อาจเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากไอร์แลนด์ เข้ามาฉายในไทย นั่นคือ “Song of The Sea” หรือชื่อไทยว่า “เจ้าหญิงมหาสมุทร” หนึ่งในแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์
Song of The Sea เริ่มต้นที่ครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะอันเงียบสงบ มีพ่อ “คอเนอร์”, แม่ “โบรนาห์”, ลูกชายตัวน้อย “เบน” รวมทั้งสุนัขตัวเล็กขนฟู “คู” และอีกไม่นานก็จะมีสมาชิกใหม่มาเพิ่ม เพราะโบรนาห์กำลังตั้งครรภ์ และหวังว่าจะมีน้องสาวให้กับบุตรชายที่เฝ้าถามไถ่ทุกวัน เพราะอยากได้น้องสาวมาดูแลและเป็นเพื่อนเล่น
ความทรงจำสุดท้ายของเด็กชายตัวน้อยในค่ำคืนหนึ่ง แม่มอบเปลือกหอยแล้วบอกว่า มีเสียงเพลงแห่งท้องทะเลอยู่ในนั้น และขณะที่เบนกำลังจะหลับ แม่ของเขาเกิดปวดท้อง แล้วเดินออกไปจากห้อง พลางกล่าวคำว่า “เสียใจ” ก่อนที่จะจากเขาไปตลอดกาล
เรื่องราวผ่านไปอีก 6 ปี เบนเติบโตขึ้นเป็นเด็กวัยซน นั่งอยู่บนโขดหินริมชายหาด เจ้าคูเพื่อนคู่ใจกลายเป็นสุนัขปุกปุยตัวอ้วนใหญ่ ส่วนเด็กสาวตัวน้อยที่ปีนป่ายมานั่งบนโขดหินด้วย คือ “เซอเชอร์” น้องสาววัย 6 ขวบ ที่ยังพูดไม่ได้
ภาพเหตุการณ์บนโขดหิน ไม่เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ในตอนต้นเรื่อง เพราะเบนกลับไม่ค่อยชอบน้องสาว เขาตะเพิดเธอลงจากโขดหิน เธอสังเกตเห็นฝูงแมวน้ำหลายตัว โผล่ขึ้นมาทักทายอยู่ในทะเล เด็กสาวเหมือนมีสัญญาณบางอย่างสื่อสารได้กับแมวน้ำเหล่านั้น เธอค่อยๆเดินลงไปในผืนน้ำ จนกระทั่งสายป่านที่เบนผูกติดเอวไว้ (เพื่อป้องกันไม่ให้น้องสาวพลัดหลง) ดึงตัวเขาลงไปในทะเลด้วย ก่อนที่เจ้าคูจะช่วยสองพี่น้องขึ้นมาอย่างทุลักทุเล
เบนโกรธน้องสาวที่ทำให้เขาเดือดร้อน จึงดึงตัวเธอกลับบ้านฟ้องพ่อ แต่เมื่อพ่อเห็นลูกสาวตัวเปียกปอน จึงอุ้มขึ้นมาด้วยความทะนุถนอม ไม่ได้ว่ากล่าวอะไร ปล่อยให้เบนหงุดหงิดอยู่คนเดียว
ภาพตัดไปที่เรือยนต์ข้ามฟาก หญิงชราคนหนึ่งอยู่ในรถยนต์คันกะทัดรัด เธอคือ “คุณย่า” ของเด็กทั้งสองคน ซึ่งเดินทางมาฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 6 ของหลานสาว แต่ด้วยความจู้จี้ขี้บ่น จึงไม่มีหลานคนไหนดีใจที่เธอแวะมาหา เหตุที่เธอต้องบ่นก็เพราะเห็นสภาพความเป็นอยู่ของหลานที่บ้านช่องสกปรกรกรุงรัง
หลังจบการฉลองวันเกิด คุณย่าก็อยู่ช่วยดูแลหลานแทนคอเนอร์ ซึ่งเข้าเมืองไปดื่มเหล้า เพื่อลืมความทุกข์ในอดีต เพราะวันเกิดของลูกสาว เป็นวันเดียวกับที่ภรรยาสุดที่รักจากไป
