“... การแห่รอบโบสถ์ก็ไม่จำเป็น เพราะเราจะไปหาพระพุทธเจ้าจะไปเที่ยวเดินเวียนอยู่ทำไม พุ่งเข้าไปหาเลย ไม่เสียเวลา...”
-หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ-
ธรรมลีลาฉบับส่งท้ายปลายฤดูหนาวก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน ขอยกคำกล่าวของพระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) แห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี มาเปิดเรื่อง
เพราะฉบับนี้ตั้งใจนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “ครั้งหนึ่งในชีวิตของการเกิดเป็นลูกผู้ชาย” โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ คือราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมนำพาลูกหลานไปบรรพชาอุปสมบทหรือบวชภาคฤดูร้อนที่วัดต่างๆ
การบวชคือการเอาผ้าเหลืองห่มกาย เอาศีลห่มใจ ปฏิบัติในสิ่งที่ควร และละเว้นสิ่งที่ไม่ควร เพราะคำว่า “บวช” มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า “ปพฺพชฺชา” หมายถึง ละเว้นหรืองดเว้น คือ การลาจากความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนไปเป็นภิกษุ ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ศึกษาหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
เดิมทีเดียวการบวชเป็นภิกษุนั้นใช้คำว่า “บรรพชา” ต่อมาในสมัยหลังจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า “อุปสมบท” แทน ปัจจุบันคำว่าบรรพชา มักใช้กับการบวช “สามเณร” เท่านั้นครับ
การทดแทนคุณบิดามารดาด้วยการบวช ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของบุตรอันสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการแสดงความตั้งมั่นตั้งใจว่า จะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ มีศาสนาเป็นพื้นฐานของชีวิต
การบวช ตามศัพท์ภาษาอังกฤษคือคำว่า “Ordination” ซึ่งแปลว่า “ธรรมดา” แต่โดยนัยแล้ว การบวชอาจหมายถึงการกลับคืนสู่ความธรรมดา (Ordinary)
ดังนั้น หากจะขยายความให้ชัดขึ้นอีก การบวชก็คือการละเว้นความวุ่นวายภายในจิตใจ เพื่อกลับสู่ความสงบ และนำไปสู่ความธรรมดาที่ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ใดๆ จนกระทั่งพบความสุขในที่สุดนั่นเองครับ
การบวชนอกจากเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว ยังช่วยขัดเกลาตนเองและฝึกจิตให้เข้าถึงพระนิพพาน หลุดพ้นจากวัฏฏสังสาร ทำให้สามารถพบหนทางแห่งความสุขที่แท้จริงของชีวิต
พระไตรปิฎกจารึกไว้ว่า คืนวันเพ็ญเดือนแปด เมื่อราว 45 ปีก่อนพุทธศักราช ภายหลังองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้สองเดือน พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ครั้งนั้นจึงได้เกิด “พระสงฆ์” องค์แรกของโลก
เนื่องเพราะพราหมณ์โกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม และเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก จึงทูลขออุปสมบทกับพระพุทธองค์ ทั้งยังเป็นผลให้พระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์
