ตามขนบธรรมเนียมประเพณีจีนที่สืบทอดกันมายาวนาน วันที่สองของเดือนที่สองตามปฏิทินจันทรคติ ถูกเรียกขานว่า “วันเชิดหัวมังกร” และเมื่อวันนี้มาถึง ฤดูเก็บเกี่ยวใบชาหลงจิ่งจากต้นที่แก่และหายาก ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2015 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองการเก็บใบชาฉาน หรือชาเซนอย่างยิ่งใหญ่ ภายในวัดฟาจิ่ง เมืองหางโจว โดยมีนายหยาง ซิกัง นายกเทศบาลเมืองหางโจว พระกวงฉวน ประธานสมาคมพุทธเมืองหางโจว อาจารย์กังเซียว รองอธิการบดีสถาบันพุทธศึกษาเมืองหางโจว และแขกผู้มีเกียรติมากมายเข้าร่วมพิธี
พิธีกรรมเริ่มจากพระสงฆ์สวดมนต์ให้พรและปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป จากนั้นพระรูปหนึ่งถือกระถางกำยานไม้จันทน์นำหน้า แล้วพระอาจารย์ผู้นำในพิธีกรรม ใช้ก้านต้นหลิวประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั่วต้นชา พร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย หลังจบพิธีกรรมบรรดาพระสงฆ์กว่า 40 รูป ก็เริ่มต้นเก็บใบชาในไร่วัดฟาจิ่ง ซึ่งมีเนื้อที่ราว 30 ไร่ และนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำไปทำให้แห้งด้วยวิธีโบราณ และสาธิตวิธีชงชา ดื่มชา
การดื่มชาฉานเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาของพุทธศาสนิกชนที่พิเศษยิ่ง เพราะเป็นการเข้าถึงธรรมะของพระพุทธองค์ผ่านการผลิตและดื่มชา
หลิว จันเซียน ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมชาของจีน อธิบายว่า “ชาฉานเป็นพิธีการดื่มชาตามวิถีพุทธ เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้ง และเห็นจริง ในพระพุทธศาสนา”
ทั้งนี้ วัดฟาจิ่งมิได้เป็นวัดเดียวที่ปลูกชา แต่ชาฉานที่ผลิตจากวัดต่างๆในเมืองหางโจว มีประวัติและชื่อเสียงที่ได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศมาเป็นเวลาช้านาน เหล่าพระสงฆ์ได้ลงมือปลูกต้นชาและทำทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ใบชาที่มีคุณภาพ จนได้รับคำชมจากผู้มาเยือน (ลูกค้า) เกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การได้ถวายเป็นพุทธบูชา
วัฒนธรรมชาฉานอันมีเอกลักษณ์นี้อยู่คู่ประเทศจีนมานานกว่า 1,000 ปี แล้ว โดยได้มีการจัดเทศกาลวัฒนธรรมชาเซนขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดตันซี นครปักกิ่ง ซึ่งเป็นวัดโบราณอายุ 1,700 ปี
การดื่มชาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วัดตันซี ซึ่งนับย้อนหลังไปในยุคราชวงค์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265-316) ที่มีการสร้างวัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในเวลานั้นเหล่าภิกษุจะเก็บใบชาที่ปลูกอยู่บนภูเขาทางด้านหลังวัด นำไปทำให้แห้ง และชงเป็นชาดื่ม ซึ่งออกฤทธิ์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยให้พระสงฆ์ทำสมาธิได้นานขึ้น ดังนั้น การดื่มชาจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการที่พระสงฆ์ต้องทำในแต่ละวัน
