สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
• สมุทัยยึดไตรทวารให้ทุจริต
ฝ่ายสมุทัยกับพรรคพวก เมื่อเห็นเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นก็มีความตกใจ เกรงว่าตนจะสิ้นอำนาจครองใจชาวจิตตนคร เห็นว่าจำจะต้องกำจัดศีลและหิริโอตตัปปะออกไปให้พ้นทาง มิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับนครสามี โอกาสที่จะกำจัดได้ก็คือ เมื่อคู่บารมีถอยห่างออกไปจากนครสามี เพราะในโอกาสที่คู่บารมีอยู่กับนครสามี สมุทัยก็ต้องถอยห่างออกไป
เมื่อโอกาสดังกล่าวมาถึง สมุทัยก็เข้าหานครสามีทันที และกล่าวฟ้องว่าศีลและหิริโอตตัปปะได้มาทำให้จิตตนครเสื่อมโทรม ทรัพยากรลดถอย ความเจริญทางด้านต่างๆ ชะงักงัน บ้านเมืองเงียบเหงา หมดความสุขสนุกสนาน ประชาชนชาวจิตตนครต่างหมดอิสรเสรีภาพ ต้องถูกควบคุมอยู่ทุกประตู จะทำอะไรก็ขัดข้องทั้งนั้น ทุกคนพากันอยู่เหมือนอย่างถูกจำกัดบริเวณอันคับแคบ หมดความสุขสนุกสนานไปตามกัน และพากันร้องทุกข์ขอให้เลิกใช้ศีลและหิริโอตตัปปะเสีย
สมุทัยได้ชี้แจงต่อไปว่า เพราะศีลนั่นเทียวทำให้ต้องเว้นสิ่งนั้นสิ่งนี้ จึงทำให้เสียโอกาสที่จะรํ่ารวย การงานหลายอย่างก็ทำไม่ได้ ทั้งการงานที่ทำอยู่แล้วหลายอย่างก็ต้องหยุดเลิก หิริโอตตัปปะก็ทำให้เป็นคนมักรังเกียจ มักกลัว ดูอะไรๆ เป็นบาปน่ารังเกียจน่ากลัวไปหมด
นครสามีเมื่ออยู่กับสมุทัย ฟังคำของสมุทัย ก็ชักเอนเอียงไปตามสมุทัย ใจหนึ่งคิดจะสั่งพักหน้าที่ศีลและหิริโอตตัปปะเสียทั้งหมด อีกใจหนึ่งก็ยังเกรงใจคู่บารมีผู้แนะนำ
ครั้นสมุทัยเห็นนครสามีเกิดความลังเล รู้ว่าชักจะเอนเอียงมาทางฝ่ายตนแล้ว จึงเพิ่มเติมอารมณ์แก่นครสามีให้มากขึ้น ปรากฏเหมือนอย่างภาพยนตร์ ชักชวนให้ยินดีพอใจอยากได้ในอารมณ์บางอย่าง ให้ขัดใจไม่ชอบในอารมณ์บางอย่าง ให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลในอารมณ์บางอย่าง ซึ่งหัวโจกทั้งสาม คือ โลโภ โทโส โมโห ได้โอกาสก็เข้าแทรกผสม
สมุทัยได้โปรยอารมณ์ให้ฟุ้งเป็นอย่างพายุฝุ่นไปตลบทั้งเมือง ชาวจิตตนครก็พากันติดอารมณ์ เพราะพากันได้เห็นได้ยินเป็นเรื่องเป็นราวอย่างภาพยนตร์ หัวโจกทั้งสามก็เข้าแทรกผสมทั้งเมือง มิใช่แต่เท่านี้ แม้ตัณหา ๑๐๘ กิเลส ๑,๕๐๐ ก็พากันได้โอกาสตื่นตัวเข้าแทรกผสม วุ่นวายไป
ถึงตอนนี้ ศีลและหิริโอตตัปปะก็ถูกสั่งพักหน้าที่ สมุทัยกับพรรคพวกก็เข้ายึดไตรทวารของจิตตนคร ส่งลูกมือคือ กายทุจริตให้ดำเนินการทางกายทวาร ส่งวจีทุจริตให้ดำเนินการทางวจีทวาร ส่งมโนทุจริตให้ดำเนินการทางมโนทวาร จิตตนครจึงเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆเช่นเดียวกัน หรือน่าจะยิ่งกว่าในบ้านเมืองที่เรียกว่าเจริญๆในโลกปัจจุบัน
สุรา พาชี นารี บุรุษ กีฬาบัตร มีทั่วไป ผู้คนรํ่ารวยเร็ว ยากจนเร็ว เพราะไม่ต้องคอยงดเว้นอะไร สุดแต่อารมณ์พาไป และสุดแต่โอกาสอำนวย ศีลและหริโอตตัปปะกลายเป็นสิ่งที่หายาก ถ้าใครจะพูดถึงก็ไม่เป็นที่สนใจ หรือเป็นที่หัวเราะเยาะ หรือซํ้าร้ายถูกหมิ่นแคลน สมุทัยจึงกลับมีอำนาจครองใจชาวจิตตนครได้อีก โดยใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการผูกคล้องใจคน เป็นเหตุให้ศีลและหิริโอตตัปปะต้องหลีกถอยไปไกล
ความจริงก็เป็นเช่นนั้น ในใจของบุคคลทุกคน เมื่อมีความชั่วครองอยู่ ความดีก็จะไม่มี หรือเมื่อมีความดีครองอยู่ ความชั่วก็จะไม่มี การบริหารจิตคือการพยายามจะทำให้ใจมีความดีครอง ให้ความชั่วไม่มี ทั้งนี้ ผลย่อมเป็นไปตามควรแก่การปฏิบัติของแต่ละคน
• ศีลและหิริโอตตัปปะ กลับเข้ารับหน้าที่ และเพิ่มกำลัง
