xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๑๓) จิตตนคร เมืองภาพยนตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


จิตตนครพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งทั้งปวง ดังที่สรุปเรียกว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และเรื่องหลายหลาก ซึ่งผ่านเข้าไปทางระบบสื่อสารชั้นนอกชั้นในดังกล่าวแล้ว อันเรียกด้วยภาษาของชาวจิตตนครว่า “อารมณ์” แปลว่า “สิ่งเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวจิตใจ”

สมุทัยเป็นผู้สร้างขึ้น และสอดแทรกเข้าไปทางระบบสื่อสารทั้งหลาย สมุทัยใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือในการครองใจคนทั้งปวง โดยเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวจิตใจให้หลงเพลินยินดี สมุทัยคอยเติมเชื้อความอยาก ความใคร่ ความปรารถนา แก่ชาวจิตตนคร และตบแต่งอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจไว้คอยสนอง

ชาวจิตตนครจึงพากันหิวกระหายอารมณ์ดังกล่าวอยู่ อย่างไม่อิ่มไม่เพียงพอ ได้อารมณ์อย่างนี้แล้วก็ใคร่จะได้อารมณ์อย่างนั้นอีก

นอกจากนี้ บรรดาหัวโจกและสมุนทั้งปวงก็พากันแอบแฝงหนุนให้เป็นไปต่างๆ เช่น บางทีไม่ได้อารมณ์ที่น่าปรารถนา ก็หนุนให้โกรธกริ้วตรงกันข้ามพากันหนุนไปตามอารมณ์นี้เอง ชาวจิตตนครหาได้เห็นสิ่งที่หนุนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือบรรดาหัวโจกและสมุนเหล่านั้นไม่ ถ้าจะวาดภาพของอารมณ์ให้พอมองเห็นได้ชัด ก็พอวาดได้ดังนี้

อารมณ์จะปรากฏเป็นภาพของสิ่งทั้งหลายที่ตามองเห็นมาลอยอยู่ในใจ เช่น เป็นภาพบ้านเรือน ต้นไม้ ภูเขา บุรุษ สตรี ถ้าเป็นสิ่งที่สะดุดตา สะดุดใจ หรือเป็นสิ่งที่ชอบหรือแม้ชัง ก็ยิ่งเป็นภาพที่ปรากฏเด่นชัด บางทีเป็นวิมานลอย ดังที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศ บางทีเป็นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ภูติผีปีศาจ

เมื่อปรากฏเป็นภาพขึ้นในใจดังนี้แล้ว ก็ยินดีในภาพที่น่ายินดี ยินร้ายหรือโกรธแค้นขัดเคืองในภาพที่น่ายินร้าย อารมณ์จะปรากฏเป็นภาพจากเสียงที่หูได้ยิน เป็นภาพเสียงที่แว่วในใจ เป็นเสียงดนตรี เสียงลม เสียงนํ้า เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนพูด ซึ่งแปลภาษาออกมาเป็นคนเป็นวัตถุ เป็นต้น เช่นได้ยินคำว่าแก้วแหวนเงินทอง จะปรากฏภาพเป็นแก้วแหวนเงินทองลอยอยู่ในใจ แล้วก็เกิดโลภในภาพนั้น อารมณ์จะปรากฏเป็นภาพกลิ่นที่จมูกสูดดม เป็นภาพรสที่ลิ้นได้ลิ้ม เป็นภาพสิ่งถูกต้องทางกายขึ้นในใจเช่นเดียวกัน แล้วก็ชอบหรือชังอยู่กับอารมณ์นั้น

อารมณ์จะปรากฏเป็นภาพของเรื่องทุกเรื่องที่ใจคิด ใจคิดถึงภูเขา ก็จะปรากฏเป็นภาพภูเขาขึ้นทันที ใจคิดถึงบุตรภริยา สามี จะปรากฏเป็นภาพบุคคลเหล่านี้ขึ้นทันที ใจคิดถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงสิ่งถูกต้อง ถึงเรื่องของสิ่งเหล่านี้ ก็จะปรากฏเป็นภาพของสิ่งทั้งปวงนี้ทุกอย่าง สุดแต่ว่าใจจะคิดถึงอะไร แล้วก็ชอบหรือชังอยู่กับภาพเหล่านั้นเช่นเดียวกัน

ชาวจิตตนครพากันพัวพันเพลิดเพลินอยู่กับภาพ คล้ายกับคนนั่งดูภาพยนตร์ นิยมชมชอบตัวพระตัวนาง เกลียดตัวผู้ร้าย บางคราวก็หัวเราะเฮฮา บางคราวที่ใจอ่อนก็ร้องไห้ เพราะมิได้นึกว่าเป็นภาพยนตร์ แต่นึกว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นชีวิตจริง

สมุทัยสามารถทำให้ชาวจิตตนครคิดว่าอารมณ์ที่ปรากฏเป็นภาพในใจนี้ เป็นของจริงฉันนั้นเหมือนกัน โดยใช้หัวโจกสำคัญเงียบๆ คือโมโห ให้เข้าแทรกแซงทำให้หลงเข้าใจผิด

อันที่จริงจิตตนครเป็นเมืองภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเมืองใดๆในโลก และชาวเมืองจิตตนครก็ชอบดูภาพยนตร์กันมาก สามารถดูอยู่ได้ทั้งกลางวันกลางคืน คือเว้นแต่หลับ ถึงหลับก็ยังชอบฝันดูภาพยนตร์กันอีก คนดูหนังดูละครเพลิดเพลินอยู่กับการแสดงของหนังละคร ก็เช่นเดียวกับชาวจิตตนครเพลิดเพลินอยู่กับภาพแสดงของอารมณ์

เมื่อผู้ดูหนังดูละครไม่ปล่อยใจจนเกินไป มีสติรู้ตัวไว้บ้างว่ากำลังดูหนังดูละคร ก็จะไม่หลงชอบชัง ไม่ยินดียินร้ายไปกับบทบาทของตัวแสดง เช่นนี้ฉันใด เมื่อภาพของอารมณ์ปรากฏขึ้นให้เห็น แม้ชาวจิตตนครไม่ปล่อยใจจนเกินไป มีสติรู้ว่าเป็นสิ่งที่สมุทัยใช้หัวโจกสร้างขึ้นเพื่อล่อให้หลง ก็จะไม่ชอบชังยินดียินร้ายไปกับภาพที่แสดงขึ้นด้วยอารมณ์นั้นจนเกินไป ฉันนั้น

การศึกษาให้รู้ความจริง คือ ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า และการอบรมสติให้ดำรงอยู่สมํ่าเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของผู้ที่ไม่ต้องการจะหลงเพลิดเพลิน ชอบชัง ยินดียินร้ายไปกับภาพที่สมุทัยสร้างขึ้นไว้ล่อให้หลง

ผู้ไม่เพลิดเพลินยินดียินร้ายจนเกินไปเท่านั้น ที่มีจิตใจสงบเยือกเย็นที่กล่าวได้ว่าเป็นจิตใจที่มีค่า เป็นที่พึงปรารถนาของผู้มีปัญญาทั้งหลาย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


กำลังโหลดความคิดเห็น