xs
xsm
sm
md
lg

จิตตะวิสุทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


จิตตะวิสุทธิ์ หมายถึง จิตบริสุทธิ์ สดใส สะอาด เป็นสุดยอดของจิต

จิตบริสุทธิ์ ก็คือจิตที่เป็นอิสระ

ในวัชสูตร กล่าวว่า...จงทำจิตให้เป็นอิสระ อย่าให้ไปอิงอาศัยอยู่บนอะไรเลย

ท่านอาจารย์พุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า...เมื่อใด จิตเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่มี สัตว์โลกก็ไม่มี เพราะความเป็นอนัตตาหรือสุญญตา เมื่อนั้น จิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว ความทุกข์และกิเลสก็ไม่อาจจะมีด้วย นี่คือสุดยอดของอภิธรรม

นั่นคือ...จิตบริสุทธิ์

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า...การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

จิตขาวรอบ คือจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากมลทินความมัวหมอง

ท่านเว่ยหล่าง มีโศลกว่า...ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร?

ทุกสิ่งว่างเปล่านั่นแหละ คือความบริสุทธิ์

จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาพที่นึกคิด, ใจ, วิญญาณ จิตมีไวพจน์ คือคำที่ต่างเพียงรูปแต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน ใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น มโน หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ นาม เป็นต้น

องค์ประกอบของจิต คือจิตธาตุ และเจตสิก ซึ่งประกอบกันเป็นจิตดวงนั้น

เจตสิก แปลว่า ประกอบอยู่กับจิต หรือเป็นไปกับจิต สำหรับปรุงแต่งให้มีลักษณะต่างๆ เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤตก็ได้

ประเภทของจิตมีหลายอย่างเช่น...

โลกียจิต จิตที่อยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ถูกปรุงแต่งได้

โลกุตตรจิต จิตที่อยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ ถูกปรุงแต่งไม่ได้

กุศลจิต จิตที่เป็นกุศล

อกุศลจิต จิตที่เป็นอกุศล

อพยากตจิต จิตที่บัญญัติไม่ได้ว่า เป็นกุศล หรืออกุศล

จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต ด้วยการขจัดอวิชชาซึ่งเป็นสมุทัยแห่งโลกียจิตทั้งหลาย และเจริญวิชชาซึ่งเป็นสมุทัยแห่งโลกุตตรจิตทั้งปวง

อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐ ที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ แท้จริงแล้วก็คือเรื่องของจิตนั่นเอง

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) ปรารภธรรมะเรื่องอริยสัจสี่ว่า...

“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นผิด เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ”

ปฏิบัติตามหลวงปู่ฝากไว้เถิด จะเกิดจิตบริสุทธิ์เฉพาะตน คือทำเอง รู้เอง เห็นเอง

“จิตเห็นจิต” เป็นเช่นไร?

(ผู้เขียน) จิตมี 2 อย่าง คือจิตเดิมแท้กับจิตใหม่เทียม จิตเดิมแท้ คือโลกุตตรจิต หรืออสังขตธรรม หรือวิสังขาร ไม่ปรุงแต่ง จิตใหม่เทียม คือโลกียจิต หรือสังขตธรรม หรือสังขารปรุงแต่ง

จิตเห็นจิต ก็คือ ดูให้เห็นทั้งสองจิต จิตใหม่เทียม จะเห็นง่าย ส่วนจิตเดิมแท้ จะเห็นยากหน่อย

หนังสือวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร. พระสงฆ์จี้กง-อรรถาธิบาย, อมร ทองสุก-แปล บอกว่า...ใจมีความเป็นดั่งกระจก ดังนี้... “บนบานกระจก ยามวัตถุมาก็เกิดภาพ ยามวัตถุไปภาพก็หาย ซึ่งกระจกจะไม่มีการยึดหรือละต่อภาวะที่ไปที่มาแต่อย่างใด โดยกระจกก็ยังคงเป็นกระจก อันเหมือนดั่งตถาตาภาพแห่งเราที่ยังคงเป็นดั่งที่เป็นอยู่ โดยหาได้มาได้ผกผันไปตามภาวะที่ประสบไม่”

นั่นคือ จิตเดิมแท้ นั่นคือจิตตะวิสุทธิ์!!

