xs
xsm
sm
md
lg

เทียบ 3 สิทธิรักษา “ไตวายเรื้อรัง” บัตรทองแย่จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับแต่มีการเปิดเผยข้อมูลในผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า ผู้ป่วยอายุ 60 ปี ขึ้นไปในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยวัยเดียวกันในสิทธิข้าราชการเป็นจำนวนมาก จนมีการตั้งคำถามถึงคุณภาพการรักษาของสิทธิบัตรทองขึ้นมา เช่น การกำหนดให้ใช้ได้แต่ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น หรือการจำกัดวิธีการรักษา เป็นต้นว่า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ด้อยกว่าสิทธิอื่น และตายมากกว่าสิทธิข้าราชการ

ที่มักถูกยกตัวอย่างคือ การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง โดยสิทธิบัตรทองจะต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีแรก หรือ CAPD-First ทั้งที่ผู้ป่วยบางรายไม่เหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว เพราะยังมีการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือดล้างไต แต่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไม่สามารถเลือกวิธีการรักษาที่แพทย์วินิจฉัยว่าเหมาะสมกับตัวเองได้ ต้องรักษาด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องเท่านั้น

รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ว่า เป็นเพราะสิทธิบัตรทองดูแลคนทั้งประเทศ การรักษาต่าง ๆ ที่มีความครอบคลุมนั้น จึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่รัฐบาลและประเทศจะสามารถให้ได้ อย่างการรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้น สิทธิบัตรทองมีการกำหนดให้ใช้วิธีการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีแรก เพราะว่าเป็นการจัดบริการของรัฐที่สามารถพอทำให้ได้ เมื่อเทียบกับปริมาณคนจำนวนมากของประเทศ

ต้องยอมรับก่อนว่าสิทธิการรักษาต่าง ๆ ของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ ข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทองนั้น พื้นฐานไม่ได้เท่ากัน นั่นคือ สิทธิข้าราชการและญาติสามารถได้รับการรักษาและเบิกจ่ายอย่างเต็มที่จึงสูงกว่าสิทธิอื่นทั่วไป สิทธิประกันสังคมในกลุ่มคนวัยทำงาน ก็ได้รับสิทธิในการรักษาระดับหนึ่ง ส่วนบัตรทองที่ดูแลคนเกือบทั้งประเทศ ก็เป็นในลักษณะของความเกื้อกูล การรักษามีความครอบคลุม แต่อยู่ในพื้นฐานที่รัฐบาลและประเทศจะสามารถจัดให้ได้ ซึ่งการล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีการที่รัฐสามารถจัดการให้ได้

แล้วการฟอกเลือดล้างไตไม่เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอย่างไร รศ.นพ.ทวี อธิบายว่า หากดูในเรื่องงบประมาณนั้น การรักษาด้วยวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกเลือดล้างไตไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ที่ไม่สามารถทำในระดับจำนวนคนมาก ๆ ของสิทธิบัตรทองได้ เพราะการฟอกเลือดล้างไตต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ การมาฟอกเลือดล้างไตต้องทำวันละประมาณ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละประมาณ 3 วัน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรองรับตรงนี้ไม่เพียงพอ แต่การล้างไตทางช่องท้องผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ โดยการต่อสายล้างไตทางช่องท้องแล้วเปลี่ยนน้ำยาล้างไตด้วยตนเอง ประมาณ 4 ครั้งต่อวัน ตรงนี้ก้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยที่ต้องไปฟอกเลือดในโรงพยาบาลได้

การล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดล้างไตเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อประวิงเวลาภาวะไตวายออกไป โดยยืนยันว่าการรักษาของทั้ง 2 วิธีนั้น มีคุณภาพและให้ผลเหมือนกัน คือ ดีเท่ากัน ไม่ได้มีอะไรแย่ไปกว่ากันเลย ส่วนที่ว่าการล้างไตทางช่องท้องทำให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมากนั้น จริง ๆ แล้ว ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกเลือดล้างไตก็ล้วนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งการฟอกเลือดล้างไตหากติดเชื้อขึ้นมาอันตรายกว่าการล้างไตผ่านช่องท้องเสียอีก เพราะการล้างไตผ่านช่องท้องการติดเชื้อก็อยู่ที่บริเวณช่องท้อง การรักษาจะง่ายกว่าการติดเชื้อทางกระแสเลือดของการฟอกเลือดล้างไต

รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า แม้สิทธิบัตรทองจะต้องล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีแรกในการรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียว หากเทียบทั้ง 3 สิทธิกองทุนสุขภาพจะพบว่า สิทธิข้าราชการและประกันสังคม ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถตกลงกับแพทย์และเลือกได้ว่าจะใช้วิธีใดในการรักษา แต่สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกำหนดให้ใช้วิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่หากไม่สามารถใช้ได้ เช่น ไม่สามารถใส่สายทางช่องท้องได้ หรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้เลย ก็สามารถใช้การฟอกเลือดล้างไตแทนได้ แต่หากผู้ป่วยจะร้องขอให้ใช้วิธีฟอกเลือดล้างไตนั้นไม่สามารถทำได้ สำหรับการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุดนั้น คือ การปลูกถ่ายไต แต่จะต้องรอการบริจาคไต ซึ่งวิธีการนี้ทั้ง 3 สิทธิกองทุนสุขภาพล้วนรองรับทั้งหมด

สิทธิบัตรทองดูแล้วอาจจะด้อยกว่าสิทธิข้าราชการและประกันสังคม เพราะผู้ป่วยเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองไม่ได้ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่มีประชากรกว่า 49 ล้านคน ก็ต้องมีการกำหนดกติกาพอสมควร แต่ที่ต้องพิจารณาคือ กติกาที่กำหนดวิธีการรักษานั้น มีคุณภาพหรือไม่!!

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น