xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมยันอนุมัติสิทธิ “ไตวาย” ไม่นาน รักษาได้ 514 รพ.ไม่จำกัดใช้ยา แต่เกินวงเงินต้องจ่ายเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประกันสังคมเปิดโต๊ะแถลงยันอนุมัติสิทธิรักษาไตเรื้อรังไม่ถึง 3 เดือน ชี้ อาการเข้าเกณฑ์ สปส. จังหวัด อนุมัติได้ใน 40 นาที มี รพ. คู่สัญญาฟอกเลือด 514 แห่ง รักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องสำรองจ่าย แจงเบิกค่าน้ำยาล้างไตได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ไม่ใช่ตามจำนวนถุง ไม่จำกัดแพทย์เลือกใช้ยารักษาผู้ป่วยแบบบัตรทอง แต่ใช้ยาราคาแพงต้องจ่ายส่วนต่างเอง

วันนี้ (16 ก.ค.) พ.ต.ต.หญิง รมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และโฆษก สปส. กล่าวถึงกรณีข่าวการรักษาโรคไตวายเรื้อรังสิทธิประกันสังคมใช้เวลาพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายนานกว่า 3 เดือน ทำให้ผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อน และน้ำยาล้างไตเบิกได้เพียง 3 ถุงต่อวัน ทั้งที่ต้องใช้ปริมาณ 4 ถุงต่อวัน ว่า เรื่องดังกล่าวข้อมูลคลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ การรักษาโรคไตวายเรื้องรังของผู้ป่วยประกันสังคมสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามภาวะผู้ป่วยและตามการพิจารณาของแพทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือดล้างไต การล้างไตทางช่องท้อง หรือ การปลูกถ่ายเปลี่ยนไต สำหรับการอนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตยืนยันว่าไม่ล่าช้า เพราะคณะกรรมการการแพทย์ สปส. ได้มอบหมายให้ สปส. จังหวัดทั่วประเทศ มีอำนาจอนุมัติสิทธิฯ โดยผู้ประกันตนต้องยื่นใบวินิจฉัยจากแพทย์ ร่วมกับผลการตรวจการทำงานของไต ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สปส.จังหวัดก็สามารถอนุมัติให้รับสิทธิภายใน 40 นาที แต่หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ สปส. จังหวัด ก็จะส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการพิจารณาการบำบัดทดแทนไตพิจารณาต่อ ซึ่งจะมีแพทย์หมุนเวียนประจำทุกวันในการวินิจฉัยว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่

“สปส. มีโรงพยาบาลที่ทำสัญญาเป็นหน่วยบริการฟอกเลือดล้างไต 514 แห่ง ล้างไตทางช่องท้อง 69 แห่ง และปลูกถ่ายอวัยวะ 20 แห่ง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการโรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ที่เป็นคู่สัญญากับ สปส. ไม่จำเป็นต้องไปแค่ รพ. ตามสิทธิของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายแต่อย่างใด แต่หากไม่ได้เข้าโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาก็ต้องจ่ายค่ารักษาเอง สำหรับการปลูกถ่ายไต รพ. คู่สัญญาส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีการทำข้อเสนอให้ผู้ป่วยที่จะต้องปลูกถ่ายไตโอนบัตรรับรองสิทธิการรักษาเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของ รพ. เป็นเวลา 2 ปี เพื่อดูแลต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง” รองเลขาธิการ สปส. กล่าว

พ.ต.ต.หญิง รมยง กล่าวว่า ส่วนกรณีน้ำยาล้างไต สปส. ไม่ได้คิดการเบิกจ่ายเป็นกี่ถุง แต่จะให้เป็นวงเงินเหมาจ่าย 2 หมื่นบาทต่อเดือนต่อคน รวมไปถึงยาฉีดเพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดก็ให้เป็นวงเงินเช่นกันอยู่ที่ 1,525 บาทต่อสัปดาห์ต่อคน ซึ่งการเลือกใช้ยาอยู่ที่การพิจารณาของแพทย์ ไม่ได้มีข้อจำกัดแบบสิทธิบัตรทอง ทำให้หากมีความจำเป็นก็สามารถใช้ยาราคาแพงได้ แต่วงเงินจะได้ไม่เกินที่กำหนด ซึ่งหากเกินผู้ป่วยก็ต้องจ่ายส่วนต่างเอง

นพ.สุพัฒน์ วณิชย์การ คณะอนุกรรมการพิจารณาการบำบัดทดแทนไตฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่อยู่ในสิทธิประกันสังคมขณะนี้มีประมาณ 17,135 คน ส่วนใหญ่ 80% เลือกการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดล้างไต สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสิทธิบำบัดทดแทนไตของ สปส.จังหวัดคือ ค่าระดับไนโตรเจนในเลือด (BUN) มากกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตอลดเวลา ระดับของเสีย (Creatinine) ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา และอัตราการกรองของเสียต้องน้อยกว่า หรือเท่ากับ 6 มิลลิลิตรต่อนาที ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์นี้ก็ได้รับอนุมัติสิทธิทันที แต่หากเกณฑ์ไม่ถึง เช่น อัตราการกรองของเสียอยู่ที่ 6 - 15 มิลลิลิตรต่อนาที สปส. จังหวัดก็จะส่งข้อมูลผลตรวจไตทั้งหมดไปยังคณะอนุฯ เพื่อพิจารณาอาการอย่างอื่นประกอบ เช่น มีอาการน้ำเกินหรือไม่ อาการชักกระตุก หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยก็พิจารณาให้สิทธิเช่นกัน ส่วนการใช้ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดนั้นจะดูตามระดับความเข้มข้นของเลือด ซึ่งในอดีตกำหนดต้องน้อยกว่า 33% จึงจะได้รับยาฉีด แต่ปัจจุบันหากน้อยกว่า 36% ก็สามารถรับยาฉีดได้เลย และหากความเข้มข้นอยู่ที่ 36 - 39% ก็จะฉีดยาแบบเข็มเล็ก

ผู้สื่อข่าวถามถึงวงเงินเหมาจ่ายค่าน้ำยาล้างไต 20,000 บาทต่อเดือนเพียงพอต่อค่าน้ำยาล้างไตปัจจุบันหรือไม่ นพ.สุพัฒน์ กล่าวว่า การกำหนดวงเงินทุกอย่างเป็นไปตามราคากลาง ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือดล้างไต หรือการล้างไตทางช่องท้อง อย่างน้ำยาล้างไตราคาอย่างต่ำอยู่ที่ประมาณ 167 บาทต่อถุง แต่ละเดือนผู้ป่วยใช้ประมาณ 120 ถุง ก็เฉลี่ยอยู่ที่ 20,040 บาทต่อเดือน เพราะหากเปิดให้มีการจ่ายค่ารักษาตามจริงแบบกรมบัญชีกลางก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น