จิตหยุดหลุดพ้น คำว่าจิตหยุด ไม่ใช่หยุดหายใจ แต่หยุดปรุงแต่ง ด้วยการค่อยๆ ลดการปรุงแต่งให้น้อยลง วิธีการที่ใช้กันอยู่และได้ผลก็คือ “สมาธิภาวนา” สมาธิคือจิตตั้งมั่น แน่วแน่ อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เคยนึกคิดมากๆ ก็จะเหลืออยู่ที่จุดตั้งมั่นเท่านั้น เช่น ดูลมหายใจเข้า-ออก จิตก็มาอยู่ตรงจุดนี้ นานๆ เข้าลมก็ค่อยๆ หายไป เหมือนไม่มีลม นั่นแหละจิตหยุด เลยหลุดพ้นจากความคิด หรือพ้นจากพันธนาการต่างๆ นานา พ้นจากโลภ โกรธ หลง ฯลฯ แรกๆ อาจจะหยุดและหลุดได้นิดๆ หน่อยๆ ต่อๆ ไปก็จะหยุดและหลุดได้นานๆ นั่นวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่ง มีสมาธิหรือสติทุกอิริยาบถ “ดูกายเคลื่อนไหว-ดูใจนึกคิด” ทำอะไรก็รู้ คิดอะไรก็รู้ เข้ากับสูตรหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ที่ว่า “อย่าส่งจิตออกนอก มันจะหาเหตุให้เกิดทุกข์” หรืออย่างคติโบราณสอนไว้ “อย่าหาเหาใส่หัว” มันไม่คันเฉพาะตัวผู้หา แต่มันคันไปทั่วถึงคนอื่นด้วย

ในหนังสือโพธิธรรมคำสอน โดย ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ตอนหนึ่งว่า... “ในกายของปุถุชนก็มีพุทธภาวะที่ไม่อาจทำลายได้เสมือนกับพระอาทิตย์ แสงของมันขยายไปทั่วอวกาศไม่มีสิ้นสุด แต่เมื่อใดมันถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาทึบด้วยเงาทั้ง 5 (ขันธ์ 5) มันก็เหมือนแสงในตุ่มน้ำถูกบังจากการเห็น”

และพระนิพพานสูตร กล่าวว่า (ปุถุชนทุกคน มีธรรมชาติแห่งพุทธะ แต่มันถูกครอบคลุมด้วยความมืด (ของอวิชชา) ซึ่งไม่อาจหลบเลี่ยงได้ ธรรมชาติแห่งพุทธะของเราก็คือ สติสัมปชัญญะ (ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม) โดยการทำให้ตนเองตื่นตัวและทำให้ผู้อื่นตื่นตัวด้วย การประจักษ์แจ้งความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นความหลุดพ้น”

ความดี (กุศลธรรม) ทุกอย่างมีสติสัมปชัญญะเป็นรากฐาน และจากรากเหง้าแห่งสติสัมปชัญญะนี้ จึงก่อให้เกิดต้นไม้แห่งคุณธรรมขึ้น และผลิตผลออกมาเป็นนิพพาน การเฝ้าดูจิตเช่นนี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)

ส่วนจิตที่หลงผิดด้วยอวิชชา ย่อมประสบแต่ความทุกข์และภัย ความทะเยอทะยานอยากและความชั่วร้ายอันไม่รู้จักจบสิ้น อวิชชาหยั่งรากลึกลงในกิเลส 3 ประการคือ โลภะ โทสะ และโมหะ การแก้ปัญหานี้ต้องกล้าเปลี่ยนความคิด คือหยุดจิตอวิชชาเสีย แล้วก็จะหลุดพ้นจากอวิชชา ดั่งพระพุทธเจ้าสอนองคุลิมาล อาตมาหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด

จิตว่างวางตน ใครบ้างไม่ชอบอากาศ ยกมือขึ้น คงไม่มีนะ “อากาศ” คือธาตุผสมไม่ปรากฏรูปร่าง ช่วยในการหายใจของสิ่งชีวิต

อากาศ คือที่ว่าง มีที่ว่างที่ไหน อากาศก็อยู่ที่นั่น อากาศเคลื่อนที่เขาเรียกว่า ลม อากาศหุ้มห่อโลกเรียกว่า บรรยากาศ ที่ว่างนอกบรรยากาศโลกเรียกว่า อวกาศ (Space)

ไม่ว่าจะเป็นลม บรรยากาศ อวกาศ มันก็คือ “อากาศ” นั่นเอง

(1) หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ เมืองลำปาง สอนว่า...พระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของอากาศ อากาศมีคุณ 10 ประการ ได้แก่

(1) ไม่รู้จักเกิด (2) ไม่รู้จักแก่ (3) ไม่รู้จักตาย (4) ไม่กลับเกิดอีก (5) ไม่จุติ (6) ใครจะข่มเหงลอบลักเอาไปไม่ได้ (7) เป็นของดำรงสภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร (8) สำหรับฝูงนกบินไปมา (9) ไม่มีอะไรมากางกั้น (10) ที่สุดไม่ปรากฏ

จิตว่าง เหมือนอากาศหรือเปล่า (พึงพิจารณา)

จิตว่าง ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มีทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่โลกเขามีกันนั่นแหละ แต่ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน เป็นเราของเรา เป็นเขาของเขา

ทุกสิ่งก็แค่ธาตุ 4 ธาตุ 6 หรือดินน้ำฟ้ามารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นสัตว์ เป็นคน หรือสิ่งของตามวาระ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้นเอง

หากรู้ เข้าใจ และเข้าถึง จิตว่าง เราก็สามารถวางตนได้ หยุดแบก หยุดหาม หยุดหอบได้มีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมี

มิติจิตว่างมีมากมาย ลองฟังเรื่อง “กรรมอกรรม” ของ “จางจื๊อ” ดู อาจจะเห็นความลี้ลับบางอย่าง...

