สมุนไพรอะไรเอ่ย? ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
เฉลย... “หญ้าฝรั่น” พืชสมุนไพรที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ในช่วงสมัยต่างๆ หญ้าฝรั่นมีค่ามากกว่าทองคำ เมื่อเทียบน้ำหนักกัน และยังคงเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลกจนปัจจุบัน เพราะส่วนที่นำมาใช้คือเกสร ซึ่งต้องรีบเก็บในวันเดียว มิฉะนั้นดอกจะโรยหมด และต้องรีบนำมาคั่วแห้งทันที ประกอบกับต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นเฉพาะพื้นที่ลาดเขาไม่กี่แห่งในโลก เหตุนี้จึงทำให้หญ้าฝรั่นมีราคาแพงมาก
หญ้าฝรั่น (ออกเสียงว่า ฝะ-หรั่น ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากชื่อในภาษาอังกฤษ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Crocus Sativus Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Saffron, True Saffron, Spanish Saffron, Crocus เชื่อกันว่าเป็นพืชพื้นเมืองแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียไมเนอร์ และอิหร่าน โดยมีการปลูกมาช้านานแล้วในอิหร่าน และแคว้นแคชเมียร์ของอินเดีย
ประเทศที่ปลูกหญ้าฝรั่นเพื่อส่งออก ได้แก่ สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส อินเดีย และอิหร่าน โดยอิหร่านเป็นประเทศที่สามารถผลิตหญ้าฝรั่นที่มีคุณภาพ และมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก
ต้นหญ้าฝรั่นเป็นพืชล้มลุก เพาะพันธุ์ด้วยหัว ความสูงประมาณ 10-30 ซม. ลำต้นอยู่ใต้ดิน มีหัวเป็นเมล็ดกลมสีน้ำตาล ห่อหุ้มด้วยเส้นใยขนานกันหนา มีลักษณะคล้ายหัวเผือกหรือหัวหอม เป็นที่สะสมของแป้ง
ใบสีเขียวเป็นใบยาว เรียว แคบ ปลายใบแหลม ดอกมีสีม่วง ก้านดอกจะแทงออกมาจากหัวใต้ดิน รูปร่างคล้ายดอกบัว มีกลีบดอก 5-6 กลีบ ลักษณะเรียวยาวคล้ายรูปไข่ มีเกสรขนาดยาวเป็นฝอยสีเหลืองอมแดงโผล่พ้นเหนือดอก เกสรตัวเมียมีสีแดงเข้ม ลักษณะเป็นง่าม 3 ง่าม ดอกอยู่ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ และออกดอกในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
หญ้าฝรั่นมีประโยชน์มาก และเป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมแรงติดทนนาน คนส่วนใหญ่นิยมนำหญ้าฝรั่นมาใช้บำรุงร่างกาย ถนอมสายตา บำรุงโลหิต รักษาภาวะซึมเศร้า ช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เสริมอายุให้ยืนยาว หรือนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นประกอบอาหาร หรือแต่งกลิ่นเครื่องหอม น้ำหอม และย้อมผ้า กล่าวกันว่าหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไม่นานนัก บรรดาพระสงฆ์ใช้หญ้าฝรั่นเป็นสีย้อมจีวรกันอย่างกว้างขวาง และสีย้อมนี้ยังใช้สำหรับภูษาอาภรณ์ของกษัตริย์ ในหลายวัฒนธรรมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประวัติการใช้หญ้าฝรั่นในการแพทย์แผนโบราณมาอย่างยาวนาน ตำราแพทย์แผนโบราณของจีน สมัยยุคศตวรรษที่ 16 เรียกหญ้าฝรั่นว่า “ซีหงฮวา” แปลว่า ดอกไม้สีแดงจากตะวันตก
การศึกษาในปี ค.ศ. 1995 ชี้ให้เห็นว่า ยอดเกสรเพศเมียและกลีบดอกของหญ้าฝรั่น มีประโยชน์ในการรักษาภาวะซึมเศร้า และอาจช่วยป้องกันดวงตาจากผลกระทบโดยตรงจากแสงสว่าง และความเครียดที่จอตานอกเหนือจากจุดรับภาพเสื่อม (Macular Degeneration) และโรคตาบอดกลางคืน (Retinitis Pigmentosa)
นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า หญ้าฝรั่นอาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ต่อต้านสารก่อกลายพันธุ์ มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาพฤกษศาสตร์และเภสัชศาสตร์ในทวีปยุโรป พบว่า หญ้าฝรั่นมีสรรพคุณในการลดระดับไขมันและโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด และเพิ่มระดับออกซิเจนในพลาสมา ในวิชาแพทยศาสตร์สาขาโรคทั่วไป ได้ใช้หญ้าฝรั่นเพื่อบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ผ่อนคลายความเครียดของระบบประสาท และช่วยเจริญอาหาร
ในประเทศเยอรมัน ใช้หญ้าฝรั่นเป็นยาคลายกล้ามเนื้อประสาท บรรเทาอาการปวดท้อง ปวดในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการโรคหืดหอบ
ศาสตราจารย์ซิลเวีย พิสติ มหาวิทยาลัยอกิลาในอิตาลี ได้ศึกษาพบว่า การรับประทานหญ้าฝรั่นทุกวัน จะช่วยถนอมสายตาไม่ให้มืดมัวเมื่ออายุมาก ถนอมเซลล์ซับซ้อนในดวงตาให้สามารถใช้งานได้นาน และทนทานโรคได้ดี ช่วยป้องกันดวงตาจากแสงแดด และโรคจอประสาทตาเสื่อม
ในตำราการแพทย์แผนโบราณของไทย ใช้เกสรหญ้าฝรั่นซึ่งมีรสเผ็ดขมอมหวานและหอม เป็นตัวยาหลักที่ใช้ในตำรับยาหอมต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นยาชูกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน แก้โรคเส้นประสาท และกินเป็นน้ำกระสายยาคู่กับการกินยาตำรับต่างๆ
การวิจัยสรรพคุณของหญ้าฝรั่นล่าสุด โดยสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ควบคุมน้ำหนัก ต้านความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับได้
ข้อควรระวัง :
• การรับประทานหญ้าฝรั่นในปริมาณมากเกินไป อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนตัว ตัวสั่น ผิวเหลือง มีเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกบริเวณเปลือกตาและริมฝีปาก ถ่ายเป็นเลือด เลือดออกภายในมดลูก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
• หากพบอาการในเบื้องต้นต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้ จากการค้นคว้าและวิจัยพบว่า ปริมาณการบริโภคหญ้าฝรั่นคือไม่ควรเกิน 1.5 กรัมต่อวัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย มีคณา)