“ฉาน” หมายถึง “การทำสมาธิ” ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนทางสู่การรู้แจ้ง เห็นจริง การมีสติและสมาธิจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยใจที่กระจ่างและใสสะอาด ดังนั้น ธรรมชาติของชาซึ่งมีรสขมและเย็น จึงถูกนำมาช่วยให้ใจสงบ พิธีดื่มชาไม่เพียงช่วยให้พระสงฆ์รู้สึกตื่นตัวระหว่างการทำสมาธิ แต่ยังเป็นไปตามหลักพุทธศาสนามหายาน นิกายฉาน ที่ต้องการให้เกิดความสงบสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในจิตใจ
ตามคำสอนในนิกายฉาน การรู้แจ้ง เห็นจริง จะเกิดขึ้นกับคนที่รู้ตื่นแล้วเท่านั้น ซึ่งบุคคลต้องใช้ความพยายามจนรู้ตื่นให้จงได้ ความรู้สึกที่ได้จากการดื่มชา ที่มีรสขมในตอนแรก แต่มีรสหวานกรุ่นอยู่ในปาก แท้จริงแล้ว คือความหมายที่นิกายฉานสอนว่า ชีวิตคนเราอาจขมขื่นในคราแรก แต่จะกลับหวานชื่น หลังจากความเพียรพยายามและการอุทิศตนในการปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ นิกายฉานยังเน้นย้ำความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต และเป็นธรรมชาติ บรรดาภิกษุในนิกายฉานมองว่า การหลงระเริงและความหรูหรา ไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่าสิ่งที่สามารถกระตุ้นจิตใจและทำให้ชีวิตดีขึ้น ส่วนประกอบง่ายๆของชา สะท้อนถึงการไม่แสวงหาชื่อเสียงหรือเงินทอง แต่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยใจที่สงบสุข
พระอาจารย์จิงฮุย แห่งวัดไป่หลิง มณฑลเหอเป่ย์ อธิบายถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมชาฉานในจีนว่า
“แก่นแท้ของวัฒนธรรมชาฉานในประเทศจีน อาจสรุปได้ด้วยคำ 4 คำ คือ ‘ยุติธรรม ซื่อสัตย์ ปรองดอง และงดงาม’ บทบาทของวัฒนธรรมชาฉาน คือการ ‘ขอบคุณ ให้อภัย แบ่งปัน และเป็นมิตร’ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับวิถีฉาน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ชาและฉาน หลอมรวมกันอย่างแนบแน่น และวัฒนธรรมชาฉานได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากในจีน”
• ผู้ก่อตั้งนิกายฉาน กับตำนานชาฉาน
ปรมาจารย์ตั๊กม้อ หรือพระโพธิธรรม (Bodhidharma) ชาวอินเดีย ได้เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเหลียงบูเต้ ท่านเดินทางไปที่จีนภาคเหนือในปี ค.ศ. 526 แล้วสร้างวัดเสี่ยวลิ่มยี่หรือวัดเส้าหลิน ขึ้นบนภูเขาซงซัว มณฑลเหอหนัน จากนั้นจึงก่อตั้งนิกายฉานขึ้น
เนื่องจากคำสอนของท่านจะเน้นไปที่การเข้าฌาน จึงมักจะเรียกกันว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี ส่วนสันสกฤต เรียกว่า “ธฺยาน” ในภาษาจีนกลางเรียกว่า “ฉาน” และภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซน”
นิกายฉานเน้นการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเพื่อให้เข้าถึงฌาน โดยไม่อาศัยตัวหนังสือหรือปริยัติธรรมใดๆ แต่ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริงแล้วบรรลุเป็นพุทธะ ต่อมานิกายฉานได้ขยายไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในตะวันตก
มีตำนานเล่าว่า ขณะอยู่วัดเส้าหลิน ปรมาจารย์ตั๊กม้อนั่งสมาธิผินหน้าเข้าฝาอยู่ 9 ปีไม่ลุกขึ้น และมีอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ท่านได้ตัดหนังตาทิ้ง เนื่องจากโมโหที่เผลอหลับไปขณะทำสมาธิ เมื่อหนังตานั้นตกถึงพื้น ก็เติบโตกลายเป็นต้นชา และตำนานยังเล่าต่อว่า ด้วยเหตุดังกล่าวภิกษุนิกายเซนจึงนิยมดื่มน้ำชา เพราะจะได้ไม่ง่วงเวลาทำสมาธิ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย มนตรา)