หมอไต รพ.รามาฯ แจงผลรักษาไตวายบัตรทองด้อยกว่า ขรก. เหตุกำหนดล้างไตช่องท้องวิธีแรก แต่ผู้ป่วยเหมาะวิธีรักษาต่างกัน เข้าใจ สปสช. ดูแลคนมาก ต้องกำหนดวิธีมาตรฐาน ยันล้างไตช่องท้องมีคุณภาพ ห่วงกลุ่มคนแก่ตาไม่ดี เสี่ยงติดเชื้อสูง เผยสิทธิประกันสังคมแย่สุด ต้องจ่ายค่ารักษาเอง 2 - 3 หมื่นบาทนานเกือบ 3 เดือน เหตุพิจารณาอนุมัติล่าช้า น้ำยาล้างไตเบิกได้แค่ 3 ถุง ที่เหลือต้องออกเอง
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการจำนวนมาก เพราะสิทธิบัตรทองมีการจำกัดวิธีการรักษา เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ต้องรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก ไม่สามารถร้องขอการฟอกเลือดล้างไตได้ ทำให้ผลการรักษาด้อยกว่าสิทธิข้าราชการ ว่า ข้อเท็จจริงคือ การล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดล้างไต ต่างให้ผลการรักษาดีเท่ากัน คือ ช่วยให้ผู้ป่วยอายุยืนยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การรักษาโรคจึงต่างกันออกไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งสิทธิข้าราชการต้องยอมรับว่าสิทธิการรักษาสูงกว่าบัตรทองแน่นอน เพราะผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามความเห็นของแพทย์และเบิกจ่ายได้ตามจริง โดยผู้ป่วยสามารถตกลงกับแพทย์เลือกวิธีการรักษาได้ ว่าจะใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดล้างไต แต่ผู้ป่วยบัตรทองต้องรักษาด้วยวิธีการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดมาเท่านั้นคือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีแรก แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจ สปสช. ด้วยว่า เพราะต้องดูแลคนจำนวนมากของประเทศ จึงต้องมีการกำหนดกติกาเอาไว้ แต่การรักษาที่วางไว้ก็ถือว่ามีมาตรฐาน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเท่านั้นเอง ซึ่งไม่สามารถเลือกวิธีการรักษาได้ ทำให้ผลการรักษาออกมาดูด่อยกว่าสิทธิข้าราชการ
“ส่วนที่ว่าการล้างไตทางช่องท้องทำให้เกิดโอกาสการติดเชื้อจำนวนมากนั้น มองว่า เพราะผู้ป่วยสิทธิบัตรทองส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุก็จะมีความยากลำบากในการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน เพราะสายตาไม่ดี มือก็ไม่สามารถใช้งานได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว บางคนก็ไม่มีคนดูแล ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสพลาดติดเชื้อสูง ส่วนการฟอกเลือดล้างไตก็มีโอกาสติดเชื้อ เพียงแต่ทำที่สถานพยาบาล มีพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการความเสี่ยง จึงต่ำกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองหากไม่สามารถใช้วิธีล้างไตทางช่องท้องก็สามารถใช้วิธีฟอกเลือดล้างไตได้ เช่น มีการติดเชื้อทางช่องท้องหลายครั้ง จนเยื่อบุช่องท้องเสียไปไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ ก็จะปรับมาเป็นวิธีการฟอกเลือด นั่นคือ เหมือนต้องรอให้เกิดเหตุก่อนจึงสามารถเปลี่ยนวิธีการรักษาได้” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วการรักษาโรคไตวายเรื้อรังใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ พบว่า สิทธิประกันสังคมถือว่ามีข้อเสียมากกว่าสิทธิบัตรทองและข้าราชการ เพราะถึงแม้ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมจะสามารถเลือกวิธีการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการได้ แต่กว่าที่คณะกรรมการทางการแพทย์ของประกันสังคมจะอนุมัติให้สามารถเบิกจ่ายได้ก็ใช้เวลานานถึง 3 เดือน ซึ่งช่วงเวลาว่างตรงนี้ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งตกเดือนละ 2 - 3 หมื่นบาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่สูงมากสำหรับคนวัยทำงาน ซึ่งหากเป็นการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งปกติจะต้องใช้น้ำยาประมาณ 4 ถุง หากคนตัวใหญ่ต้องใช้ประมาณ 5 - 6 ถุงต่อวัน โดยสิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ตามการใช้จริง สิทธิบัตรทองสามารถเบิกได้ 4 ถุง ขณะที่สิทธิประกันสังคมสามารถเบิกได้เพียง 3 ถุงเท่านั้น อีก 1 ถุง ที่เหลือผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ตกเฉลี่ยต้องออกเองเดือนละเกือบ 6,000 บาท ทั้งที่สิทธิประกันสังคมเป็นการร่วมจ่ายของผู้ประกันตน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำเป็นต้องฉีดยากระตุ้นเพื่อสร้างเม็ดเลือด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาต่างกัน ทำให้ใช้จำนวนเข็มไม่เท่ากัน โดยสิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ตามการใช้งานจริง สิทธิบัตรทองได้ 2 เข็ม ขณะที่ประกันสังคมได้เพียง 1.5 เข็ม ที่เหลือหากต้องใช้ต้องจ่ายยาเอง
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด คือ การปลูกถ่ายไต ซึ่งทั้ง 3 สิทธิครอบคลุมการรักษาในส่วนนี้เหมือนกัน เพียงแต่การหาไตมาปลูกถ่ายเป็นเรื่องยาก เพราะมีคนบริจาคน้อย โดยเฉพาะจากผู้ป่วยที่สมองตาย ซึ่งญาติมักเข้าใจผิดเพราะสมองตายแต่หัวใจยังเต้นอยู่ ก็คิดว่ายังสามารถยื้อไว้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากสมองตายผู้ป่วยก็สามารถอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจกับญาติให้เซ็นยินยอมบริจาคไต ก็จะช่วยให้ได้ไตมาใช้ในการปลูกถ่าย เนื่องจากหัวใจยังเต้นอยู่จึงยังมีเลือดไปเลี้ยงไต แต่หากรอให้หัวใจหยุดเต้นแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำไตมาใช้ปลูกถ่าย มองว่าประเทศไทยยังต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่