ดังนั้น การบวชจึงเป็นการศึกษาในพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว พระวินัยที่ทรงปฏิบัติแล้ว เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นพระแท้ตามพระธรรมวินัย เป็นผู้เปี่ยมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งล้วนมีความหมายต่อการเกิดมาเป็นมนุษย์ยิ่งนัก หากได้ฝึกฝนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะบวชกี่วันก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้วครับ
“ธรรมาภิวัตน์” ได้นำเสนอเรื่อง “การบวช” โดยไปที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ วัดแห่งนี้มีการอุปสมบทหมู่เป็นประจำทุกเดือน แต่จะเป็นการบวชที่ไม่ได้มีฤกษ์ยามให้กับผู้ที่มาบวชนะครับ
เนื่องด้วยเจตนารมณ์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านอยากให้การบวช เป็นการเข้ามาเพื่อศึกษาธรรมและเข้าถึงธรรมได้อย่างเรียบง่าย ตามการบวชแบบเอหิภิกขุอุปปสัมปทา ซึ่งเป็นการพยายามยึดหลักเกณฑ์ตามหลักพุทธกาลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเองครับ
พระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ให้สัมภาษณ์กับ “ธรรมาภิวัตน์” ไว้ว่า
"วัตถุประสงค์ในการจัดบวชหมู่ก็คือ ที่วัดชลประทานฯ มีคนมาสมัครบวชเยอะมาก เมื่อหลายสิบปีก่อนบวชแค่วันละคนสองคน การเรียนการสอนไม่เป็นระบบ คราวหลังก็เลยจัดรวมให้บวชทุกต้นเดือน ทีนี้ก็ได้ประโยชน์เยอะ เพราะว่าการจัดการเรียนการสอนสามารถทำได้เต็มที่ ประโยชน์ก็ได้แก่ผู้บวชมาก"
การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศ ถือว่ามีส่วนสำคัญมากครับ เพราะการหละหลวมในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวช เพื่อที่จะเป็นตัวแทนให้คนทั่วไปเขากราบไหว้ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอนได้ เพราะฉะนั้น การคัดกรอง คัดเลือกผู้ที่จะมาบวช จึงต้องเข้มงวดและใส่ใจในขั้นตอนนี้มากเป็นพิเศษ อย่างที่วัดชลประทานฯ ก็วางหลักการนี้ไว้เช่นกัน
"ไม่ใช่ได้ทุกคน ต้องมีการคัดกรองบุคลิกตรงตามพระวินัย ข้อสำคัญคือเขามีความพร้อมที่อยากจะบวช ไม่ใช่บวชเพราะพ่อแม่อยากให้บวช เพราะว่าถ้าเขาไม่พร้อมด้วยตัวเอง เข้ามาแล้วจะเป็นปัญหาต่อวัดและตัวเขาเอง ก็เลยมีการกรองว่าเขาศรัทธาไหม พร้อมจะปฏิบัติตามกติกาของวัดได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็บวชให้ ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ไม่บวชให้ แล้วก็ดูบุคลิกภาพ เช่นว่าถ้าสักยันต์มากมายเกินไป ก็ไปลบยันต์ออก หรือเจาะรูหูใหญ่จนกระทั่งน่าเกลียด ก็ไปเย็บหูให้เหมาะสมซะก่อน จะได้เหมาะสมให้คนเขากราบไหว้
ขั้นตอนแรกก็คือ มาสมัครแจ้งความจำนง พระก็จะถามว่าชื่ออะไร? อายุเท่าไหร่? เพราะอะไรถึงอยากบวช เพื่อจะได้คัดกรองคน บางคนไม่มีอาชีพอะไร ก็ต้องพิจารณาว่าเขามาด้วยศรัทธาในพุทธศาสนา หรืออาศัยพุทธศาสนาในการทำมาหากิน ต้องเช็คว่าประวัติเป็นยังไง มีการศึกษายังไง ทำหน้าที่อะไร ลาหน้าที่การงานมาหรือยัง หรืออกหักแล้วมาบวช ต้องดูว่ามีคดีความติดตัวหรือเปล่า
