต่ความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอนุตตระ ไม่มีที่จะยิ่งไปกว่า ดังบทที่แสดงแล้ว จึงเป็นความรู้สิ่งทั้งหมด เรียกว่า สัพพัญญุตญาณ (“สัพพัญ” - ทั้งหมด “ญุต” - ความรู้ “ญาณ” - ความหยั่งรู้ รวมกันว่า ญาณคือความรู้สิ่งทั้งหมด) พระพุทธเจ้าจึงเป็นพระสัพพัญญู ผู้รู้สิ่งทั้งหมด
แต่มิใช่ว่าทรงรู้เท่าไรทรงแสดงทั้งหมด ทรงแสดงตามควรแก่ภูมิชั้นของผู้ฟังเท่านั้น เพราะทรงมุ่งสอนให้ผู้ฟังรู้เข้าใจ ถ้าสอนเกินภูมิไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เหมือนอย่างมีภูมิรู้ขนาดชั้นมัธยม 3 ก็ทรงสอนขนาดที่นักเรียนชั้นนั้นจะเข้าใจได้ แต่เมื่อทรงสอนแก่คนที่มีภูมิรู้ชั้นสูงๆขึ้นไป ก็ทรงสอนสูงขึ้นตามชั้น
ข้อสำคัญที่เป็นพิเศษนั้น คือได้ทรงศึกษารู้จบทางคดีโลก เหมือนอย่างเป็นดุษฎีบัณฑิตมาก่อนแล้ว และมาทรงค้นคว้าจนรู้จบทางคดีธรรม จึงทรงรู้โลกรู้ธรรมแจ้งชัดหมด อาจสั่งสอนคนได้ทุกชั้น อาจโต้วาทะกับใครๆที่เลื่องลือว่าเป็นนักปราชญ์ได้ทั้งนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้จึงมีหลากหลาย ซึ่งพระสาวกได้ฟังจำกันไว้ต่อๆมาจนถึงจดเป็นตัวอักษร แล้วพิมพ์เป็นหนังสือพระไตรปิฎกจำนวนหลายสิบเล่ม เหมือนอย่างรวมหลักสูตรตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนถึงชั้นอุดมไว้พร้อมเสร็จ
ฉะนั้น เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาไปโดยลำดับ ย่อมจะเข้าใจได้ดี และจะยิ่งรู้ความจริงยิ่งขึ้นทุกที แต่ถ้าเริ่มศึกษาผิดชั้น จะเข้าใจยากหรืออาจไม่เข้าใจ เหมือนอย่างยังไม่รู้เลขชั้นประถม ไปจับเรียนเลขชั้นมัธยมสูงๆทีเดียว จะเข้าใจได้อย่างไร
และพระธรรมของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท มีเหตุลที่ผู้ศึกษาอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะทรงแสดงส่องเข้ามาที่ตัวเราเองทุกๆคน มิได้ทรงแสดงไกลออกไปๆจนมองไม่เห็น
ฉะนั้น เมื่อมีใครมาถามพระองค์ถึงเรื่องที่ไกลออกไปเช่นนั้น เช่นเรื่องโลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุดเป็นต้น ก็ไม่ได้ตรัสตอบ เพราะตรัสตอบไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ผู้ถามเองก็มองไม่เห็น คนอื่นก็มองไม่เห็น ได้แต่เชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ถึงจะเชื่อก็เป็นเรื่องอย่างหลับตาเชื่อ ไม่มีทางจะเกิดปัญญารู้เห็นได้เอง ทางที่ถูกควรจะไม่เชื่อมากกว่า
พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้คนเชื่อด้วยความรู้ จึงทรงงดแสดงเรื่องที่คนไม่อาจจะรู้จะเห็น ทรงแสดงแต่เรื่องที่คนอาจจะรู้จะเห็นได้ คือเรื่องส่องเข้ามาที่ตัวของเราเองดังกล่าวแล้ว
ใครๆที่มีจิตใจมีสติปัญญาอย่างสามัญ อาจรู้เข้าใจพระธรรมของพระองค์ได้ทั้งนั้น และไม่ต้องไปรู้ไกลออกไปที่ไหน รู้ที่ตัวของตัวเองนี้แหละอย่างมีเหตุผลตามเป็นจริง ทั้งสามารถจะปฏิบัติได้ทำได้ตามที่ทรงสั่งสอนด้วย เมื่อทำได้แล้วก็ได้รับผลดีจริง เช่น ทรงสอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำความดี ให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด นี้ก็คือทรงสอนแก่ตัวของเราทุกๆคน
เราทุกๆคนสามารถไม่ทำความชั่ว สามารถทำความดี สามารถชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ไม่สามารถ แต่บางอย่างไม่สามารถจริงๆ เช่น ถ้าจะมีใครสอนให้กลั้นลมหายใจเรื่อยไป สอนไม่ให้กิน สอนไม่ให้นอน เช่นนี้ไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามได้แน่ ใครขืนปฏิบัติตามเป็นตายแน่
ส่วนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครต้องตายต้องเสียหาย เพราะปฏิบัติตามมีแต่จะดีขึ้น มีสุขมีเจริญขึ้นไปทุกที และยิ่งจะรู้จักความจริงที่ตัวเราเองของตัวเราเองมากขึ้นทุกที เพราะดีชั่วของตัวเราเอง ใครเล่าจะทำให้ได้ ตัวของเราเองนั่นแหละ ทำให้แก่ตัวเราเอง และตัวเราเองเป็นอย่างไรเราก็รู้ ถึงจะปกปิดคนอื่นได้ ก็ปกปิดตัวเราเองไม่ได้ ปกปิดพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เพราะเข้าอยู่ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้งนั้น
แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณายิ่งใหญ่ ใครทำอะไรไม่ดี น้อยหรือมากอย่างไร ใครเสียใจว่าไม่มีใครคบใครรัก ใครคิดว่าถูกใครๆพากันเกลียดหรือรังเกียจ หรือเกิดเกลียดตนรังเกียจตนขึ้นเอง ใครมีทุกข์ร้อนน้อยหรือมากต่างๆ ขอให้รู้สึกสำนึกตน รับรองความจริงของตน และระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิด
พระพุทธเจ้าไม่ทรงเกลียด รังเกียจใคร ไม่ทรงสาปแช่งใคร มีแต่พระกรุณาเปี่ยมอยู่เสมอ และได้ประทานทางออกให้แก่ทุกๆคนไว้แล้ว คือ ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
เดิมทำมาไม่ดี ก็ตั้งต้นใหม่ตามทางออกนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงทิ้งผู้ที่ตั้งต้นทำความดี ขอให้ตั้งต้นเถิด ขอให้ตั้งใจพึ่งพระพุทธเจ้าเป็นกำลังใจเถิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งผู้ที่ตั้งใจพึ่งพระองค์จริงๆเลย และผู้ที่ดำเนินชีวิตไปในทางแห่งพระธรรมที่ทรงสั่งสอนตามภูมิชั้นของตน ก็ไม่มีพลาดผิดไปจากผลดีต่างๆเลย
(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)