แล้วยามดึกก็มีเรื่องราวมหัศจรรย์เกิดขึ้น เซอเชอร์แอบหยิบเปลือกหอยที่แม่มอบให้เบน มาเป่าเป็นเสียงเพลง จากนั้นก็เกิดแสงประหลาด นำทางเธอไปเจอกุญแจและหีบสีทอง ซึ่งบรรจุเสื้อคลุมสีขาวเรืองแสง เธอหยิบมันขึ้นมาสวมใส่ แล้วแสงประหลาดนั้นก็นำเธอไปที่ชายหาด ซึ่งแมวน้ำฝูงเดิมยังรออยู่ สาวน้อยเดินไปในท้องทะเล แล้วดำดิ่งสู่ใต้ผืนน้ำ กลายร่างเป็นแมวน้ำสีขาวโดดเด่น... สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หมายถึง เซอเชอร์ คือ “เซลคี่” มนุษย์ครึ่งแมวน้ำในตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช
เมื่อว่ายน้ำเสร็จ เซอเชอร์ก็กลับเป็นเด็กน้อยดังเดิม นอนอยู่ริมหาด คุณย่าซึ่งผวาตื่นกลางดึก ได้มาอุ้มหลานสาวไปเช็ดเนื้อเช็ดตัว เมื่อคอเนอร์กลับมา เธอจึงยืนกรานว่า จะไม่ยอมให้เกิดเรื่องแย่ๆแบบนี้อีก และพรุ่งนี้จะพาหลานไปอยู่ด้วยกันในตัวเมือง คืนนั้น คอเนอร์จึงตัดสินใจโยนหีบใส่เสื้อเรืองแสงทิ้งทะเลไป ราวกับมันเป็นความลับที่เขาไม่ต้องการให้ใครล่วงรู้
เด็กทั้งสองไม่ต้องการไปอยู่กับย่า ระหว่างทางเบนจึงวาดแผนที่เส้นทางจากบ้านไปถึงเมือง เพื่อวางแผนจะหนีกลับบ้าน ตกเย็นเขาแอบปีนหน้าต่างหนี โดยมีน้องสาวตัวน้อยมาด้วย ระหว่างทางเด็กสาวเป่าเปลือกหอยอีกครั้ง เสียงเพลงปลุกให้ “ภูตกายสิทธิ์” (ภูตเผ่าพันธุ์หนึ่งที่อาศัยร่วมกับมนุษย์) ตื่นขึ้น และในตำนานเรื่องเล่า ภูตเหล่านี้ถูก “มาค่า” แม่มดนกฮูกสาปให้กลายเป็นหิน พร้อมทั้งลูกชายของเธอ
ดังนั้น เหล่าภูตที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงออกตามหา “เซลคี่” เพราะตามความเชื่อที่ว่า หากเซลคี่ร้องเพลงบทเพลงจากท้องทะเล จะช่วยคลายคำสาปแม่มด ให้เหล่าภูตกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ขณะที่บรรดาสมุนนกฮูกของแม่มด ก็ออกตามล่าหาเซลคี่เช่นกัน เพื่อปกป้องไม่ให้คำสาปโดนทำลาย
แล้วการผจญภัยของสองพี่น้องจึงเริ่มต้นขึ้น ทั้งคู่ได้รู้จักกับเหล่าภูตกายสิทธิ์ และยังต้องหลบหลีกฝูงนกฮูกที่ตามล่าตัวสาวน้อย ก่อนที่ทั้งคู่จะอาศัยรถบัสออกไปนอกเมือง ระหว่างทางเซอเชอร์ได้เป่าเปลือกหอย เพื่อให้แสงวิเศษนำทางไป จนกระทั่งได้พบกับเจ้าคู ที่ว่ายน้ำข้ามฝั่งมาตามหาเจ้านาย
ระหว่างกลับบ้าน สายฝนที่โปรยปรายตลอดทาง ทำให้เซอเชอร์เริ่มป่วย เบนจึงอุ้มน้องสาวเข้าไปหลบฝนบริเวณบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เด็กสาวได้ตกลงไปในบ่อน้ำ ก่อนจะโดนฝูงนกฮูกจับตัวไปพร้อมกับเจ้าคู สายป่านที่เบนผูกเอวไว้ก็ทำให้เขาตกลงไปด้วย
เบนตกลงไปพบกับดินแดนของ “ซีนาคี” ภูตผู้ยิ่งใหญ่ตนหนึ่ง ที่มีเส้นผมยาวเฟื้อย ไว้บันทึกความทรงจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก ซีนาคีแนะนำเบนว่า ต้องไปช่วยน้องสาวก่อนจะสายเกินไป เพราะแม่มดมาค่าจะสาปให้เซอเชอร์กลายเป็นหิน เพื่อป้องกันไม่ให้เธอมีโอกาสร้องเพลงเพื่อทำลายคำสาป
