xs
xsm
sm
md
lg

พุทธะตื่นรู้

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ พอจะมี “พุทธะ ผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” อย่างอริยชนคนหลุดพ้นบ้างไหม?

ปฏิเวธสูตรตอนที่ 10 กล่าวว่า...ในกายของปุถุชนก็มีพุทธภาวะที่ไม่อาจทำลายได้เสมือนกับพระอาทิตย์ แสงของมันขยายไปทั่วอวกาศไม่มีสิ้นสุด แต่เมื่อใดมันถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาทึบด้วยเงาทั้ง 5 (ขันธ์ 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มันก็เหมือนแสงในตุ่มน้ำถูกบดบังจากการเห็น

และพระนิพพานสูตร กล่าวว่า...ปุถุชนทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะ แต่มันถูกครอบคลุมด้วยความมืด (ของอวิชชา) ซึ่งไม่อาจหลบเลี่ยงได้ ธรรมชาติแห่งพุทธะของเราก็คือ สติสัมปชัญญะ (ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม) โดยการทำให้ตนเองตื่นตัว และทำให้ผู้อื่นตื่นตัวด้วย การประจักษ์แจ้งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเป็นความหลุดพ้น

ความดี (กุศลธรรม) ทุกอย่างมีสติสัมปชัญญะเป็นรากฐาน และจากรากเหง้าแห่งสติสัมปชัญญะนี้ จึงก่อให้เกิดต้นไม้แห่งคุณธรรมขึ้น และผลิตผลออกมาเป็นนิพพาน การเฝ้าดูจิตเช่นนี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)

ท่านกล่าวว่า...พุทธภาวะที่แท้จริง และกุศลธรรมทั้งปวง มีสติสัมปชัญญะเป็นรากเหง้า แต่อะไรเล่าเป็นรากเหง้าของอวิชชา?

จิตที่หลงผิดด้วยอวิชชา ย่อมประสบแต่ความทุกข์และภัย ความทะเยอทะยานอยาก และความชั่วร้ายอันไม่รู้จักจบสิ้น อวิชชาหยั่งรากลึกลงในกิเลส 3 ประการคือ โลภะ โทสะ และโมหะ

สภาพจิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส 3 ประการเหล่านี้ ย่อมรวมเอาความชั่วประการต่างๆ อันนับไม่ได้เข้าไว้ด้วยกัน เหมือนต้นไม้ที่มีลำต้นเพียงลำต้นเดียว และมีกิ่งก้านและใบมากมายมหาศาล กิเลสแต่ละตัวย่อมก่อให้เกิดความชั่วร้ายต่างๆ อีกหลายล้านตัว ที่เอาต้นไม่เป็นอุปมา ก็ยังยากที่จะเปรียบเทียบให้เหมาะสมได้

กิเลสทั้ง 3 ประการ ย่อมเกิดกับอายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ของเรานี้เอง เหมือนวิญญาณ 6 หรือโจร 6 จำพวก

ที่เรียกกิเลสพวกนี้ว่าโจร เพราะว่ามันผ่านเข้าออกตามประตูของอายตนะ คือทวาร 6 ความโลภและความทะยานอยากอันหาขอบเขตมิได้ ทำให้หมกมุ่นอยู่ในความชั่วร้าย และปิดบังลักษณะบังแท้จริงของจิตไว้ เพราะว่าปุถุชนทั้งหลาย ถูกกิเลสตัณหาหรือพวกโจรชักนำให้ทำผิดทั้งกายและใจ พวกเขาจึงหลงทางชีวิตและความตาย แล้วร่อนเร่พเนจรไปในภพทั้ง 6 (นรก เปรต อสูร เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา) และทุกข์ด้วยภัยต่างๆ อันหาประมาณมิได้

ทุกข์ภัยเหล่านี้ก็เป็นเสมือนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก เป็นระยะทางยาวเป็นพันๆ ไมล์ เพราะการไหลรวมของกระแสน้ำเล็กๆ น้อยๆ อยู่อย่างไม่ขาดสาย แต่ถ้าผู้ใดตัดต้นกำเนิดของน้ำได้ แม่น้ำก็เหือดแห้งฉันใด บุคคลที่แสวงหาการหลุดพ้นสามารถเปลี่ยนกิเลสทั้งสามให้เป็นที่ตั้งของศีล และเปลี่ยนโจรทั้งหกให้เป็นปารมิตา 6 (ทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี ฌานบารมี ปัญญาบารมี) เขาก็ขจัดภัยร้ายต่างๆ ให้แก่ตนได้ทุกครั้งหรือตลอดไป ก็ฉันนั้น

...(โพธิธรรมคำสอน/ปรมาจารย์ตั๊กม้อ/พุทธยานันทภิกขุ แปลและเรียบเรียง)

● ไร้ตูสุญญะ...

ไร้ตู หรือไร้กู คือไม่มีตัว ไม่มีตน ก็เป็นอนัตตา หรือสุญญตานั่นเอง

“สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า” มองเห็นเช่นนี้ ก็คือพุทธะ ก็คือตื่นรู้ ก็คืออิสรภาพ

เมื่อตนไม่มีสุขทุกข์ ดีชั่ว บุญบาป ฉลาดโง่ ฯลฯ จะมีได้อย่างไร

หน้าที่ของเรา (ธรรมะคือหน้าที่) “จงดูให้เป็น ก็จะเห็นสุญญตา”

ดูอย่างไร ถือว่าดูเป็น?

ทันตแพทย์สม สุจีรา เล่าไว้ใน “ความลับของจักรวาล ทางแห่งนิพพาน” ว่า...

ในสภาวะนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง ว่างจากรูปนามทั้งปวง พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ในสภาวะนั้น ไม่มีสสารพลังงานใดๆ เลย ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีกาละ (เวลา) ไม่มีเทศะ (ไม่กินเนื้อที่) ปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่มีความใหญ่ ความเล็ก ความงาม ไม่งาม ฯลฯ

ธรรมะกับความว่าง จึงเป็นสิ่งเดียวกัน หากการปฏิบัติธรรม ไม่เน้นที่ความว่างแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิดทาง เช่น ปฏิบัติธรรมเพื่ออยากรวย อยากสุขสบาย อยากมีชาติหน้าที่ดี อยากได้อภิญญา ฯลฯ นั่นแสดงว่า ขณะปฏิบัติ จิตไม่ว่าง ดังนั้นไม่มีทางที่จะบรรลุญาณระดับสูงได้เลย

การนั่งสมาธินิ่งๆ เงียบๆ และพยายามกำหนดจิตให้ว่าง โดยไม่คิดถึงสิ่งใด ไม่รับรู้อะไร ก็เป็นความว่างในรูปแบบหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ฌานว่าง” คือเอาความว่างมาเป็นอามรณ์ของจิต ขณะนั้นจะเกิดปีติ มีความสุข ว่างจากความคิดทั้งปวง แม้ลมหายใจตนเองยังไม่รับรู้ จิตขณะนั้นสามารถตัดกระแสการรับรู้ทั้งผัสสะจากทวาร 6 ภายนอก ความคิดในสมอง และอารมณ์ภายในใจ ความว่างแบบนี้ไม่ทำให้เกิดปัญญา แม้จะมีความสุข แต่ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่สุขนิรันดร์ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดติดกับฌานสมาธิ เพราะแทนที่จิตจะมองเห็นความว่าง กลับกลายเป็นว่า ปล่อยให้ความว่างเข้ามาครอบงำจิต อารมณ์ว่างจะสุขอย่างยิ่ง สุขยิ่งกว่าใดๆ ทางโลกที่เคยสุขมา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหลงยึดติดการปฏิบัติธรรมจะหยุดชะงักอยู่เพียงขั้นนี้ ไม่มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพาน

ความว่างที่ทำให้เกิดปัญญา ต้องเป็นความว่างที่มาจากการใช้สติวิเคราะห์ ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตไม่ว่าง รู้เท่าทันอาการทางทวาร 6 และสกัดไม่ให้ผัสสะก่อเกิดเป็นเวทนา ถ้าเปรียบสิ่งเร้าทางอายตนะเป็นศัตรู ความว่างแบบฌานสมาธิ คือปิดกั้นทวารทั้ง 6 ไม่ให้ทำงาน ก็ไม่ต่างอะไรกับนกกระจอกเทศที่หนีศัตรูด้วยการเอาหัวของมันมุดลงบนพื้นทราย แล้วคิดว่าหนีพ้นเหมือนความว่างของจิตทารก เช่น คนที่ไม่เคยเห็นสาวสวยจิตจะว่าง แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าเกิดเขาได้เห็นขึ้นมา จิตเขาจะยังคงว่างอยู่หรือไม่ แต่สำหรับผู้ที่ฝึกเจริญสติ สามารถทำจิตให้ว่างได้ แม้ว่าจะมีสาวงามนับร้อยมาล้อมรอบอยู่ข้างๆ ก็ตาม

เมื่อเข้าถึงความว่าง จะเข้าใจปรมัตถสัจจะทั้งปวงในจักรวาล ทั้งรูปและนาม รู้ว่าจักรวาลเกิดจากความว่าง เกิดจากศูนย์ แล้วแยกตัวออกเป็นพลังงานบวกกับพลังงานลบ รู้ว่าเล็กสุดภายในอะตอมก็คือใหญ่สุดอย่างจักรวาล ใหญ่อยู่ในเล็ก เล็กอยู่ในใหญ่ ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎพื้นฐานอันเดียวกัน รู้มิติ รู้ภพภูมิ รู้ปัจจัยที่ทำให้มีการเกิดตายของสรรพสัตว์ ฯลฯ

เป็นปัญญาอันสูงยิ่ง ที่อธิบายให้คนที่ยังไม่ถึงเข้าใจไม่ได้ แต่บอกวิธีปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงซึ่งปัญญาแบบนี้ได้ เรียกว่าปัญญาอริยมรรคที่จะนำเข้าสู่มรรคผลนิพพาน

นิพพานไม่ใช่สภาวะที่เกิดจากการรับรู้ของสมอง แต่เป็นสภาวะที่เกิดจากการรับรู้ของจิต ดังนั้น จึงไม่สามารถอธิบายได้ด้วยภาษา สัญลักษณ์ หรือการเปรียบเทียบใดๆ ได้

แม้จะไม่สามารถบรรลุนิพพานได้ ภายในชาติภพเดียว ปัญญาก็สามารถสะสมได้ทุกชาติไป ปัญญากับความรู้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ความรู้เป็นเรื่องของสมอง สอนให้กันได้ แต่จะล้างไปเมื่อสิ้นภพชาติ สำหรับปัญญาเป็นเรื่องของจิตที่จะติดไปในทุกภพ และเป็นเรื่องเฉพาะตน สอนกันไม่ได้ ดังเช่น...

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้บอกกับนิตินักศึกษาอยู่เสมอว่า “เวลาทำงานศิลปะอย่าเพียงแค่คิด แต่เธอต้องรู้สึกด้วย” ซึ่งความรู้สึกตัวนี้เกิดจากจิตวิญญาณ แน่นอนว่า อาจารย์จะสอนลูกศิษย์ได้เพียงความรู้ แต่ปัญญาเป็นบุญเก่า พรสวรรค์เก่า ของลูกศิษย์แต่ละคนที่ต้องสร้างสมมาเอง

● ธรรมะจิตตะ...

เขียนเรื่องธรรมะอยู่ดีๆ ไงแถไปเรื่องการเมืองได้ โถ...ท่านกัลยาณมิตรก็... “สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นธรรม”...หลวงปู่มั่น ภูมิทัตโต ท่านยังสอนว่า... “ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า ถ้ามีปัญญา”

เคยเห็นผู้หลักผู้ใหญ่เตือนอยู่บ่อยๆ ว่า เป็นนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจสอนอย่างเดียว อย่าไปยุ่ง อย่าไปสนใจ เรื่องการบ้านการเมือง มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่เล่นการเมือง แม้กระทั่งผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ก็พูดบ่อยๆ ว่า ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมพูดแต่เรื่องงาน ทำแต่งาน ไม่พูดไม่ทำเรื่องการเมือง ฯลฯ

อะไรจะจงเกลียดจงชังการเมืองปานนั้น เมื่อปลูกฝังให้ประชาชนไม่สนใจการเมือง การเมืองก็เลยมาเล่นงานเราย่ำแย่ตราบเท่าทุกวันนี้

“คุณภาพนักการเมืองสะท้อนถึงคุณภาพของประชาชน” ถ้าประเทศนั้น ประชาชนปราศจากธรรมะ นักการเมืองก็ยากที่จะมีธรรมะ

การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ ส่วนการปกครองคือการบริหารวางระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับการใช้อำนาจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนในสังคม

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้ปกครองคือความรักชาติ รักประชาชนเหมือนกับพ่อที่รักครอบครัว รักลูก รักภรรยา ย่อมจะมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ฯลฯ ตามมาโดยอัตโนมัติ

ผู้นำต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในฐานะเทวดา เหนือกว่าเพื่อนร่วมชาติ เพียงแต่มีความถนัด ความสนใจทางด้านนี้ และเสนอตัวลงรับเลือกตั้ง ถ้าวันใดมีคนอื่นที่มีความสามารถมากกว่า ก็พร้อมที่จะหลีกทางให้ และลดระดับตัวเองไปเป็นประชาชนคนธรรมดา

ถ้ามนุษย์เราสามารถตัดอุปาทาน (ตัวกู ของกู) ได้ เมื่อนั้นจะมีความสุขมหาศาล แต่การตัดอุปทานด้วยยานอนหลับ จะสุขเฉพาะช่วงหลัง เมื่อตื่นขึ้นมาก็ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมอีกครั้ง วิธีตัดอุปทานที่ได้ผลที่สุดคือ การเจริญสติเท่านั้น

หลักทศพิธราชธรรมไม่ใช่ธรรมะสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ผู้นำ ผู้ปกครอง แม้ตัวเราเองสามารถนำหลักธรรมดังกล่าวไปปฏิบัติได้เช่นกัน

แม้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ แต่ถ้าได้คนดีมาเป็นผู้นำ ระบอบนี้ก็ใช้ได้ ถ้าผู้ปกครองมีธรรมะในหัวใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับระบอบการปกครอง

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามา มองดูอาจจะเป็นเรื่องสัพเพเหระ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่มันก็คือธรรมะ (สิ่งทั้งมวล ล้วนเป็นธรรม)

เรื่องจิตตะ หรือจิตใจนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ “ธรรมทั้งหลาย มีใจนำหน้า” (มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา) เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้ ดังนั้น ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต (จิตฺตํ รกฺเขถเมธาวี)

จิตมีหลายประเภท ผมเห็นว่าจิตมี 2 ประเภทคือ “จิตเดิมแท้ กับจิตใหม่เทียม” หรือ “จิตหลับยืน กับจิตตื่นรู้”

ฟังดูอาจเข้าใจยาก ลองฟังคุณหมอสม สุจีรา อีกครั้ง ที่กล่าวไว้ใน “สัจธรรมแห่งจักรวาล” อาจได้มุมมองที่กว้างไกล ลึกซึ้ง สว่างไสวขึ้น...

จิตที่ยังมีเกิด มีดับ มีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ ย่อมไม่สามารถเข้าสู่นิพพาน

ถ้าเทียบจิตเดิมแท้เป็นน้ำใสบริสุทธิ์ จิตของมนุษย์แต่ละคน มีสิ่งที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่มากมาย เช่น น้ำที่มีเกลือหรือมีน้ำตาลนอนก้นอยู่ ถ้าจิตกระเพื่อมหรือน้ำถูกเขย่า ก็จะทำให้เกลือหรือน้ำตาลละลายเข้า และเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำทันที กลายเป็นน้ำหวาน หรือน้ำเค็ม

เช่นเดียวกับมนุษย์ บางครั้งดูเป็นคนดีมีศีลธรรม อาจเปลี่ยนไปเป็นคนโลภ โกรธ หลง ได้ เมื่อมีเหตุและปัจจัยมากระตุ้น เพราะยังมีอนุสัยกิเลสนอนก้นอยู่ เพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสม

พระพุทธองค์ทรงพบว่า สิ่งที่ตกตะกอนนอนก้นในจิตของมนุษย์ มีอยู่ทั้งหมด 52 ชนิด เรียกว่า เจตสิก และผสมกลมกลืนด้วยอัตราส่วนที่ต่างกัน แสดงออกมาเป็นบุคลิกของมนุษย์แต่ละคน แม้แต่ฝาแฝดแท้สองคน อุปนิสัยยังต่างกัน คนหนึ่งอาจเค็มหรือตระหนี่ ส่วนอีกคนอ่อนหวาน เปรียบเทียบกับน้ำใสๆ 2 แก้ว เมื่อลองชิมดู ปรากฏว่าแก้วหนึ่งหวาน แก้วหนึ่งเค็ม เราจะบอกได้ทันทีเลยว่า เป็นอาการของสิ่งที่อยู่ในน้ำ เพราะเรารู้ว่าธรรมชาติเดิมแท้ของน้ำนั้น ใส บริสุทธิ์ ปราศจากรส และกลิ่น

จิตก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตประภัสสร แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงความว่าง และความบริสุทธิ์นั้น

วิธีหนึ่งในการแยกสิ่งที่เจือปนออกจากน้ำ คือปล่อยให้น้ำนั้นอยู่นิ่งๆ เป็นระยะเวลานาน สิ่งที่เจือปนอยู่จะค่อยๆ ตกตะกอนลงมาทำให้สามารถมองเห็นได้

เช่นเดียวกัน ถ้าทำสมาธิให้จิตหยุดกระเพื่อมได้ต่อเนื่องกันอย่างยาวนาน สภาวธรรมที่เรียกว่า “จิตเห็นจิต” จะเกิดขึ้น จิตหนึ่งคือจิตเดิมแท้ที่ประภัสสร อีกจิตหนึ่งคือสิ่งแปลกปลอมที่เจือปนเข้ามา แล้วแยกตัวออกไป แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตกระเพื่อนอีกครั้ง สิ่งที่ตกตะกอนก็จะฟุ้งและละลายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจิตเหมือนเดิม

การเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน คือทางสายเอกแห่งการหลุดพ้น เป็นการใช้ปัญญาเข้าไปวิเคราะห์ด้วยกำลังสติที่สูง ทำให้รู้ว่าน้ำประกอบไปด้วยไฮโดรเจน และออกซิเจน ส่วนเกลือประกอบด้วยโซเดียมและคลอไรด์ เข้าใจกลไกการละลายของเกลือ และรู้วิธีที่จะทำให้น้ำไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเกลือเหมือนน้ำที่ไม่ยอมให้น้ำมันเข้ามาละลายในตัวมัน ไม่ว่าจะผสมด้วยแรงมากแค่ไหนก็ตาม

● สัจจะเจริญ...

พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวว่า...สัจจะคือความจริงมี 2 อย่าง

1. สมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมติ, ความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่น คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น

2. ปรมัตถสัจจะ คือความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะ และเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น

เรื่องสัจจะหรือความจริงนี้ เวลาพูดจากันหรือสื่อถึงกัน ก็ให้รู้เท่าทันว่ากำลังเล่นแบบไหน ควรส่งเสริม โต้แย้ง หรือเฉยๆ อย่างไรก็ตาม ทั้งสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ก็เป็นสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน เวลาใช้ก็ให้ถูกกาละและเทศะก็ใช้ได้

มีสัจจะหรือความจริงอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมใช้บ่อยๆ เหมือนเป็นเครื่องอยู่เลยทีเดียว นั่นคือ...

“จิตตะ ธรรมะ พุทธะ สุญญะ” ซึ่งทั้ง 4 สิ่งนี้ก็คือสิ่งเดียวกัน... “4=1 หรือ 1=4” (จิตตะ+ธรรมะ+พุทธะ+สุญญะ=สัจจะ) หรือ (สัจจะ=จิตตะ+ธรรมะ+พุทธะ+สุญญะ)

เวลาพินิจพิจารณาหรือดูก็จะดูสี่สิ่งกับหนึ่งสิ่งนี้ ก็สามารถเห็นจิตเดิมแท้และจิตใหม่เทียมได้พอประมาณ

“พุทธะตื่นรู้
ไร้ตูสุญญะ
ธรรมะจิตตะ
สัจจะเจริญ”

ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ทุกข์หนอ ที่นี่สงบหนอ ที่นี่สุขหนอ ที่นี่วุ่นวายเพราะมีอัตตา จึงปรุงแต่งกันไป เกิดดับกันไป ที่นี่สงบเพราะมีอนัตตา ปรุงแต่ไม่ได้ จึงไม่มีอะไรเกิดดับ ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหน หรือจักรวาลใดๆ มันก็เป็นธรรมดาของมันอยู่เช่นนั้นเอง

เมื่อยังมีอัตตาอยู่ ชีวิตย่อมเจริญงอกงามเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการดำรงอยู่ที่มีชีวิตชีวา มีอิสรภาพเหมือนดอกไม้ผลิบานมาจากข้างใน และส่งกลิ่นหอมขจรขจายตามสายลมไปสุดหล้าฟ้าเขียว

โอ...อมิตาพุทธ สติปัญญาเป็นแสงสว่างไม่มีที่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น