เมื่อสมุทัยกลับมีอำนาจครองใจชาวจิตตนคร ส่งทุจริตทั้ง ๓ ยึดไตรทวารของจิตตนคร ตลอดถึงส่งกิเลสตัณหาทั้งปวงมีจำนวนมากมาย ออกคุมทวารแห่งการสื่อสารของจิตตนครทั้งชั้นนอกชั้นใน แทรกอารมณ์เข้าไปทางระบบสื่อสารทั้งหลาย ยั่วยวนใจชาวจิตตนครให้เกิดความติดความเพลิดเพลินยินดี พากันลืมศีลและหิริโอตตัปปะ
แต่ต่อมาไม่ช้า เหตุพิบัติภัยต่างๆก็เกิดขึ้น เช่นดินฟ้าอากาศผันผวนผิดปกติ ประทุษกรรมทวีมากขึ้น คนร้ายมีขึ้นทั่วๆไป อาชีพของคนชั้นกรรมาชีพทั่วๆ ไปลำบาก ขัดข้องมากขึ้น เกิดความยากจนขัดสนขึ้นในชนชั้นที่เป็นกระดูกสันหลังของจิตตนครทั่วไป
เมื่อเหตุพิบัติทั้งหลายปรากฏชัดขึ้น ชาวจิตตนครก็กลับระลึกถึงศีลและหิริโอตตัปปะขึ้นอีก เป็นเหตุให้สมุทัยเกิดความหวั่นไหว เกรงจะถูกพิสูจน์ตามสัจจะคือความจริง จึงรีบถอยออกไปให้พ้นหน้า หลบซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนว่องไว
คู่บารมีก็ได้เข้าหานครสามี ต่อว่าในเรื่องที่พักหน้าที่ศีลและหิริโอตตัปปะทั้งหมด จึงเกิดเหตุพิบัติต่างๆปรากฏอยู่ทั่วไป จนจิตตนครจะเกิดเป็นไฟอยู่แล้ว ความเจริญทางวัตถุต่างๆ หาทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงไม่ เพราะอบายมุขและทุจริตต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปล้วนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
และที่ว่าจิตตนครรํ่ารวยขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น อยู่ดีกินดีขึ้น ถ้าดีขึ้นในส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ยากจนลง ก็ชื่อว่าขัดสนนั่นเอง
นครสามีเมื่อเผชิญหน้ากับคู่บารมี ก็มองเห็นความจริงตามที่คู่บารมีกล่าว และเรียกร้องให้ศีลและหิริโอตตัปปะ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งได้โปรดประทานศีลและหิริโอตตัปะมา
ฝ่ายคู่บารมีรู้สึกว่า ลำพังศีลกับหิริโอตตัปปะมีกำลังไม่เพียงพอ ที่จะต่อสู้สมุทัยและพรรคพวก จำจะต้องเพิ่มกำลังเข้ามาอีก จึงเสนอนครสามีขอให้เรียกเข้ามาประจำการช่วยเหลืออีก ๓ คือ
๑. อินทรียสังวร
๒. สติสัมปชัญญะ
๓. สันโดษ
นครสามีถามว่า ทั้งสามนี้สามารถอย่างไร จะทำหน้าที่อย่างไร ตอบว่า
อินทรียสังวร มีความสามารถในทางระวังรักษาทางสื่อสารแห่งจิตตนครทั้งชั้นนอกชั้นใน มิให้คนร้ายหรือข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั้งปวงเข้ามา จึงควรมอบหน้าที่ให้รักษาทางสื่อสารตามที่ถนัด
สติสัมปชัญญะ มีความสามารถในทางอยู่ยาม เฝ้าอิริยาบถทุกแห่งของจิตตนคร จึงควรมอบหน้าที่ให้เฝ้าอิริยาบถทุกแห่งตามที่จัดเจน
ส่วนสันโดษ มีความสามารถในทางจัดปันส่วนทรัพย์สินเงินทอง ที่ดิน เรือกสวนไร่นา บ้านเรือนเครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับเกิดความพอใจตามส่วนของตน จึงควรมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ปันส่วนให้เกิดความพอใจในส่วนของตนๆ
นครสามีได้ตกลงรับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในจิตตนครทุกคนตามที่คู่บารมีแนะนำ ศีลกับเพื่อนวินัยก็เข้าประจำรักษาไตรทวารของจิตตนคร ฝ่ายหิริโอตตัปปะก็เข้าประจำหน้าที่เป็น “นครบาล” ของจิตตนคร อินทรียสังวรก็เข้ารักษาระบบสื่อสารทั้งชั้นนอกชั้นใน สติสัมปชัญญะก็เข้ารักษาอิริยาบถของจิตตนครทุกแห่ง และสันโดษก็เข้าเป็นผู้จัดปันส่วนสิ่งต่างๆ โดยสุจริตยุติธรรมแก่ทุกๆคน
เมื่อบุคคลของคู่บารมีเข้าปฏิบัติหน้าที่ในจิตตนคร เหตุพิบัติต่างๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลงโดยลำดับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)