ถ้าไม่เช็คตอนนี้ ก็ไม่รู้จะเช็คตอนไหน ที่สำคัญก็คือติดสิ่งเสพติดหรือไม่ ต้องมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ว่ามีสารเสพติดเจือปนหรือไม่ เพราะการมาอยู่ร่วมกันมันก็เป็นสังคม ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ มันต้องไปด้วยกันได้เป็นกลุ่มเป็นหมู่เป็นคณะ" พระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ประสงค์เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทกับทางวัดชลประทานฯ
ดั่งที่ท่านพระครูกล่าวนะครับว่า การบวชไม่ใช่แค่เรื่องของตนเองเท่านั้น เพราะยังมีข้อปฏิบัติที่สร้างความสามัคคีระหว่างสงฆ์ด้วยกันเอาไว้ด้วย
สืบเนื่องจากพระวินัย ที่ระบุให้มีการประชุมสงฆ์ในอุโบสถ เรียกกันว่าลงอุโบสถทุกๆ 15 วันตามปฏิทินจันทรคติ คือในวันขึ้น 15 ค่ำและวันแรม 15 ค่ำในเดือนเต็ม หรือวันแรม 14 ค่ำในเดือนขาด เพื่อทบทวนปาติโมกข์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวมวินัย 227 ข้อ
นอกจากนี้ การบวชก่อให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างสงฆ์กับฆราวาส ผู้เป็นอุปัฏฐากดูแลปัจจัยสี่ของภิกษุ ได้แก่ ภัตตาหาร เครื่องใช้ ศาสนสถาน ยารักษาโรค ส่วนภิกษุเกื้อกูลฆราวาสด้วยการแนะนำสั่งสอนข้อธรรม แนะแนวทางการปฏิบัติภาวนา บางครั้งภิกษุยังที่เป็นที่พึ่งทางใจของฆราวาสอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ พระธรรมวินัยยังได้บัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่ห้ามบวชเอาไว้ด้วยนะครับ เพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ตนเองและสงฆ์รูปอื่น และไม่ให้เกิดอุปสรรคในการศึกษาธรรมะของสงฆ์ ได้แก่ ผู้ที่มีเพศบกพร่อง คือผู้เป็นบัณเฑาะว์หรือกระเทย อุภโตพยัญชนกหรือคนสองเพศ ผู้ที่กระทำผิดต่อพระพุทธศาสนา อาทิ ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์มาก่อน ผู้ที่ทำร้ายภิกษุมาก่อน ผู้ที่ปลอมบวชมาก่อน ผู้ที่ใจโลเลเคยบวชพระ ต่อมาได้เปลี่ยนศาสนาและกลับมาขอบวชใหม่อีก ผู้เคยต้องอาบัติปาราชิก ผู้ทำสังฆเภท คือทำให้สงฆ์แตกแยก ผู้ทำผิดต่อผู้ให้กำเนิด คือฆ่าบิดามารดาของตน คนเหล่านี้ห้ามบวชนะครับ
นอกจากคุณสมบัติที่ผู้จะบวชควรมี และคุณสมบัติต้องห้ามแล้ว ในพระวินัยได้มีการกล่าวถึงคนอีกประเภทที่ห้ามบวชหรือยังบวชไม่ได้ คือผู้ไม่มีอุปัชฌาย์ กล่าวคือไม่มีพระอาจารย์รูปไหนรับเป็นศิษย์ ตลอดจนผู้ไม่มีบาตร ผู้ไม่มีจีวร ก็ไม่สามารถบวชได้เช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าทุกขั้นตอนทุกกระบวนการ ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ครบไม่พร้อมก็บวชไม่ได้ครับ
ขั้นตอนสำคัญอีกประการที่ผู้บวชพึงกระทำ ถือเป็นความรับผิดชอบที่ห้ามละเลยอย่างเด็ดขาด คือ การฝึกซ้อมท่องคำขอบวชหรือบทขานนาคให้ขึ้นใจ เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการบวช จนอาจกล่าวได้ว่า หากท่องไม่ได้ก็บวชไม่ได้
ในขั้นตอนนี้เท่าที่ผู้เขียนทราบมา แต่ละวัดจะมีกำหนดระยะเวลาและวิธีการที่แตกต่างกันครับ บางวัดให้มาซ้อมเช้าไปเย็นกลับ บางวัดให้มาอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3-7 วัน บางวัดต้องบวชเณรก่อน เพื่อฝึกฝนธรรมะให้เชี่ยวชาญจึงสามารถบวชเป็นภิกษุได้
