รัฐบาลอินเดียจัดพิธีวัชรยานบูชา ถวาย “สมเด็จพระสังฆราช” จัดพระลามะ 19 รูปสวดอ้อนขอให้กลับมาประสูติเป็นพระสังฆราชอีกครั้ง พร้อมสร้างพุทธมณฑลทราย-ปั้นเครื่องสักการะจากเนย ระบุใช้สำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้น วัดบวรฯเผยถือเป็นครั้งแรกในไทย ส่วนการออกพระเมรุคาด พ.ย.นี้ เร่งจัดทำหนังสือที่ระลึก
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ เปิดเผยถึงการงาน “วัชรยานบูชา” การบำเพ็ญกุศลพระศพทางพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานน้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 17-24 มี.ค.โดยมีพระลามะนิกายวัชรยาน 19 รูปจากประเทศอินเดียเข้าร่วม ว่า รัฐบาลอินเดียจัดพิธีวัชรยานบูชา น้อมถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อแสดงความอาลัยและแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและอินเดีย โดยพิธีประกอบด้วย การสร้างพุทธมณฑลทราย (มันดาลา) และการปั้นเครื่องบูชาสักการะจากเนย ซึ่งเป็นพิธีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ตามปกติพิธีนี้จัดขึ้นสำหรับบุคคลสำคัญและพิธีสำคัญเท่านั้น ดังนั้น การจัดพิธีวัชรยานบูชาถวายสมเด็จพระสังฆราช จึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นครั้งแรกในไทยด้วย
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีพิธีสวดมนต์ โดยพระลามะ 10 รูป โดยจะใช้บทสวดพิธีเพื่ออ้อนวอนขอให้สมเด็จพระสังฆราชทรงกลับมาประสูติเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกครั้ง และจะมีการรำบูชาวัชรยานถวายพระศพตามโบราณประเพณีวัชรยาน 3 ชุด ส่วนการสร้างพุทธมณฑลทรายจะสร้างเป็นรูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม ใช้หินอ่อนตกผลึกสีขาวนำมาบดเป็นทรายหลายขนาด นำไปย้อมสีต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แน่นอนทุกขั้นตอนการสร้างต้องใช้สมาธิขั้นสูง ส่วนการปั้นเครื่องบูชาสักการะจากเนยเป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัย โดยปั้นจากเนยสีต่างๆ เป็นรูปทรงสวยงาม ซึ่งในงานครั้งนี้ได้ปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าและรูปดอกไม้ โดยจะมีพิธีอัญเชิญ “เครื่องบูชาสักการะเนย” มาบูชาหน้าพระโกศ
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า พิธีทั้งหมดจะเริ่มวันที่ 19 มี.ค.ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ณ ปะรำพิธีด้านหน้าตำหนักเพ็ชร ส่วนพุทธมณฑลทรายจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมจนถึงวันที่ 24 มี.ค.จากนั้นจะทำพิธีลบพุทธมณฑลทราย ซึ่งถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีตามแบบวัชรยาน ส่วนความคืบหน้าการออกพระเมรุพระศพสมเด็จพระสังฆราช ยังรอการโปรดเกล้าฯ อย่างเป็นทางการ แต่ได้หารือเบื้องต้นและเตรียมการไว้ช่วง พ.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้วัดบวรฯ กำลังเร่งจัดทำหนังสือที่ระลึกงานออกพระเมรุฯ จำนวน 16 เล่ม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.หนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์โบราณ 2.พระประวัติ 3.พระนิพนธ์ นอกจากนี้ มีการจัดทำเครื่องสังเค็ด ซึ่งเป็นตู้ไม้สัก ประมาณ 200 ใบ มอบให้กับวัดต่างๆ โดยในตู้จะมีหนังสือพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชและหนังสือการออกพระเมรุ