กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยหวังสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มในประเทศ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังเผยทิศทางตลาดต่างประเทศเริ่มต้องการหนังหายากสูงขึ้น เช่น จระเข้ ปลากระเบน งู นกกระจอกเทศ กระต่าย โดยตะกวดกำลังมาแรง
นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องหนังรุกกลยุทธ์การรวมกลุ่มและเชื่อมโยงวิสาหกิจเครื่องหนังหรือคลัสเตอร์เครื่องหนัง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 30 รายจัดงาน “แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนัง” ปี 2557 ภายใต้แนวคิดผลิตภัณฑ์เครื่องหนังหายากสู่ตลาดโลก ชูเครื่องหนังหายากจากสัตว์หลายชนิด เช่น จระเข้ ปลากระเบน กระต่าย นกกระจอกเทศ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย โดยงานจะจัดขึ้นระหว่าง 29 ก.ย.-3 ต.ค. 57 ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6
“อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าสร้างรายได้ติดอันดับท็อปเท็นของประเทศ สามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มเครื่องหนังกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตลาดแถบทวีปอเมริกาและยุโรป คือ เอ็กซอติก สกิน (Exotic Skin) หรือหนังหายาก เช่น หนังงู หนังปลากระเบน จระเข้ นกกระจอกเทศ ตะกวด ปลานิล กระต่าย ปลาฉลาม ฯลฯ แต่แม้ว่าหนังประเภทนี้จะเป็นกลุ่มตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market แต่หนังวัวที่เป็นตลาดใหญ่สุดไทยต้องนำเข้า” นางอรรชกากล่าว
นายสมเกียรติ บงกชพรรณราย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเครื่องหนังไทย กล่าวว่า แนวโน้มเครื่องหนังหายากกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น ซึ่งไทยเองมีศักยภาพเพราะมีความหลากหลายในการผลิต เช่นหนังจระเข้ ที่ขณะนี้เกษตรกรไทยเริ่มหันมาเลี้ยงมากขึ้นส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตเครื่องหนังจากจระเข้เติบโตต่อเนื่องตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากเมื่อนำไปผลิตกระเป๋าหรือรองเท้าแล้วราคาจะสูงกว่าใช้หนังวัว
นอกจากนี้ยังพบว่าตลาดยุโรป เช่น อิตาลี มีความต้องการหนังตะกวดค่อนข้างสูงแต่ไทยเองยังติดปัญหาถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองห้ามจับหรือฆ่า แต่ปัญหาที่ราคาหนังตะกวดสูงเป็นที่ต้องการตลาดทำให้เกิดการจับและฆ่าแบบผิดกฎหมายมากขึ้นซึ่งปัญหานี้มีเพิ่มต่อเนื่อง ดังนั้นกรมป่าไม้ควรจะพิจารณาให้ทยอยยกเลิกกำหนดตะกวดเป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 1 ลงมาเนื่องจากเห็นว่าสัตว์ประเภทนี้มีการขยายพันธุ์จำนวนมากเพียงพอที่จะไม่สูญพันธุ์อย่างแน่นอน