เบนจึงเดินตามรอยเส้นผมของซีนาคีไปเรื่อยๆ และได้พบกับความทรงจำที่ทำให้รู้ว่า แม่ของเขาก็เป็นเซลคี่ ในวันที่คลอดเซอเชอร์ เธอป่วย จึงกลายร่างเป็นแมวน้ำ แล้วจากไปโดยไม่กลับมาอีก ทิ้งลูกสาวไว้พร้อมเสื้อคลุมวิเศษ คอเนอร์เสียใจมาก เขาจมอยู่กับความทุกข์ กระทั่งกลายเป็นความห่างเหินที่มีต่อลูกชาย และดูเหมือนจะทุ่มเทความรักให้ลูกสาวมากกว่า เพราะกลัวว่าเธอจะจากเขาไปอีกคนเหมือนภรรยา
หลังจากเบนรับรู้ความจริง เขาก็มุ่งมั่นตามหาน้องสาว เพื่อช่วยให้พ้นคำสาป การเผชิญหน้ากับแม่มดนกฮูก ทำให้เขารู้ว่า เมื่อแม่มดมีความทุกข์ เธอจะใช้คำสาปดูดความรู้สึกนั้นไว้ในขวดโหล และสาปให้คนอื่นเป็นหิน เพราะเธอคิดว่าเป็นการลืมเลือนความทุกข์ได้ดีที่สุด แต่สุดท้าย เบนก็หนีเอาตัวรอดมาได้ และนำเปลือกหอยให้น้องสาวเป่าเป็นเสียงเพลง เพื่อทำลายคำสาปในขั้นแรก ก่อนนำไปสู่การทำลายคำสาปขั้นสุดท้าย
Song of The Sea เป็นเรื่องเล่าจากนิทานพื้นบ้านไอริช โดยเนื้อหาที่มีความเป็นแฟนตาซีเหนือจริงนั้น เราจะเห็นหลักธรรมเรื่องการ “ปล่อยวาง” แฝงอยู่
ในเรื่องนี้มีอยู่ 2 คน ที่ไม่ยอมปล่อยวางกับความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ คอเนอร์ ที่จมกับความทุกข์เมื่อภรรยาจากไป จนกระทั่งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และความรู้สึกของลูก แถมยังดับทุกข์ในทางที่ผิดด้วยการออกไปดื่มเหล้า อีกหนึ่งราย คือ แม่มดมาค่า ซึ่งสาปลูกชาย รวมถึงทุกๆคน ให้กลายเป็นหิน เพราะเธอมองว่าเป็นวิธีลืมความทุกข์ที่รวดเร็ว
หลักธรรมของพุทธศาสนา มีวิธีลืมความทุกข์จากการสูญเสีย ด้วยการทำความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตที่เกิดขึ้น แล้วรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดอยู่กับความทุกข์นั้น โดยกฎธรรมดาของสรรพสิ่งที่ไม่มีใครอยู่เหนือได้ คือ หลักไตรลักษณ์ ลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ “อนิจจลักษณะ” ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกมีการแปรเปลี่ยน “ทุกขลักษณะ” ความเป็นทุกข์ ความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติ ทุกสิ่งไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ตลอดไป “อนัตตลักษณะ” ความไม่สามารถบังคับทุกสิ่งให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น จิตใจ หรือชีวิต (ซึ่งมีนัยหมายถึงความตาย)
ดังนั้น การใช้สติและปัญญาพิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ย่อมจะทำให้สามารถรับสภาพกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ดี ตรงกันข้ามหากมัวแต่ยึดมั่นถือมั่น เก็บงำความทุกข์ไว้ในใจ ย่อมไม่สามารถดับทุกข์นั้นได้อย่างถาวร ซ้ำร้ายยังส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง ดังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)