●อกรรมของผู้รู้มิใช่อกรณียะ
ใช่ว่าไม่ได้รับการศึกษา และใช่ว่าอะไรจะทำให้สั่นสะเทือนได้
ท่านผู้สำเร็จสงบเงียบ ใช่ว่าเพราะไม่หวั่นไหว
และใช่ว่าจงใจจะให้เงียบสงบ
น้ำนิ่งก็ดุจกระจก
ส่องมองดูหน้า จะเห็นรอยย่นที่ลูกคาง
ทั้งๆ ที่พื้นเรียบ
แต่ช่างไม้ก็ใช้ประโยชน์ได้
น้ำใสและพื้นเรียบ ฉันใด
จิตใจของมนุษย์ย่อมยิ่งกว่าอีก ฉันนั้น
จิตของผู้รู้ที่สงบระงับ
ย่อมเป็นกระจกเงาของฟ้าและดิน
เป็นกระจกส่องทุกสิ่งทุกอย่าง
สงบ ศูนย์ นิ่ง ปราศจากรส
เงียบ อกรรมนี้แลคือระดับของฟ้าแลดิน
นี้คือเต๋าอันสมบูรณ์ ผู้รู้ย่อมค้นพบที่พัก
ณ ที่นี้
พักอยู่ในศูนย์ตา

● ในศูนย์ ปรากฏสิ่งซึ่งปราศจากการปรุงแต่ง
และจากนี้ เกิดสิ่งซึ่งปรุงแต่งมาแล้ว จนเป็นสิ่งต่างๆ
จากความว่างของผู้รู้ บังเกิดความสงบเงียบ
จากความสงบเงียบเกิดกรรม จากกรรมบังเกิดความเข้าถึง
จากความสงบอันเดียวกันนี้เกิดอกรรม ซึ่งเป็นกรรม พร้อมๆ กันไปด้วย
และย่อมเข้าถึงด้วยเหมือนกัน
ความสงบเงียบนี้แลคือปีติ ปีติย่อมพ้นกังวล
อันเป็นผลของการปฏิบัติด้วยเวลาอันยาวนาน
ปีติทำสิ่งต่างๆ อย่างปราศจากกังวลโดยสิ้นเชิง
ศูนย์ ความนิ่ง สงบ เงียบ
ปราศจากรส และอกรรม
คือรากเหง้าของสรรพสิ่ง

(ที่มา : มนุษย์ที่แท้ มรรควิถีของจางจื๊อ, ส.ศิวรักษ์ แปลและเรียบเรียง, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย 2518)

จิตชนถึงธรรม คนถึงธรรมเป็นเช่นไรหนอ?

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า... “ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศรกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส”

คำว่า “ผิวพรรณผ่องใส” ผู้คนชักสนใจ ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อเครื่องสำอาง แค่ปฏิบัติธรรมให้เข้าใจ เข้าถึงธรรม นอกจากผิวพรรณจะผ่องใสแล้ว จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอีกด้วย

ทำอย่างไรจิตจึงจะบริสุทธิ์ ก็มีร้อยแปดพันเก้าประการ เลือกเอาให้ถูกกับจริตของตน

พุทธพจน์บทหนึ่ง น่าพินิจพิจารณามากๆ คือ...

“ดอกบัว เกิดและเจริญงอกงามในน้ำ แต่ไม่ติดน้ำ ทั้งส่งกลิ่นหอม ชื่นชูใจให้รื่นรมย์ ฉันใด พระพุทธเจ้า ทรงเกิดในโลก และอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนบัวไม่ติดน้ำ ฉันนั้น”

นั่นคือดอกบัวเป็นครู ให้รู้ว่า “จิตว่างวางตน จิตชนถึงธรรม” เป็นอย่างไร โดยมีพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง

“ดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด” นี่คืออีกหนึ่งวิธีในร้อยแปดพันเก้าของการประพฤติธรรม

“ตนทำชั่ว ตัวก็เศร้าหมองเอง
ตนไม่ทำชั่ว ตัวก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตัว
คนอื่นทำคนอื่น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้”

โลกนี้คือละคร ตัวทำอะไรไว้ ดี หรือ ชั่ว หรือ เหนือดีเหนือชั่ว แม้คนอื่นไม่รู้ แต่วันข้างหน้าคนต้องรู้ แม้คนอื่นไม่รู้ แต่ตัวเองรู้ จิตเก็บหลักฐานไว้หมดแล้วจ้า รอวันพิพากษา

อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วย...

“จิตตะวิสุทธิ์
จิตหยุดหลุดพ้น
จิตว่างวางตน
จิตชนถึงธรรม”

ธรรมะเบิกบาน อยู่ดีมีแฮง เด้อพี่น้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น