หลายคนคิดว่า บทขานนาคเป็นบทสวดศักดิ์สิทธิ์ สวดแล้วจะทำให้ผู้บวชมีบุญบารมีมากขึ้น เนื่องจากไม่เคยรู้ถึงความหมายของบทสวดดังกล่าวมาก่อนจึงกลายเป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะแท้จริงแล้ว บทขานนาคเป็นการถาม-ตอบเป็นภาษาบาลีระหว่างพระอุปัชฌาย์กับผู้ขอบวช โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอบวชและการสอบทานคุณสมบัติว่าครบถ้วนหรือไม่ ทั้งยังเป็นการสาบานของผู้ขอบวชว่า จะเป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
เมื่อผ่านการทดสอบบทขานนาคเรียบร้อยแล้ว ผู้จะบวชต้องกลับไปเตรียมตัวให้พร้อมกับการอุปสมบท คือต้องกลับไปลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดของการอุปสมบท ตามระเบียบของวัดชลประทานฯครับ
งานบวชโดยทั่วไป หากมีการทำขวัญนาค ผู้บวชจะปลงผมก่อนวันบวช 1 วัน แต่หากไม่มีการทำขวัญนาค ผู้บวชจะปลงผมในวันบวช หรืออาจจะมีพิธีการตามสะดวก เช่น หากบวชตอนเช้าจะนิยมปลงผมก่อน 1 วันแล้วทำพิธีบวชในวันต่อมา แต่ถ้าบวชช่วงบ่ายสามารถปลงผมตอนเช้า แล้วบวชในช่วงบ่ายของวันเดียวกันได้เลย
ส่วนเรื่องสถานที่ในการปลงผมนั้น สามารถทำได้ทั้งที่บ้านที่วัดตามแต่สะดวก หากมีการนิมนต์พระอุปัชฌาย์ให้ร่วมพิธีด้วย ก็มักจะบวชที่วัดมากกว่า พระอุปัชฌาย์ท่านจะเป็นผู้ขลิบปลายผมให้พอเป็นพิธี จากนั้นพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ที่มาร่วมงานจะทยอยขลิบผมตามลำดับ
แต่หากเป็นที่วัดชลประทานฯ พระครูปลัดวิมลสิริวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เน้นเรื่องพิธีการ พิธีกรรมใดๆ ให้ต้องวุ่นวายครับ
"พิธีกรรมเราก็ยึดหลักเกณฑ์ครั้งพุทธกาล บวชแบบเอหิภิกษุอุปสัมปทา ง่ายมากเลย น่าจะใช้เวลาไม่ถึงนาที ต่อมาก็อาจจะให้กล่าวพุทธัง สะระณัง คัจฉามิฯ จากนั้นอาจจะต้องถามข้อโน้นข้อนี้ อะไรถูกอะไรควร อะไรได้ อะไรไม่ได้ เสร็จแล้วก็บวชเป็นพระได้ พุทธกาลเป็นอย่างนั้น เราก็พยายามทำตรงนั้นให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี จะไม่เอาพิธีกรรมที่มันเกิดขึ้นในสมัยหลังๆ เข้ามาปะปนมากนัก
การแห่นาค ทำขวัญ หรืออะไรที่มันทำให้เสียเวลาเยิ่นเย้อ ค่าใช้จ่ายเยอะ เราก็ตัดออกไป โปรยทานครั้งก่อนก็ไม่มี เพราะโปรยทานฝึกให้คนแย่งกันมากกว่า ถ้าอยากจะทำมาก ก็ให้เด็กเข้าคิวกันมาแล้วก็แจก ดีกว่ามาโปรยให้คนแย่งกันไม่สวยงาม ห้ามการโปรยทาน แต่ไม่ห้ามการแจกทาน อะไรที่มันแบบดูดีก็ทำ แล้วก็ต้องถูกต้องตามธรรมวินัยทุกประการ"
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้ทราบที่มาที่ไปและขั้นตอนของการบรรพชาอุปสมบทในพระไตรปิฎก ตลอดจนเรื่องราวการบวชหมู่ที่วัดชลประทานฯ กันแล้วนะครับ
ครั้งหน้าผู้เขียนจะนำเสนอเนื้อหาต่อครับ เพราะ “ธรรมาภิวัตน์” ได้สนทนากับชายหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตก่อนบวชที่โลดโผนมาก ทว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ชีวิตของผู้ที่มานุ่งห่มสีขาวทั้งชุด หรือ “นาค” ก่อนจะปลงผมและนุ่งจีวร จนกระทั่งชีวิตหลังลาสิกขาของ “ชายชื่อธรรมดา” จะเป็นอย่างไร พุทธศาสนาจะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้หรือไม่ โปรดติดตามในธรรมลีลาฉบับหน้านะครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEW 1)