พระนครศรีอยุธยา - ชาวพระนครศรีอยุธยา ร่วมเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาคึกคัก โดยเฉพาะที่วัดสะตือ อำเภอท่าเรือ ได้มีการเวียนเทียนรอบพระพุทธไสยาสน์ หรือหลวงพ่อโต ซึ่งมีความยาว 52 เมตร สูง 16 เมตร
เมื่อเวลา 19.00 น.วันนี้ (4 มี.ค.) ที่วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูปริยัตยาธคุณ เจ้าอาวาสวัดสะตือ ประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประธานฝ่ายฆาราวาส ได้นำข้าราชการทหาร ตำรวจ และประชาชนจำนวนมากร่วมกันบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา
นอกจากนี้ พระครูปริยัตยาธคุณ เจ้าอาวาสวัดสะตือ ยังใช้วันสำคัญนี้มอบรถจักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน พร้อมหมวกกันน็อกลงยันต์เองกับมือให้กับตำรวจ สภ.ท่าเรือ เพื่อสนับสนุนภารกิจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย
หลังจากนั้น ได้มีการเวียนเทียนรอบพระพุทธไสยาสน์ หรือหลวงพ่อโต ซึ่งมีความยาว 52 เมตร สูง 16 เมตร เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันมาฆบูชา นอกจากนี้ ตามวัดต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากว่า 100 วัด ก็มีพุทธศาสนิกชนร่รมกิจกรรมประกอบพิธีเวียนเทียนเช่นกันเพื่อเป็นพุทธบูชาสร้างบารมี และเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ตนเอง และครอบครัวอีกด้วย
สำหรับ “วันมาฆบูชา” เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาท และวันหยุดราชการในประเทศไทย “มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวก 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4
เดิมนั้นไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น การประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่างๆ เป็นต้น ในช่วงแรก พิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชนประกอบพิธีต่างๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบัน หญิงสาวมักเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน
ในปี พ.ศ.2558 วันมาฆบูชาตรงกับวันพุธที่ 4 มีนาคมปีนี้ เป็นปีอธิกมาส ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4